การหมิ่นประมาทคืออะไรและขอบเขตอยู่ตรงไหนในออสเตรเลีย?

NEWS: ขณะที่บุคคลที่มีชื่อเสียงก้องโลกหลายคนในออสเตรเลียกำลังฟาดฟันในการฟ้องร้องกรณีหมิ่นประมาท แต่ความจริงแล้ว คนธรรมดาทั่วไปก็อาจถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทผู้อื่นได้

You can read the full article in English

การฟ้องร้องกรณีหมิ่นประมาทที่เกี่ยวกับบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนในออสเตรเลีย กำลังจะมีการพิจารณากันในศาลในเดือนนี้

นางซารา แฮนสัน-ยัง วุฒิสมาชิกพรรคกรีนส์ กำลังดำเนินการฟ้องร้องวุฒิสมาชิกเดวิด เลย์ออนแฮล์ม ของพรรคลิเบอรัล เดโมแครต ขณะที่เจฟฟรีย์ รัช นักแสดงฮูลีวูดชาวออสเตรเลีย ขึ้นศาลเมื่อวันจันทร์สัปดาห์ที่แล้ว (15 ตุลาคม) เพื่อฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ เดอะ เดลี เทเลกราฟ (The Daily Telegraph)

คดีความเรื่องการหมิ่นประมาทกำลังได้รับความสนใจจากสาธารณะชนมากขึ้น แต่แท้จริงแล้วการหมิ่นประมาทนั้นคืออะไร

การหมิ่นประมาทคืออะไร?

จะกล่าวก็คือ การหมิ่นประมาทหมายถึงกระบวนการของการทำให้บุคคลอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง

หากผู้ใดรู้สึกว่าสิ่งที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับตน ที่มีบุคคลอื่นมากกว่า 1 คนเห็นสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าว ซึ่งทำให้ชื่อเสียงของตนเสื่อมเสียในสายตาของสาธารณะ ผู้นั้นก็อาจมีเหตุผลเพียงพอที่จะดำเนินการฟ้องร้องได้

วิธีหนึ่งที่จะแก้ต่างข้อกล่าวหาการหมิ่นประมาทได้ คือการพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่กล่าว หรือตีพิมพ์ หรือเผยแพร่ไปนั้น เป็นความจริง

“หากคุณพูดความจริงเกี่ยวกับคนอื่น นั่นเป็นข้อแก้ต่างที่ปกป้องคุณจากข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทได้” ศาสตราจารย์เดวิด รอล์ฟ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

“เพราะคุณมีสิทธิเฉพาะชื่อเสียงที่สมควรได้รับ ไม่ใช่ชื่อเสียงที่มี”

ข้อแก้ต่างกรณีถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทผู้อื่นอีกอย่างหนึ่ง คือสิ่งที่เรียกกันว่าเป็นการแสดงความเห็นอย่างชอบธรรม (fair comment) หรือแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา (honest opinion)

"หากคุณแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือเป็นผลประโยชน์สาธารณะ และความเห็นนั้นสรุปจากข้อเท็จจริง คุณก็มีสิทธิที่จะมีความเชื่ออย่างที่คุณมีได้" ศาสตราจารย์ รอล์ฟ อธิบาย
 Rebel Wilson walks out of the Court of Appeal on April 19, 2018 in Melbourne, Australia.
Rebel Wilson walks out of the Court of Appeal on April 19, 2018 in Melbourne, Australia. Source: Getty Images

คนธรรมดาจะถูกหมิ่นประมาท หรือหมิ่นประมาทคนอื่นได้หรือไม่?

คำตอบคือ ได้และได้

จากการศึกษาวิจัยในปีนี้ของเซนเตอร์ ฟอร์ มีเดีย ทรานซิชัน (Centre for Media Transition) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ซิดนีย์ พบว่า หนึ่งในห้า ของโจทย์ในกรณีฟ้องร้องหมิ่นประมาท ระหว่างปี ค.ศ.2013-2017 เป็นบุคคลสาธารณะ และมีเพียง 1 ใน 4 ของจำเลยเป็นบริษัทสื่อสารมวลชน มากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 51) เป็นกรณีการหมิ่นประมาทผ่านสื่อดิจิทัล

“ช่องทางการสื่อสารทางโซเชียลมีเดีย ทำให้พวกเราสามารถเป็นผู้เผยแพร่สารสู่โลกในวงกว้างได้ ซึ่งเพิ่มโอกาสที่ผู้คนจะทำลายชื่อเสียงของบุคคลอื่นในสายตาของผู้รับสารที่กว้างขึ้นกว่าเดิมมาก” ศาสตราจารย์รอล์ฟ กล่าว

นายแพทริก เทอร์เนอร์ ทนายความ บริษัทมอริส แบลกเบิร์น ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ชาวออสเตรเลียธรรมดาทั่วไปมากขึ้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีหมิ่นประมาท

“โดยเฉลี่ยแล้ว มีการเพิ่มขึ้นอย่างสูง สำหรับคนธรรมดาทั่วไปที่เรียกร้องค่าเสียหายหรือการชดใช้จากบุคคลที่กล่าวข้อความหมิ่นประมาทออนไลน์” นายเทอร์เนอร์ บอกกับ เอสบีเอส นิวส์
social media
โซเชียลมีดีกำลังถูกกล่าวโทษว่าเป็นเหตุให้ชาวออสเตรเลียธรรมดาทั่วๆ จำนวนมากถูกฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาท Source: Tracy Le Blanc from Pexels Source: Tracy Le Blanc from Pexels
อดีตนายกเทศมนตรีของพื้นที่ชนบทแห่งหนึ่งในนิวเซาท์เวลส์ ได้รับค่าเสียหายกว่า 100,000 ดอลลาร์ จากการชนะคดีหมิ่นประมาทในศาลเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังประชาชนในพื้นที่คนหนึ่งถูกศาลตัดสินว่าหมิ่นประมาทเขาในการโพสต์ทางเฟซบุ๊ก โดยกล่าวหาว่าเขาทุจริตคอรัปชัน และข่มขู่ข่มเหงผู้อื่นด้วย

สมาชิกสภาเทศบาลคนปัจจุบันผู้หนึ่งยังถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย 10,000 ดอลลาร์ จากการแสดงความเห็นในโพสต์ดังกล่าว และกระตุ้นให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม

ใครมีแนวโน้มจะชนะคดี?

ศาสตราจารย์รอล์ฟ กล่าวว่า กฎหมายออสเตรเลียมีแนวโน้มเข้าข้างโจทย์ (ผู้ที่กล่าวหาผู้อื่นว่าหมิ่นประมาทตน) มากกว่าจำเลย (ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทผู้อื่น)

“อย่างเดียวที่โจทย์ต้องทำคือ แค่พิสูจน์ว่า สารที่เป็นการหมิ่นประมาทนั้น ได้ระบุชี้ตัวพวกเขา ในสายตาของผู้อื่นมากกว่า 1 คน และนั่นก็ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทแล้ว” ศาสตราจารย์รอล์ฟ อธิบาย

ส่วนจำเลยจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า สารที่ว่าเป็นการหมิ่นประมาทนั้นเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นเรื่องจริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำเลยที่จะพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหานั้นไม่ใช่เรื่องจริง กฎหมายออสเตรเลียมักมีแนวโน้มที่จะสันนิษฐานว่าข้อกล่าวหานั้นไม่ใช่เรื่องจริงก่อนเสมอ

ศาสตราจารย์ รอล์ฟ กล่าวต่อไปว่า นี่ตรงข้ามกับในสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐธรรมนูญของสหรัฐปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

“เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกของสหรัฐ (ซึ่งปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพทางศาสนา) กฎหมายหมิ่นประมาทจึงเข้าข้างจำเลยในด้านสิทธิในการแสดงความคิดเห็นมากกว่า และปกป้องเรื่องชื่อเสียงน้อยกว่า”

เราจะหลีกเลี่ยงการพัวพันคดีหมิ่นประมาทได้อย่างไร?

ทำได้ง่ายๆ คือ: จงระวังในสิ่งที่คุณโพสต์ออนไลน์

“สิ่งเย้ายวนใจมักจะเป็นเรื่องการได้บ่นการได้ระบายความคับข้องใจผ่านทางโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่สิ่งที่เราได้เห็นว่ากำลังเพิ่มขึ้นคือการฟ้องร้องบุคคลธรรมดาทั่วไปว่าหมิ่นประมาท มากกว่าฟ้องร้องสื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ต่างๆ” นายเทอร์เนอร์ ทนายความ ชี้แจง

“ขอให้ระวังสิ่งที่คุณพูด แชร์ หรือทวีต โดยเฉพาะเมื่อคนอื่นสามารถเซฟสกรีนชอตสิ่งที่คุณโพสต์ได้ การลบโพสต์ทิ้งอาจไม่ได้ทำให้คุณพ้นผิด”

หากคุณรู้สึกว่าคุณกำลังถูกหมิ่นประมาท หรือคุณถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทผู้อื่น คุณก็ควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย คุณเทอร์เนอร์ ทนายความ กล่าวทิ้งท้าย


Share
Published 22 October 2018 11:58am
Updated 22 October 2018 1:48pm
By Evan Young
Presented by Parisuth Sodsai
Source: AAP, SBS News


Share this with family and friends