นักเศรษฐศาสตร์เตือน ชาวออสเตรเลียนับแสนเสี่ยงต่อภาวะยากจนหลังจ๊อบซีกเกอร์ตัดเงินช่วยเหลือโควิด

นักเศรษฐศาสตร์เตือนถึงผลกระทบต่อประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเงินสวัสดิการจ๊อบซีกเกอร์ครั้งนี้

New modelling has warned about the impact of changes to the JobSeeker payment.

Meanwhile the number of people seeking assistance from the Salvation Army increased six-fold between November 2020 and January this year. Source: AAP

แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ประชาชนราว 155,000 คนในออสเตรเลียกำลังเผชิญภาวะความยากจน หลังจากโครงการเงินสวัสดิการผู้ว่างงานจ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker) ยุติให้เงินช่วยเหลือจากผลของไวรัสโคโรนา (coronavirus supplement)

อัตราเงินสวัสดิการสำหรับชาวออสเตรเลียที่ว่างงานปรับลดลงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป เนื่องจากสิ้นสุดระยะอนุมัติเงินช่วยเหลือจากผลของไวรัสโคโรนา ซึ่งคิดเป็นเงิน 150 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์

ขณะเดียวกัน รัฐบาลปรับอัตราฐานถาวรของเงินจ๊อบซีกเกอร์ เพิ่มขึ้นอีก 50 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ หมายความว่า ผู้รับเงินสวัสดิการประเภทดังกล่าวจะได้รับเงินลดลง 100 ดอลลาร์

แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ที่เผยแพร่โดยสถาบัน The Australia Institute พยากรณ์ว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลให้ผู้คนกว่า 155,000 คน รวมถึงเด็ก 18,000 คน เข้าสู่ภาวะยากจน

“มาตรการนโยบายนี้แสดงให้เห็นว่า การจะปล่อยให้ชาวออสเตรเลียดำรงชีวิตอยู่กับความยากจนหรือไม่นั้นเป็นการตัดสินใจของรัฐบาล” นายแมตต์ กรัดนอฟฟ์ (Matt Grudnoff) นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน The Australia Institute กล่าว
เงินช่วยเหลือจากผลของไวรัสโคโรนาที่เพิ่มเติมไว้ในเงินสวัสดิการจ๊อบซีกเกอร์ทยอยปรับลดลงนับตั้งแต่มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบเมื่อเดือนเมษายน 2020 โดยลดเหลือ 250 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์เมื่อเดือนกันยายน และ 150 ดอลลาร์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน The Australia Institute อ้างว่า ปัจจุบันมีประชาชนอยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้น 580,000 คน เทียบกับก่อนเกิดโรคระบาด

“รัฐบาลมีทางเลือก รัฐบาลสามารถตัดสินใจส่งชาวออสเตรเลียนับล้านสู่ภาวะยากจน รวมถึงเด็กนับแสนคน” นายกรัดนอฟฟ์กล่าว

“หรือรัฐบาลอาจตัดสินใจแบบเดียวกับปีที่แล้ว โดยแสดงให้เห็นว่าออสเตรเลียเป็นประเทศแห่งความเห็นอกเห็นใจ และละเว้นผู้คนเหล่านั้นจากชะตากรรมที่ว่า”

แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์นี้ใช้หลักการเส้นความยากจนของเฮนเดอร์สัน (Henderson Poverty Line) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประมาณการว่า บุคคลที่ไม่มีครอบครัวจะตกอยู่ในภาวะยากจน หากมีเงินดำรงชีพน้อยกว่า 561 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
ภายใต้โครงการเงินสวัสดิการจ๊อบซีกเกอร์อัตราปัจจุบัน ผู้ที่ไม่มีครอบครัวจะได้รับเงิน 620.80 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป

นางแอน รัสตัน (Anne Ruston) รัฐมนตรีด้านบริการสังคม ไม่เห็นด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงอัตราเงินจ๊อบซีกเกอร์จะทำให้ผู้คนมากจำนวนขึ้นถูกผลักลงไปอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน

“เราต้องระวังให้มากเวลาตัดสินอะไรก็ตามเกี่ยวกับความยากจน” นางรัสตันกล่าวต่อสถานีวิทยุเอบีซีเมื่อต้นสัปดาห์

นางรัสตันระบุว่า มีความช่วยเหลือจากรัฐบาลอีกหลายรูปแบบนอกเหนือจากจ๊อบซีกเกอร์

“เราไม่ต้องการให้คนอาศัยสวัสดิการผู้ว่างงาน” นางรัสตันกล่าว

“สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ นี่จะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่นำทางโดยธุรกิจ”

รองศาสตราจารย์เบน ฟิลลิปส์ (Ben Phillips) จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University: ANU) กล่าวว่า แม้ในออสเตรเลียจะไม่มีเส้นความยากจนที่ตกลงร่วมกัน แต่หลักฐานยังคงชี้ว่า เงินสวัสดิการจ๊อบซีกเกอร์ไม่เพียงพอข้ามเส้นเหล่านี้

“ยังมีเส้นค่อนข้างชัดเจนในแง่ที่ว่าใครมีเงินพออยู่รอดได้ และใครไม่มี” รองศาสตราจารย์ฟิลลิปส์กล่าว

“ลองพิจารณามาตรการพวกนั้น... ค่อนข้างชัดเจนว่าจำนวนเท่านั้นไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตแบบที่คนส่วนใหญ่เรียกว่ามีความมั่นคงทางการเงินหรือมีมาตรฐานการดำรงชีพในระดับที่ยอมรับได้”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 1 April 2021 4:45pm
By Tom Stayner
Presented by Phantida Sakulratanacharoen


Share this with family and friends