การวิจัยชี้เห็นคนผิวสีหน้าเหมือนกันหมดอาจไม่ใช่เพราะเหยียดผิว

NEWS: การวิจัยล่าสุดพบว่าเด็กๆ ที่มีโอกาสได้พบเห็นบุคคลที่มีใบหน้าแตกต่างกันจากหลายเชื้อชาติ มีโอกาสมากกว่าที่จะมองเห็นความแตกต่างของใบหน้าผู้คนจากหลากเชื้อชาติเมื่อพวกเขาโตขึ้น

Crowds waving Australian flags

Crowds waving Australian flags Source: AAP

เมื่อเกิดเหตุการณ์นิตยสารลงภาพสลับกันระหว่างนางแบบสาวชาวออสเตรเลียเชื้อสายซูดานกับนางแบบเชื้อสายชาวแอฟริกันอีกผู้หนึ่ง ทำให้มีการอภิปรายกันเกี่ยวกับการเหยียดผิว

โดยนางแบบคนดังกล่าวคือ อาดุต อาเคช กล่าวหานิตยสารดังกล่าวว่าไม่เคารพเชื้อชาติของเธอ เพราะนิตยสารใช้ภาพของนางแบบเชื้อสายยูกันดาอีกผู้หนึ่งประกอบบทความที่เกี่ยวกับเธอ (อาดุต อาเคช)

แต่จากการวิจัยโครงการใหม่พบว่า การไม่มีความสามารถมองเห็นความแตกต่างบนใบหน้าของผู้คนที่มีเชื้อชาติแตกต่างออกไปจากตนอาจไม่ได้มาจากความอคติทางเชื้อชาติเสียทั้งหมด

แต่อาจมาจากการที่ในวัยเด็กบุคคลนั้นขาดโอกาสในการพบเห็นผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชันแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ ได้พบว่าการพบปะกับผู้คนหลากเชื้อชาติในสังคมระหว่างวัยเด็กอาจช่วยลด และแม้แต่ช่วยกำจัด สิ่งที่เรียกกันว่า ปฏิกิริยา อะเตอร์ เรซ เอฟเฟคต์ (other-race effect หรือคนเชื้อชาติอื่น) ได้ ซึ่งคือการขาดความสามารถในการมองเห็นความแตกต่างบนใบหน้าของผู้คนที่มีเชื้อชาติต่างไปจากตน

“หากคุณได้มีโอกาสพบปะหรือพบเห็นผู้คนจากหลายหลายเชื้อชาติขณะที่เติบโตขึ้นจนถึงอายุ 12 ปี คุณมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะมีปฏิกิริยา อะเตอร์ เรซ เอฟเฟคต์ คุณจะมองเห็นความแตกต่างได้เหมือนกับผู้คนในเชื้อชาตินั้นทีเดียว” คุณเคท เรย์โนลส์ ผู้ร่วมเขียนรายงานการวิจัยดังกล่าว เผยกับเอสบีเอส นิวส์
นักวิจัยกล่าวว่า ขณะที่ความมีอคติทางเชื้อชาติอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา อะเตอร์ เรซ เอฟเฟคต์ (other-race effect หรือคนเชื้อชาติอื่น) แต่ผลการวิจัยไม่อาจชี้ได้ว่าความมีอคติทางเชื้อชาติเป็นปัจจัยสำคัญ

“เรายังสามารถแสดงให้เห็นว่ารูปแบบที่เราพูดถึงในการวิจัยนี้ไม่สามารถใช้เรื่องอคติมาอธิบายเหตุผลได้” ศาสตราจารย์เรย์โนลส์ กล่าว

“นี่เป็นรูปแบบที่ไม่สามารถอธิบายได้จากทัศนคติแง่ลบของบุคคลที่มีต่อคนที่มีเชื้อชาติต่างออกไป มันเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของสมองมนุษย์ในด้านการรู้คิด ซึ่งได้พัฒนาความสามารถเหล่านี้ขึ้น และอาจไม่สามารถอธิบายได้จากทัศนคติหรือประสบการณ์ของบุคคลนั้น”

“นี่เป็นสิ่งอื่นที่นอกเหนือออกไป ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าเหตุใดพวกเขาจึงไม่เก่งในการมองเห็นความแตกต่างของใบหน้าผู้คนจากกลุ่มเชื้อชาติที่ต่างออกไป”

เหมือนการเรียนภาษา

การได้มีโอกาสพบเห็นหรือพบปะผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 12 ปี เป็นหน้าต่างที่สำคัญในการพัฒนาระบบการจดจำใบหน้าบุคคล และเช่นเดียวกับการเรียนภาษาที่มีความแตกต่างระหว่างการเรียนเมื่อเป็นเด็กกับการเรียนเมื่อเป็นผู้ใหญ่ คุณจะสามารถมองเห็นความแตกต่างของใบหน้าบุคคลหลากเชื้อชาติได้ยากขึ้นเมื่อคุณอายุมากขึ้น

การวิจัยยังพบด้วยว่า การเพิ่มการพบปะสังสรรค์กับบุคคลเชื้อชาติอื่นๆ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ และแม้ว่าจะทำเช่นนั้นเป็นเวลหลายปีและมีเพื่อนจากหลายเชื้อชาติหลายคน แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ความสามารถนี้ดีขึ้น

“หลังจากพ้นช่วงหน้าต่างการพัฒนาสมองส่วนนี้แล้ว คุณจะต้องฝึกฝนสมองของคุณอย่างหนักจึงจะสามารถเอาชนะปฏิกิริยาอะเตอร์ เรซ เอฟเฟคต์ (other-race effect หรือการขาดความสามารถในการมองเห็นความแตกต่างบนใบหน้าของผู้คนที่มีเชื้อชาติต่างไปจากตน) ได้” ศาสตราจารย์เรย์โนลส์ อธิบาย

“ดังนั้น มันจึงเหมือนการเรียนภาษาที่สอง คุณสามารถทำได้ แต่จะยากลำบากกว่ามาก”

งานสำหรับผู้ที่สามารถบอกความแตกต่างของใบหน้าบุคคลได้ดีกว่าผู้อื่น

เคยมีผลร้ายอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาอะเตอร์ เรซ เอฟเฟคต์ (other-race effect) มาแล้ว เช่น การระบุอัตลักษณ์บุคคลไม่ถูกต้องจากหนังสือเดินทาง และในระบบศาลยุติธรรม

กรณีตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดกรณีหนึ่ง คือการตัดสินลงโทษผิดคน จากการชี้ตัวผู้กระทำผิดที่ผิดพลาดของพยานบุคคล ในคดีของนายโรนัลด์ คอตตอน ชายชาวอเมริกัน ที่ติดคุก 10 ปี จากคดีข่มขืนและปล้น ก่อนที่หลักฐานดีเอ็นเอจะทำให้เขาพ้นผิดในปี 1995

ศาสตราจารย์เรย์โนลส์ กล่าวว่า งานที่จำเป็นต้องมีความสามารถในการระบุความแตกต่างของใบหน้าบุคคลหลากหลายเชื้อชาติได้ดี อาจเป็นงานที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีโอกาสพบปะกับผู้คนหลากหลายเชื้อชาติตั้งแต่วัยเด็ก

แต่อย่างไรก็ตาม สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฝึกอบรมให้แก่บุคคลในวัยผู้ใหญ่

“ให้ตระหนักในเรื่องนี้และให้ตระหนักว่าหน้าต่างของการพัฒนาอาจหมายความว่าสำหรับงานบางงาน คุณอาจต้องได้รับการฝึกอบรมและคิดค้นโครงการอบรม เพื่อพัฒนาความสามารถของผู้คนให้ลดปฏิกิริยาอะเตอร์ เรซ เอฟเฟคต์ได้” ศาสตราจารย์เรย์โนลส์ กล่าวทิ้งท้าย

You can read the article in English on SBS News page

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่

Share
Published 16 September 2019 1:51pm
Updated 16 September 2019 1:57pm
By Rashida Yosufzai
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends