แฉอุตสาหกรรมที่ทำเงินจากความสิ้นหวังของคน

Investigation: นักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคเผย ประชาชนกำลังถูกกดดันให้ทำสัญญาหนี้สิน โดยเป็นสัญญาที่พวกเขาไม่เข้าใจ และที่จริงแล้วไม่มีความสามารถจะชำระหนี้ตามสัญญาได้

You can read the full article in English

“มันเป็นบริษัทที่กระหายเงิน และจ่ายโบนัสให้พนักงานก้อนใหญ่มากๆ”– เจนนี อดีตลูกจ้างบริษัทรับแก้ปัญหาหนี้สิน

ขณะที่คณะกรรมาธิการไต่สวนหาความจริงส่วนพระองค์ด้านการธนาคาร (Banking Royal Commission) ได้เปิดโปงพฤติกรรมการให้กู้ยืมเงินที่ไร้จริยธรรมและฉ้อฉล ของสถาบันการเงินต่างๆ แต่อีกด้านของเหรียญก็คืออุตสาหกรรมรับแก้ปัญหาหนี้สิน

บริษัทต่างๆ เหล่านี้เป็นธุรกิจที่ทำกำไรจากการเสนอ “วิธีแก้ไขปัญหาหนี้สิน” หรือ “การผ่อนปรนหนี้” ให้แก่ประชาชนในออสเตรเลียที่กำลังกลัดกลุ้มใจอย่างหนักเกี่ยวกับหนี้สินของตน ซึ่งนี่เป็นตลาดขนาดใหญ่ หนี้สินส่วนบุคคลรวมทั่วทั้งประเทศ มีมูลค่าเป็นจำนวนเกือบ 2.4 ล้าน ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ  100,000 ดอลลาร์ ต่อชาวออสเตรเลีย 1 คน

วิธีการหนึ่งที่จะทำได้คือผ่านสิ่งที่เรียกกันว่า สัญญาหนี้สิน (debt agreement) คุณอาจเคยเห็นโฆษณาทางโทรทัศน์ หรือออนไลน์ ที่บอกว่าจะมีทางออกง่ายๆ ให้สำหรับผู้ที่กำลังมีปัญหาเรื่องหนี้สินอย่างหนัก

สัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเหล่านี้มีข้อดีส่วนหนึ่งคือ จะเป็นการรวมหนี้ส่วนบุคคลทั้งหมดเข้าไว้เป็นก้อนเดียว ซึ่งลูกหนี้สามารถผ่อนชำระคืนได้ภายในระยะเวลา 5 ปี บริษัทผู้ให้กู้ยืมเงินจะได้เงินของพวกเขาคืน ดังนั้น จึงหยุดโทรศัพท์มาทวงเงิน หรือหยุดส่งจดหมายตามทวงหนี้ และหากลูกหนี้ทำตามสัญญาอย่างเคร่งครัด พวกเขาก็ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียสินทรัพย์ชิ้นใหญ่ไป อย่างเช่นบ้านที่อาศัยอยู่

แต่ความจริงแล้วเงื่อนไขสัญญาซับซ้อนกว่านั้นมาก สัญญาหนี้สินเป็นรูปแบบหนึ่งของภาวะล้มละลาย สัญญาหนี้สินจะส่งผลต่อการจัดระดับความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้หรือ เครดิต เรตติ้ง เป็นเวลาสูงสุด 5 ปี และยังสามารถส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติของคุณในการสมัครงานบางประเภทอีกด้วย จำนวนเงินที่ต้องชำระคืนนั้นอาจสูงมาก และบริษัทยังคิดค่าบริการที่สูงด้วย

พวกเขาโฆษณามันอย่างกับเป็นสายรุ้งและม้ายูนิคอร์น โดยไม่ได้เอ่ยถึงเลยว่าความจริงแล้ว มันเป็นการล้มละลายตามกฎหมายบทที่ 9 – มาร์ก อดีตลูกค้าของบริษัท ฟอกซ์ ไซม์ส์ (Fox Symes)

นักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิผู้บริโภค เผยว่า ประชาชนกำลังถูกกดดันให้ทำสัญญาหนี้สิน (debt agreement) ที่พวกเขาไม่เข้าใจสัญญาอย่างถ่องแท้ และความจริงแล้ว ไม่มีความสามารถทางการเงินพอที่จะชำระหนี้ได้

“ปัญหาสำคัญของธุรกิจต่างๆ ที่โฆษณาสัญญาหนี้สินคือ พวกเขามีความขัดแย้งในตัวเอง” นายเจอรัลด์ โบรดี จากศูนย์กฎหมายเพื่อผู้บริโภค คอนซูเมอร์ แอกชั่น ลอว์ (Consumer Action Law) บอกกับ เดอะ ฟีด (The Feed) “พวกเขาจะได้เงินเมื่อให้คุณทำสัญญาหนี้สิน พวกเขาจะไม่ได้เงินหากเสนอคำแนะนำหรือทางเลือกอื่นให้คุณ”

บริษัท ฟอกซ์ ไซม์ส์ (Fox Symes) เป็นบริษัทผู้ให้บริการทำสัญญาหนี้สินที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย แต่เมื่อต้นปีนี้เอง บริษัทถูก เอซิก (ASIC) ซึ่งเป็นองค์กรควบคุมกฎระเบียบของอุตสาหกรรมธุรกิจด้านการเงิน สั่งปรับจากการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงในโฆษณาของบริษัท

เมื่อคุณโทรศัพท์ไปยังหมายเลขที่ให้ไว้ในโฆษณารับช่วยเหลือแก้ปัญหาหนี้สิน คุณจะได้คุยกับเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าอย่างเจนนี (ที่ขอสงวนชื่อจริง) เจนนีเคยทำงานให้กับศูนย์คอลเซนเตอร์ ของฟอกซ์ ไซม์ส์

“มันเป็นบริษัทที่กระหายเงิน และจ่ายโบนัสให้พนักงานก้อนใหญ่มากๆ” เธอบอกกับ เดอะ ฟีด พนักงานทุกคนจะมีเคพีไอหรือดัชนีวัดผลงานของตนเอง แล้วก็มีเคพีไอของทีมด้วย ดังนั้น จึงมีความกดดันตลอดเวลา

เจนนี อ้างว่า งานของเธอนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นเหมือนงานพนักงานขาย โดยแต่ละเดือนพนักงานจะต้องให้ลูกหนี้ทำสัญญาหนี้สินให้ได้ยอดตามเป้า และหากทำได้ตามนั้นหรือสูงกว่าเป้า พนักงานก็จะได้รับเงินโบนัส เจนนีและอดีตพนักงานคนอื่นๆ บอกกับ เดอะ ฟีด ว่าโบนัสที่ว่านั้นบ่อยครั้งทีเดียวที่เป็นเงินหลายพันดอลลาร์

ขณะที่พนักงานจำเป็นต้องกล่าวถึงทางเลือกอื่นๆ ให้แก่ผู้ที่โทรศัพท์มายังบริษัท แต่เจนนีกล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว พนักงานจะพยายามสนับสนุนให้ทำสัญญาหนี้สินมากกว่าทางเลือกอื่น “คุณบอกถึงสิ่งดีๆ เกี่ยวกับมัน แต่ที่จริงคุณไม่บอกอะไรมากนักว่าเมื่อทำสัญญาหนี้สินไปแล้วจะเป็นอย่างไร” เจนนี เผย

มาร์ก ซอลเตอร์ อดีตลูกค้าคนหนึ่งของฟอกซ์ ไซม์ส์ กล่าวว่า “บริษัทแค่ดูที่จำนวนหนี้ และไม่ใส่ใจว่าเงินที่ต้องจ่าย 185 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์จะทำให้ผมไม่มีเงินเหลือเลย” เขาได้ทำสัญญาหนี้สินขณะที่เขาอายุ 19 ปี เพื่อจะผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตจำนวน 50,000 ดอลลาร์

ฟอกซ์ ไซม์ส์ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับ เดอะ ฟีด ในแถลงการณ์ บริษัทกล่าวว่า บริษัทไม่เคยพยายามกดดันให้ทำสัญญาหนี้สิน และมีเพียงร้อยละ 3.7 ของผู้ที่ติดต่อมายังบริษัท ที่ตัดสินใจทำสัญญา บริษัทไม่ได้ตอบคำถามของเดอะ ฟีด เกี่ยวกับเป้ายอดการทำสัญญาและเงินโบนัสที่จ่ายให้พนักงาน

นาย เบน แพริส จาก PIPA ตัวแทนอุตสาหกรรม ระบุว่าเคพีไอหรือดัชนีวัดผลงานพนักงาน และเงินโบนัสต่างๆ ไม่ได้ส่งผลเสียต่อการให้บริการของบริษัทรับแก้ปัญหาหนี้ตค่างๆ เขากล่าวว่าลูกหนี้ได้รับแจ้งอย่างน้อย 3 ครั้งเกี่ยวกับผลที่ตามมาของการทำสัญญาหนี้สิน “ผมไม่แน่ใจว่า ความหวั่นเกรงเรื่องเคพีไอที่มีในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นภาคการธนาคารนั้น จะมีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอให้เกิดความหวาดกลัวกันในภาคธุรกิจจัดการหนี้สินส่วนบุคคลที่ล้นพ้นตัว” นายแพริส กล่าว ในการให้สัมภาษณ์

รัฐบาลเพิ่งอนุมัติร่างกฎหมายใหม่ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาที่ก่อให้เกิดความวิตกกันนี้ เกี่ยวกับสัญญาหนี้สิน กฎหมายดังกล่าวลดระยะเวลาที่สัญญาหนี้สินจะส่งผลต่อเครดิต เรตติ้งจาก 5 ปีเป็น 3 ปี และป้องกันไม่ให้จำนวนเงินที่ต้องชำระหนี้คืนนั้นสูงเกินความสามารถทางการเงินของลูกหนี้

แต่นายเจอรัลด์ โบรดี จากศูนย์กฎหมายเพื่อผู้บริโภค คอนซูเมอร์ แอกชั่น ลอว์ (Consumer Action Law) เกรงว่า กฎหมายใหม่นี้ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ และยังคงมีช่องโหว่ทางกฎหมายที่บริษัทให้รับทำสัญญาหนี้สินอาจสามารถใช้หลีกเลี่ยงกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปได้

ดังนั้น หากคุณกำลังประสบปัญหาหนักเกี่ยวกับหนี้สิน และต้องการคำปรึกษาจากองค์กรอิสระ คุณสามารถขอคำปรึกษาได้จากไหน ที่โทรศัพท์สายด่วน เนชันแนล เดบ์ต เฮล์ปไลน์ (National Debt Helpline) หรือที่บริการให้คำปรึกษาด้านการเงินที่ฟรี ซึ่งให้บริการโดยองค์กรไม่มุ่งหวังผลกำไรต่างๆ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหาทางออก

มาร์ก ซอลเตอร์ กล่าวว่า “ประชาชนไม่ควรกลัวที่จะเจรจาโดยตรงกับบริษัทเจ้าหนี้ เพราะที่สุดแล้ว ผู้คนก็ประสบปัญหากันได้ อย่าอาย ขอให้ไปขอความช่วยเหลือจากบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้องโดยตรง”

หากคุณต้องการปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการหนี้สินของคุณ สามารถโทรศัพท์ไปได้ที่ เนชันแนล เดบ์ต เฮล์ปไลน์ (National Debt Helpline) ที่หมายเลข 1800 007 007 ทุกวันจันทร์-ศุกร์

แถลงการณ์จาก ฟอกซ์ ไซม์ส์ (Fox Symes):
“ฟอกซ์ ไซม์ส์ เป็นองค์กรที่มีจริยธรรม โปร่งใส และมีกฎระเบียบควบคุม เรามุ่งเน้นการทำงานกับผู้ที่ติดต่อเราเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุดเพื่อแก้ปัญหาทางการเงินของพวกเขา เราให้บริการด้วยการตรวจสอบทบทวนและพิจารณาดูสถานการณ์ส่วนบุคคล และแจ้งให้พวกเขาทราบถึงทางเลือกที่มี เพื่อจะได้ตัดสินใจได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

ฟอกซ์ ไซม์ส์ ไม่ได้พยายาม “ผลักดัน” ให้ทำสัญญาหนี้สิน หากเราทำเช่นนั้น เราก็ล้มเหลว อย่างที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า มีผู้คน 153,000 คนที่ติดต่อมายัง ฟอกซ์ ไซม์ส์ ในช่วงปีการเงิน 2017-2018 และในจำนวนนั้น 5,700 คนเลือกจะทำสัญญาหนี้สิน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของผู้ที่ติดต่อเรามา

ฟอกซ์ ไซม์ส์ ไม่ได้ “อนุมัติสัญญาหนี้สิน” อย่างที่กล่าวอ้าง ต้องมีการส่งหนังสือเสนอขอทำสัญญาหนี้สิน (DAP) ไปยัง องค์กร ออสเตรเลียน ไฟแนนเชียล เซอคูริตี ออธอริตี้ (AFSA) และเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องอาจยอมรับข้อเสนอที่จะเดินเรื่องต่อไป หากมีการทำตาม มาตรา 185อี (2) หมวด 9 ของพระราชบัญญัติการล้มละลาย 1966 จากนั้น เอฟซ่า จึงจะส่ง หนังสือเสนอขอทำสัญญาหนี้สิน ไปยังเจ้าหน้าที่ได้รับผลกระทบ และขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ ว่าจะตัดสินใจยอมอนุมัติหรือปฏิเสธหนังสือเสนอขอทำสัญญาหนี้สิน บริษัทเจ้าหนี้มีเวลา 35 วัน ที่จะตัดสินใจ ในระหว่างนี้ ลูกหนี้สามารถขอถอนหนังสือเสนอขอทำสัญญาหนี้สินได้

เราได้เสนอให้ เอสบีเอส ได้มีโอกาสเข้ามาดูที่สำนักงานของเรา เพื่อได้เห็นการทำงานของเรา แต่ข้อเสนอนั้นถูกปฏิเสธ”


Share
Published 8 October 2018 3:15pm
Updated 8 October 2018 4:18pm
By Elise Potaka
Presented by Parisuth Sodsai
Source: The Feed, SBS


Share this with family and friends