ลูกจ้างดูแลผู้สูงอายุได้สิทธิลาป่วยหากมีอาการโควิด

คณะกรรมาธิการ แฟร์ เวิร์ก มีคำตัดสินว่า ลูกจ้างสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่ต้องลาป่วยเนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนา ควรได้รับสิทธิลาป่วยเพราะการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสนี้

Medical staff are seen outside the St Basil's Home for the Aged.

Aged care workers will now receive paid pandemic leave. (AAP) Source: AAP

ลูกจ้างแคชวล ที่ทำงานดูแลผู้สูงอายุ จะมีสิทธิลาป่วยเพราะการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา (pandemic leave) โดยยังคงได้รับค่าจ้าง หลังคณะกรรมาธิการ แฟร์ เวิร์ก (Fair Work คณะกรรมาธิการเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม) มีคำตัดสินเรื่องนี้ เพื่อพยายามป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพุธ (29 ก.ค.) เป็นต้นไป และจะมีผลต่อไปเป็นเวลา 3 เดือน คณะกรรมาธิการระบุในคำตัดสินเรื่องนี้ที่เผยแพร่ออกมาในคืนวันจันทร์ (27 ก.ค.)

การเสียชีวิตในรัฐวิกตอเรียเมื่อเร็วๆ นี้ จากการระบาดระลอกสองของเชื้อโควิด-19 นั้น มีความเชื่อมโยงกับการปะทุขึ้นของเชื้อนี้ในสถานดูแลผู้สูงอายุหลายแห่ง ซึ่งส่งผลให้คณะกรรมาธิการ แฟร์ เวิร์ก เร่งดำเนินการในเรื่องนี้
Medical staff are seen preparing to transport people from the St Basils Home for the Aged Care in Fawkner, Victoria.
Medical staff are seen preparing to transport people from the St Basils Home for the Aged Care in Fawkner, Victoria. Source: AAP
“มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่ลูกจ้าง ซึ่งไม่มีสิทธิลาป่วย อาจไม่แจ้งถึงอาการของเชื้อโควิด-19 เพราะมันอาจส่งผลให้พวกเขาต้องกักตัว ดังนั้นจึงพยายามที่จะไปทำงานเพราะความจำเป็นทางการเงิน” คำตัดสินของแฟร์ เวิร์ก ระบุ

“นี่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างสูงต่อมาตรการควบคุมการติดเชื้อ”

“ปัจจัยเหล่านี้มีน้ำหนักอย่างยิ่งที่ทำให้เราเห็นชอบจะให้มีสิทธิลาป่วยเพราะการระบาดใหญ่ของเชื้อโรค (pandemic leave) โดยได้รับค่าจ้าง”

ก่อนหน้านี้ มุขมนตรีแดเนียล แอนดรูส์ ของรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่า ผู้คนที่ยังคงไปทำงานแม้จะป่วย รวมทั้งผู้ที่ทำงานในสถานดูแลผู้สูงอายุ “เป็นตัวการสำคัญที่สุด” ที่ทำให้เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกสองในรัฐวิกตอเรีย

แต่สหภาพแรงงานต่างกล่าวว่า ผู้คนเหล่านั้นจำนวนมากไม่สามารถหยุดงานได้ เพราะความจำเป็นทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รัฐบาลรัฐวิกตอเรีย มีมาตรการจ่ายเงิน 300 ดอลลาร์ให้แก่ลูกจ้างที่ไม่สามารถไปทำงานได้ เพราะต้องกักตัวหลังไปรับการตรวจเชื้อโควิด-19 และรอผลการตรวจอยู่

นอกจากนี้ ยังมีเงินตอบแทนความยากลำบากอีก 1,500 ดอลลาร์ สำหรับผู้ที่มีผลการตรวจเป็นบวก หรือถูกระบุว่าเป็นผู้พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งทำให้ต้องกักโรค

คณะกรรมาธิการแฟร์ เวิร์ก กล่าวว่า สิทธิลาป่วยเพราะการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา (pandemic leave) โดยยังคงได้รับค่าจ้าง จะครอบคลุมถึง:

  • ลูกจ้างที่ถูกบังคับจากนายจ้าง หรือจากองค์การด้านการแพทย์ของรัฐบาล หรือจากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่การแพทย์ ให้ต้องกักตัว เพราะพวกเขามีอาการของเชื้อโควิด-19 หรือได้พบปะใกล้ชิดกับผู้ที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ
  • เป็นการลาป่วยโดยได้รับค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ สำหรับการกักตัวแต่ละครั้ง
  • ไม่จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่สามารถทำงานที่บ้านได้ หรือทำงานทางไกลได้ ระหว่างการกักตัว
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตมหานครของเมลเบิร์นต้องปฏิบัติตามคำสั่ง “ให้อยู่บ้าน” และสามารถออกจากเคหสถานได้เฉพาะเมื่อออกไปทำงานหรือไปเรียน ไปออกกำลังกาย ไปทำหน้าที่ให้การดูแล และไปซื้ออาหารหรือสิ่งของจำเป็นเท่านั้น ยังมีคำแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะด้วย

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
 


Share
Published 28 July 2020 10:41am
By SBS News
Presented by Parisuth Sodsai
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends