ทำไมบางคนจึงต่อต้านการสวมหน้ากากอนามัย

ขณะที่หลายพื้นที่ทั่วออสเตรเลียได้ขอความร่วมมือประชาชนให้สวมหน้ากากอนามัย รวมถึงมีการออกมาตรการบังคับใส่ในบางพื้นที่ แต่ยังมีผู้คนบางส่วนที่ต่อต้านแนวคิดดังกล่าว เอสบีเอส นิวส์ พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อไขข้อสงสัย

Face masks will become mandatory in Melbourne on Thursday.

Face masks will become mandatory in Melbourne on Thursday. Source: AAP

วันนี้ (23 ก.ค.) มาตรการบังคับสวมใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ ได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เวลา 23:59 น. ของเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา (22 ก.ค.) ในพื้นที่มหานครเมลเบิร์น และพื้นที่ปกครองส่วนท้องถิ่นมิตเชลล์ ไชร์ ขณะที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้

แต่สำหรับบางคน อย่าง ซิกกี อัลเบิร์ตส์ (Ziggy Alberts) นักดนตรีชาวออสเตรเลีย ได้วิพากษ์วิจารณ์มาตรการสวมหน้ากากอนามัยภาคบังคับ โดยระบุว่าเป็นการคุกคามสิทธิส่วนบุคคล

ส่วนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่ไม่เห็นด้วยกับการสวมใส่หน้ากากอนามัยบางคน ได้แชร์ทฤษฎีสมคบคิดที่ว่า หน้ากากอนามัยจะทำให้เกิดการเป็นพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการควบคุมความคิดของประชาชนจากรัฐบาล

ดร. แคลร์ ฮุกเกอร์ (Dr Claire Hooker) จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า มีผู้คนบางส่วนที่อาจไม่เห็นประโยชน์ทางสุขภาพของการสวมหน้ากากอนามัยอย่างชัดเจน จากการส่งสารด้านสุขภาพที่เปลี่ยนแปลง และความเข้าใจต่อไวรัสนี้ของประชาชนที่พัฒนาขึ้น

เธอกล่าวเสริมว่า ผู้คนบางส่วนที่อาจต่อต้านการสวมหน้ากากอนามัย มองว่าเป็นช่องทางในการใช้อำนาจเพื่อบังคับควบคุม

ประเด็นนี้ได้แบ่งผู้คนออกเป็นหลายฝ่าย มีผู้คนจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจ เมื่อพบเห็นผู้คนเพิกเฉยต่อคำแนะนำด้านสาธารณสุขในการสวมใส่หน้ากากอนามัย

“สำหรับบางคน การสวมใส่หน้ากากอนามัย ทำให้พวกเขารู้สึกว่าสถานการณ์กลับมาอยู่ในการควบคุม และบ่อยครั้งที่ผู้คนกลุ่มนี้จะรู้สึกโกรธเคือง เมื่อพบเห็นใครก็ตามที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย” ดร.ฮุกเกอร์กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์​

“มันจะเป็นเรื่องที่ฝืนความเข้าใจของพวกเขา เมื่อรู้ว่าสำหรับบางคน การไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย เท่ากับว่าทุกสิ่งทุกอย่างกลับมาอยู่ในการควบคุม ทั้งการมีชีวิตเป็นของตัวเอง และการเลือกที่จะทำสิ่งต่าง ๆ”

ดร.ฮุกเกอร์ กล่าวอีกว่า การพูดคุยเรื่องของหน้ากากอนามัยในออสเตรเลียนั้นเป็นเรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ออสเตรเลียได้ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดโดยไม่ต้องใช้หน้ากากอนามัย

“บางประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประวัติที่ยาวนานในการสวมหน้ากากอนามัยทุกฤดูหนาว หรือทุกครั้งที่คุณเป็นหวัด ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ยังคงพูดคุยเรื่องนี้ในความเกี่ยวโยงกับไวรัสโคโรนาอย่างยาวนาน เพราะพวกเขารู้สึกว่ามันมีความจำเป็นมาตั้งแต่แรก” ดร. ฮุกเกอร์กล่าว
People wearing face masks are seen during a lockdown in Melbourne.
People wearing face masks are seen during a lockdown in Melbourne. Source: AAP
ขณะที่รัฐวิกตอเรีย ได้ปรับเปลี่ยนคำแนะนำเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย จากข้อมูลและงานวิจัยต่าง ๆ ในต่างประเทศที่มากขึ้น มาเป็นหลักฐานสนับสนุน 

“มีบทเรียนจากนานาประเทศที่เพิ่มมากขึ้นว่า พื้นที่เขตปกครองต่าง ๆ ที่รับมือกับสถานการณ์ไวรัสได้ดีนั้น มีการประกาศใช้มาตรการสวมหน้ากากอนามัยภาคบังคับ” ศาสตราจารย์เบรตต์ ซัตทัน ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัฐวิกตอเรียกล่าว 

“และสำหรับพื้นที่ซึ่งไม่ได้ประกาศใช้มาตรการดังกล่าว ก็เป็นพื้นที่ซึ่งกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความเลวร้ายอยู่ในขณะนี้”

แม้แต่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ ฯ ที่ก่อนหน้านี้ต่อต้านการสวมใส่หน้ากากอนามัยก็ได้เปลี่ยนท่าที และขอความร่วมมือให้ประชาชนสวมใส่ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความรักชาติ

ดร. เฟรเซอร์ ทัลล์ (Dr. Fraser Tull) จากมหาวิทยาลัยโมแนช กล่าวว่า มันอาจใช้เวลาสักระยะ ในการทำให้พฤติกรรมใหม่นี้กลายเป็นความเคยชิน

“มันจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3  เดือน ในการทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนเป็นความเคยชินในแบบที่ว่าไม่ต้องคิดถึงข้อดีข้อเสียอะไร พวกเขาเพียงสวมใส่จนเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน” ดร. ทัลล์ กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์ 

“ผมคิดว่าในระยะแรกตอนนี้ คาดว่าพฤติกรรมนี้มีความเป็นไปได้มากที่ผู้คนจะปฏิบัติตาม มากกว่าพฤติกรรมอื่น ๆ เช่น การไปตรวจหาเชื้อ มันเป็นที่พบเห็นได้ทั่วไปในที่สาธารณะ คุณไปที่ไหนคุณก็พบเจอ”
Masks will become mandatory in Melbourne as of Thursday.
Masks will become mandatory in Melbourne as of Thursday. Source: AAP
แม้ความกังวลว่าจะถูกปรับเป็นเงิน $200 ดอลลาร์โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหากไม่สวมหน้ากากนั้น เป็นแรงจูงใจที่ทำให้คนปฏิบัติตาม ดร. ทัลล์ กล่าวว่า มาตรการนี้จะได้ผลมากขึ้นผ่านแรงกดดันทางสังคม

“มันมีผลที่ตามมาโดยทันที หากคุณออกไปในที่สาธารณะและผู้คนส่วนมากสวมใส่หน้ากาก แต่คุณไม่ได้ใส่ มันชัดเจนอยู่แล้ว และคุณก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากสังคมได้” ดร. ทัลล์​กล่าว

นายรอน บอร์แลนด์ (Ron Borland) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น กล่าวว่า การสวมใส่หน้ากากทำให้การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากการแสดงสีหน้าเป็นส่วนสำคัญในการสื่อสารของมนุษย์ 

“เรามีความต้องการทางสังคมในระดับสูงที่จะเห็นหน้าผู้อื่น มันคือการมองเห็นและรับรู้ความรู้สึกของผู้คน และมันเป็นส่วนสำคัญในการพบปะทางสังคมของเรา” ศาสตราจารย์บอร์แลนด์กล่าว

“การสวมใส่หน้ากากเป็นเหมือนกับการบอกผู้อื่นว่า ‘ฉันไม่ต้องการเข้าสังคม’ ในกรณีของไวรัสโคโรนานั้น นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการที่จะบอกกับผู้คน”

ศาสตราจารย์บอร์แลนด์ยังกล่าวอีกว่า ประโยชน์ของการสวมใส่หน้ากากอนามัยนั้นมีมากกว่าเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ในการลดการแพร่กระจายของละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสโคโรนา

“การสวมใส่หน้ากากจะทำให้ผู้คนคิดถึงระยะห่างระหว่างบุคคล และการเว้นระยะห่างทางสังคม ดังนั้น มันจึงมีประโยชน์อย่างแท้จริงในการสวมใส่หน้ากาก นอกเหนือจากการลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของไวรั สิ่งนี้ยังทำให้ผู้คนคิดว่า พวกเขาควรปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยง” ศาสตราจารย์บอร์แลนด์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์บอร์แลนด์เสริมว่า การทำให้พฤติกรรมกลายเป็นความเคยชินเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และเขาหวังว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐวิกตอเรียจะไม่เรียกค่าปรับจากประประชาชนที่ไม่ได้สวมใส่โดยทันที แต่เริ่มด้วยการใช้วิธีการตักเตือนเป็นอันดับแรก


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 23 July 2020 1:03pm
Updated 23 July 2020 4:18pm
By Jarni Blakkarly
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends