ชาวออสฯ กังวลความมั่นคงทางการเงินจากวิกฤตไวรัส

Income levels have become unstable because of COVID-19.

Income levels have become unstable because of COVID-19. Source: AAP

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

นักวิจัยพบชาวออสเตรเลียกว่า 12 ล้านคน กังวลเรื่องความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน จากผลกระทบของสถานการณ์ไวรัสโคโรนา แม้ตัวแทนสนับสนุนและผู้นำชุมชนต่างต้อนรับมาตรการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ได้มีการเรียกร้องความกระจ่างว่ามาตรการสนับสนุนจะมาถึงเมื่อใด รวมถึงการกำหนดให้มาตรการบางส่วนมีผลถาวร


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ได้สร้างความวุ่นวายให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วออสเตรเลีย มีหลายคนตกงาน ขณะที่อีกหลายคนรายได้ลดลง ผู้คนนับล้านกำลังรู้สึกวิตกกังวลกับอนาคตในหน้าที่การงานของตนเอง

ศูนย์ทำงานด้านผลกระทบทางสังคม (The Centre for Social Impact) ได้เปิดเผยนโยบายใหม่ เพื่อตอบสนองกับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงินของชุมชนชาวออสเตรเลีย โดยพบว่าผู้คนนับล้านกำลังเผชิญกับความทุกข์ทรมานทางการเงินและสภาพจิตใจ และแม้การตอบรับจากรัฐบาลในปัจจุบันจะสามารถปกป้องชาวออสเตรเลียที่ตกอยู่ในความเสี่ยงได้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีอีกหลายด้านที่ยังต้องได้รับการปรับปรุง

คุณแคซแซนดรา โกลดีย์ (Cassandra Goldie) ประธานบริหารสภาสังคมสงเคราะห์ของออสเตรเลีย (ACOSS) กล่าวว่า ชีวิตของผู้คนจำนวนมากกำลังอยู่ในความเสี่ยง และไม่ควรมีใครก็ตามในออสเตรเลียที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

"ผู้คนจำนวนมากได้รับการระบุว่ามีความเสี่ยงทางการเงินในระดับสูง โดยผู้ที่ตกหล่นและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คือผู้คนจำนวนมากที่ถือวีซ่าชั่วคราวซึ่งไม่สามารถเข้าถึงเงินสนับสนุนรายได้ หรือบริการเมดิแคร์ (Medicare) เรื่องราวสะเทือนใจของผู้คนบางส่วนที่ต้องอดมื้อกินมื้อ ถูกทอดทิ้งไว้พร้อมกับความคาดหวังว่าพวกเขาจะรับผิดชอบตัวเองได้" คุณโกลดีย์กล่าว

รัฐบาลจะต้องเข้าใจว่าเราจำเป็นจะต้องจัดให้มีการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐาน เงินสนับสนุนรายได้ และบริการเมดิแคร์ รวมถึงที่พักอาศัยที่มีความมั่นคงสำหรับทุก ๆ คน เราทุกคนรู้ว่าคุณตกอยู่ในความเสี่ยงมากเพียงใด"

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ออสเตรเลียกำลังจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1980 และ 1990 โดยอัตราว่างงานของประเทศนั้นได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในเดือนมีนาคม เป็นร้อยละ 7.1 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

ตัวเลขดังกล่าวนั้นไม่รวมคนทำงานที่ต้องหยุดทำงาน และรับเงินสนับสนุนค่าจ้าง จ๊อบคีปเปอร์ (JobKeeper) แต่ถ้าหากนำมารวมกัน จะทำให้อัตราว่างงานนั้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.5 ในเดือนเมษายน และร้อยละ 8.2 ในเดือนพฤษภาคม

คุณโกลดีย์​กล่าวว่า บริการสังคมสงเคราะห์ได้ต้อนรับโครงการเงินสนับสนุนอย่างจ๊อบคีปเปอร์ (JobKeeper) และจ๊อบซีกเกอร์​ (JobSeeker) แต่ก็ยังคงต้องมีการทำให้มั่นใจและมีความกระจ่างในแง่ของความต่อเนื่อง และจะไม่ถูกยกเลิกไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม

"เราได้ต้อนรับการเพิ่มอัตราจ่ายเงินสนับสนุนผู้หางานจ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker) เป็น 2 เท่า อัตราจ่ายที่ $40 ดอลลาร์ต่อวันนั้นเลวร้ายก่อนที่วิกฤตทั่วโลกจะเกิดขึ้น ผู้คนกว่า 1.6 ล้านคนต่างกังวลว่ารัฐบาลจะลดอัตราเงินสนับสนุนจ๊อบซีกเกอร์​ลงครึ่งหนึ่ง เพื่อให้เหลือเพียง $40 ดอลลาร์ต่อวัน" คุณโกลดีย์กล่าว

"หากเป็นเช่นนั้น มันจะเป็นเรื่องที่เลวร้าย และมันจะเป็นแย่มากสำหรับเราในการส่งต่อสิ่งนั้นไปยังผู้คน 1.6 ล้านคน เราค้องการให้รัฐบาลคงอัตราการเพิ่มจ่ายเงินจ๊อบซีกเกอร์อย่างเพียงพอเป็นการถาวร เพื่อสร้างความมั่นใจที่อย่างน้อยก็สามารถสร้างความสบายใจในระดับหนึ่ง"

รายงานที่จัดทำโดยมหามหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (UNSW) พบว่า จำนวนชั่วโมงงานในทุกอาชีพเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 9.5 จากเดือนมีนาคม และยังไม่ดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเกิดขึ้นมากกว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งที่ผ่านมา ที่จำนวนชั่วโมงงานของทุกอาชีพนั้นลดลงเพียงร้อยละ 6

ดร. เจเรเมียห์ บราวน์ (Dr Jeremiah Brown) กล่าวว่า สิ่งนี้จะส่งผลกระทบมากที่สุดไปยังครัวเรือนที่มีหนี้สินก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมาถึง

"ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด ครัวเรือนในออสเตรเลียประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ มีเงินออมน้อยกว่ารายได้ในครัวเรือน 1 เดือน ดังนั้น เมื่อเกิดผลกระทบอย่างฉับพลันจากการแพร่ระบาด การซึมซับผลกระทบเป็นเวลานานอาจเป็นเรื่องยากสำหรับครัวเรือนที่มีเงินออมในระดับต่ำ และนั่นจะเป็นส่วนที่ทำให้เงินสนับสนุนที่ได้มีการจ่ายให้กับผู้คนจำนวนมากนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ" ดร.บราวน์กล่าว

"สำหรับครัวเรือนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นส่วนมาก การเพิ่มเงินสนับสนุนผู้หางานจ๊อบซีกเกอร์สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติรับเงินช่วยเหลือดังกล่าว เป็นเรื่องสำคัญมาก" 

มีการคาดว่า ระดับความตึงเครียดด้านสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จะมากกว่าเมื่อช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2007 และผู้ที่ได้รับความตึงเครียดอย่างฉับพลันมากที่สุด คือครัวเรือนที่มีฐานะทางการเงินในระดับกลาง

ดร. บราวน์ กล่าวว่า ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากเงินสนับสนุนจากรัฐบาลนั้น น้อยกว่ารายได้ของประชาชนโดยทั่วไป

"เงินสนับสนุนรายได้จ๊อบคีปเปอร์สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัตินั้นมีประโยชน์ไม่น้อย แต่สำหรับผู้คนอีกมาก เงินจ๊อบคีปเปอร์ไม่สามารถทดแทนอัตราค่าจ้าง​ตามปกติของพวกเขาได้" ดร. บราวน์กล่าว

"ดังนั้น เพื่อให้ครัวเรือนเหล่านั้นดำเนินชีวิตต่อไป พวกเขาอาจต้องดึงเงินออมออกมาใช้ เพื่อให้สามารถชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่พวกเขามีได้ต่อไป" 

ด้านองค์กรแองกลิแคร์ ได้ออกมาเตือนเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การตัดลด หรือยกเลิกเงินสงเคราะห์ค่าจ้างจ๊อบคีปเปอร์นั้น จะเป็นการสร้างความเสียหายให้กับครับเรือนทั่วออสเตรเลีย โดยองค์กรดังกล่าวระบุว่า 2 ใน 3 ของผู้คนที่มายังมูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ ก่อนที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเกิดขึ้นเป็นคนตกงาน และส่วนมากมักอดมื้อกินมือ รวมถึงหยุดรับประทานยารักษา เพื่อให้เงินสงเคราะห์ที่พวกเขาได้รับนั้นพอใช้จนถึงดอลลาร์สุดท้าย

หากคุณกำลังประสบความเดือดร้อนทางการเงิน ไปที่เว็บไซต์ หรือโทรไปที่สายช่วยเหลือด้านหนี้สินแห่งชาติ (National Debt Helpline) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 007 007

หากคุณต้องการบริการล่ามแปลภาษา โปรดโทรหา TIS National ที่หมายเลข 13 14 50 และขอให้เจ้าหน้าที่ต่อสายไปยังหมายเลขที่ต้องการ

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share