เปิดโปงธุรกิจโกงทางโทรศัพท์ในออสเตรเลีย

EXCLUSIVE: โทรศัพท์สายสายหนึ่งในวันธรรมดาๆ ทำให้นักศึกษาในออสเตรเลียคนหนึ่งสูญเงินเกือบ 5 แสนดอลลาร์ และทำทุกอย่างเหมือนถูก "สะกดจิต"

ทุกอย่างเริ่มต้นจากเสียงปลายสายที่ไร้พิษภัยว่า "มีพัสดุที่รอคุณมารับ" แต่หลังจากนั้นปลายสายก็บอกว่า "แต่มีปัญหาอย่างหนึ่ง คุณจะต้องคุยกับตำรวจ"

Xiao Chen* นักเรียนต่างชาติในออสเตรเลียรายหนึ่งที่เราเปลี่ยนชื่อเพื่อปกปิดตัวตน ได้รับโทรศัพท์เป็นภาษาจีนว่า เธอมีพัสดุจาก DHL จากนั้นก็ถูกโอนสายไปยังชายคนหนึ่งที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงของทางการจีน เขาบอกเธอว่า เธอกำลังเจอปัญหาใหญ่ เพราะเธอมีส่วนรู้ส่วนเห็นในคดีอาชญากรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมฉาวโฉ่ เธอถูกตั้งข้อหาที่รุนแรง และถ้าหากเธอไม่ร่วมมือก็จะถูกจับตัว จากนั้นปลายสายก็ส่งหมายจับที่มีรูปของเธอไปให้

"ฉันกังวลและกลัวมาก เขาบอกว่านี่เป็นคดีลับ ฉันบอกใครไม่ได้" เธอบอกกับรายการ The Feed ทาง SBS Viceland

นอกจากนั้น พวกเขาบอกเธอว่า เธอกำลังถูกจับตา ทุกๆ การเคลื่อนไหวของเธอจะถูกติดตาม

เมื่อเธอยืนกรานความบริสุทธิ์ ปลายสายบอกว่า พวกเขา ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถช่วยได้ แต่เธอต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 4,000 ดอลลาร์ในการสอบสวน อีก 90,000 ดอลลาร์สำหรับประกันทัณฑ์บน และอีก 250,000 ดอลลาร์สำหรับความรับผิดชอบทางแพ่ง

“ทุกครั้งที่พวกเขาโทรมาให้ฉันส่งเงิน มันมีเหตุผลอะไรบางอย่าง ตอนแรกฉันก็ไม่เข้าใจ พวกเขาจะอธิบาย และฉันก็เข้าใจ แต่ไม่ใช่ทุกเรื่อง ฉันก็เชื่อพวกเขาไป แล้วก็ทำตามที่พวกเขาบอก” Xiao Chen* กล่าวกับรายการ The Feed

โทรศัพท์สายนั้น พาเธอสู่การเผชิญหน้ากับพวกเขาเป็นเวลา 10 วัน เธอส่งเงินไปเกือบ 500,000 ดอลลาร์ให้กับคนปลายสายที่เธอเข้าใจว่าเป็นตำรวจ และเมื่อเงินของเธอหมด พวกเขาก็ได้สอนให้เธอหาเงินเพิ่ม โดยการโกหกพ่อแม่ของเธอที่อยู่ในประเทศจีน แม่ของเธอคิดว่า เธอต้องการเงินเหล่านั้นสำหรับแสดงในบัญชีเพื่อประกอบกับวีซ่า ซึ่งก็คงจะอยู่ในบัญชีธนาคารของเธอ จึงได้ไปหยิบยืมเงินจากญาติและเพื่อนๆ ที่เธอรู้จัก

แต่เมื่อลูกสาวขาดการติดต่อ และเงินหายไปจากบัญชีธนาคาร พวกเขารู้ทันทีว่า มีบางอย่างผิดปกติ
‘Xiao Chen’ gave $500,000 to the scammers
Xiao Chen ส่งเงินให้กับขบวนการหลอกลวงนี้เป็นำนวนเกือบ 500,000 ดอลลาร์ (The Feed) Source: SBS
กลุ่มหลอกลวงทางโทรศัพท์ยังได้ชักพาให้ Xiao Chen* ออกจากบ้าน เพื่อไปรอขั้นตอนต่อไปที่พวกเขาจะให้เธอทำที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เธอถูกบอกว่าคดีของเธอนั้นบานปลาย และกำลังตกอยู่ในปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม ในตอนนั้น ระหว่างที่เธออยู่เพียงลำพังและสับสน เธอตัดสินใจไม่เชื่อคำจากปลายสาย และโทรหาพ่อแม่ทันที

"ฉันอยากรับสายพวกเขา มันเหมือนเป็นการสะกดจิต ฉันไม่กลัวที่จะรับสายจากพวกเขาเลย …. ฉันเริ่มกังวลมากขึ้น จากนั้นก็ไม่รู้จะทำยังไงดี"

เธอเชื่อมาตลอดว่าเธอพูดอยู่กับตำรวจตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ทั้งหมดเป็นการจัดฉาก และชายที่เธอพูดด้วยในสายนั้นก็ไม่ใช่ตำรวจ

หลังจากนั้น 2-3 วัน ครอบครัวของ Xiao Chen* และเจ้าหน้าที่ตำรวจตัวจริงสามารถระบุตำแหน่งของเธอได้ ผ่านบริการ Find my iPhone บนสมาร์ทโฟนของเธอ โดยสิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่ทำก็คือ ทำให้เธอมั่นใจว่าเธอไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นเหยื่อของกระบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์ เธอถูกพบในสภาพสับสนและอยู่ลำพัง ที่โรงแรมแห่งหนึ่งใกล้สนามบินเมลเบิร์น เมื่อเดือนเมษายน 2017

การหลอกลวงทางโทรศัพท์ไม่ใช่เรื่องใหม่

การหลอกลวงทางโทรศัพท์ เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไต้หวัง เมื่อช่วงปลายปี 1990 ตั้งแต่นั้นมาก็มีการวิวัฒนาการ และแตกสาขาออกไปยังต่างประเทศ คอล์เซ็นเตอร์หลอกลวงบางแห่งยังตั้งอยู่ในออสเตรเลียอีกด้วย

มีรายงานว่า เหยื่อของกระบวนการนี้ในออสเตรเลียสูญเงินรวมกันมากกว่า 9 ล้านดอลลาร์

สำหรับกรณีของ Xiao Chen* เธอเป็นเหยื่อของเครือข่ายมิจฉาชีพในลักษณะนี้ ซึ่งมีจากนครนิวยอร์กของสหรัฐฯ ไปจนถึงประเทศนิวซีแลนด์ โดยมุ่งหาเหยื่อในกลุ่มชุมชนที่ใช้ภาษาจีน บางครั้ง เหยื่อจะถูกบอกว่ากำลังต้องโทษรุนแรงในประเทศจีน และอาจมีการส่งตัวข้ามแดน ในบางรายก็ถูกบีบบังคับให้ทำเป็นว่าถูกลักพาตัวแล้วถ่ายภาพ ซึ่งรูปภาพเหล่านี้ ภายหลังถูกนำไปใช้ในการขู่กรรโชกทรัพย์จากพ่อแม่และญาติของเหยื่อ
kidnap
Scammers encourage victims to pretend they have been kidnapped and send photos to their parents, who will then transfer money. Source: Victoria Police
เรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเพียงกรณีเดียวที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ

ขณะที่ทางการออสเตรเลียมีความตื่นตัวอย่างมากกับสายโทรศัพท์หลอกลวงเหล่านี้ มีรายงานว่า สายหลอกลวงเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้นถึง 400% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เมื่อปี 2015 ตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลียเข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง บริเวณชานเมืองนครบริสเบน สิ่งที่พวกเขาพบทำให้เจ้าหน้าที่งุนงง

"ลักษณะบ้านหลังนี้มีการจัดตั้งเป็นธุรกิจ มีโต๊ะทำงาน โทรศัพท์ และ iPad ที่ชาร์จ และอะไรในทำนองนี้เป็นจำนวนมาก" เกล็น ฟิเชอร์ (Det Supt Glen Fisher) เจ้าหน้าที่ตำรวจกำกับการระบุ

เมื่อขึ้นไปชั้นบน เจ้าหน้าที่พบชาวไต้หวัน 23 คนอยู่รวมกันในห้องนอน พาสปอร์ต โทรศัพท์เคลื่อนที่ และสิ่งของส่วนตัวถูกล็อกเอาไว้ในห้องที่แยกกันอยู่ชั้นล่าง นอกจากนี้ ยังพบเอกสารและบันทึกต่างๆ ซึ่งต่อมาได้ถูกนำไปใช้ในชั้นศาล เพื่อยืนยันว่าพวกเขาเหล่านี้คือขบวนการต้มตุ๋น ซึ่งประกอบไปด้วยชาวไต้หวันที่ถูกบังคับให้ทำงานวันละ 10-12 ชั่วโมง เพื่อโทรศัพท์หลอกลวง โดยมุ่งเป้าหาเหยื่อในประเทศจีน พวกเขาเหล่านี้อาศัยอยู่ในออสเตรเลียด้วยวีซ่าทำงานและท่องเที่ยว (Working Holiday Visa)

ต่อมา ผู้จัดการคอล์เซ็นเตอร์แห่งนี่ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาใช้แรงงานทาส แต่ไม่ใช่คดีฉ้อฉล

คดีดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีโอกาสได้พบเห็นการทำงานของกลุ่มเครือข่ายหลอกลวงทางโทรศัพท์ โดย เกล็น ฟิเชอร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจกำกับการ ระบุว่า มันเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กลุ่มอาชญากร เพื่อหารายได้อีกทางหนึ่ง โดยพวกเขาทำการวิจัยมาเป็นอย่างดี

จากปากอดีตมิจฉาชีพปลายสาย

เพราะความต้องการเงิน และรู้จักเพื่อนที่รู้จักคนอื่นๆ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจหลอกลวงทางโทรศัพท์ของ Ah Wei* ซึ่งเราได้เปลี่ยนชื่อเพื่อปิดบังตัวตน โดยเริ่มต้นจากการเรียกรับเงินจากเหยื่อผ่านตู้ ATM สู่โอเปอร์เรเตอร์ และผู้จัดการคอลเซ็นเตอร์ในไต้หวัน นอกจากนี้เขายังเปิดเผยว่า ได้จ้างคนมาทำงานด้วย พร้อมกับได้ฝึกพวกเขาในเรื่องจิตวิทยาแห่งการหลอกลวง และมีข้อมูลอย่างหมายเลขโทรศัพท์ ข้อมูลส่วนตัว และบทพูดที่เตรียมไว้ โดยเขาบอกว่า เคยทำเงินจากการหลอกลวงได้มากถึง 200,000 ดอลลาร์ต่อวัน

รายการ The Feed ได้ไปพูดคุยกับ Ah Wei* อดีตผู้ที่อยู่ในวงการนี้ว่า ทำไมสายโทรศัพท์หลอกลวงเหล่านี้มันถึงได้ผลเป็นอย่างดี

"ปกติ เราเล่นกับความกังวลและความกลัวของคน เราทำให้พวกเขาอยู่บนสาย และไม่ให้เวลาพวกเขาได้คิดอะไร" Ah Wei* ระบุ

มันเป็นธุรกิจที่ได้กำไรงาม อย่างที่ Xiao Chen* บอกกับทางรายการว่า เธอโอนเงินให้มากเกือบ 500,000 ดอลลาร์ในเวลา 10 วัน ซึ่งสำหรับ Ah Wei* ลักษณะที่เธอเจอนั้นเป็นเรื่องที่เขาคุ้นเคย

"ผมจะโทรและบอกว่า คุณพัวพันกับคดีอาชญากรรม คุณมีหมายศาลและต้องไปขึ้นศาลเพื่อที่จะอธิบาย แต่จะต้องจ่ายค่าประกันทัณฑ์บน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้หนีออกนอกประเทศ" เขาระบุ

นอกจากนี้ เขายังบอกว่า มีการโทรหลอกลวงอีกลักษณะหนึ่ง ที่เพิ่งพบในออสเตรเลียเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมุ่งเป้าไปที่พ่อแม่ โดยพวกเขาจะได้รับโทรศัพท์บอกว่า ลูกของเขาถูกลักพาตัว ถ้าไม่อยากให้พวกเขาเจ็บตัวและยังปลอดภัย ก็จะต้องนำเงินมาจ่าย

"ถ้าคุณได้เหยื่อเป็นลูกสาว ก็จะต้องเตรียมคนให้ตะโกนอยู่ไกลๆ อยู่เป็นฉากหลังอย่าง “แม่...ช่วยหนูด้วย” พวกพ่อแม่ที่อยู่ปลายสายก็จะคิดว่าลูกของเขาถูกทำร้าย" Ah Wei* ระบุ
Phone scams
การโทรศัพท์หลอกลวงมักจะโทรจากบ้านเช่าที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการนี้โดยเฉพาะ (AAP Image/Alan Porritt) Source: AAP Image-Alan Porritt
สถานที่ในการโทรศัพท์หลอกลวงมักจะเป็นบ้านเช่า ที่ออกแบบมาเพื่อเอาไว้่ใช้ในการนี้โดยเฉพาะ โดย Ah Wei* บอกว่า เขาได้คนมาทำงานเป็นโอเปอร์เรเตอร์จากการบอกต่อปากต่อปาก และโฆษณารับสมัครงาน คนที่ได้รับการจ้างมาจะถูกฝึกให้อ่านบทพูด และได้ตารางหมายเลขโทรศัพท์พร้อมข้อมูลส่วนตัว พวกเขาไม่ได้รับอนุญาติให้ออกจากบ้านหลังนั้นระหว่างที่ขบวนการหลอกลวงดำเนินอยู่ ซึ่งอาจต้องอยู่ที่นั่นเป็นเวลาระหว่าง 1-3 เดือน

"หลายๆ คนได้ยินมาว่ามันจะได้เงินมามากขนาดไหน และถึงแม้จะรู้ว่ามันเป็นการหลอกลวง แต่พวกเขาก็ยังทำ" Ah Wei* ระบุ

ปัจจุบัน Ah Wei* ได้ออกมาจากวงการแล้วมาแล้ว ้เมื่อเขาเริ่มรู้แล้วว่า เงินที่เขาเกลี้ยกล่อมให้คนส่งมาได้นั้นมาจากใคร

"ครั้งหนึ่ง ผมเคยเจอหญิงชราคนหนึ่งที่ธนาคาร ซึ่งถูกหลอกให้ส่งเงินจำนวน 27,000 ดอลลาร์ ลูกๆ ของเธอยืนอยู่ตรงนั้นและกล่าวโทษเธอ ผมคิดขึ้นมาว่า ถ้าเงินที่เธอเสียไปเป็นส่วนหนึ่งที่ผมไปหลอกเอามาล่ะ แล้วถ้าแม่ผมถูกหลอกเข้าบ้างล่ะ"

ในตอนนี้ Ah Wei* ต้องการให้คำแนะนำสำหรับคนที่สงสัยว่า เสียงจากปลายสายอาจจะเป็นขบวนการหลอกลวงว่า

"ใจเย็นๆ และใช้เวลาคิด อย่าเชื่อสิ่งที่คนแปลกหน้าบอกคุณ"

*ชื่อของบุคคลในบทความนี้ถูกปกปิดเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว


Share
Published 16 July 2018 2:41pm
Updated 12 August 2022 3:44pm
By Elise Potaka, Leesha McKenny, Min Luo
Presented by Tinrawat Banyat
Source: The Feed, SBS World News


Share this with family and friends