ทางออกของคนที่เป็นเหยื่อความรุนแรงในช่วงโควิด

คำแนะนำจาก คุณอัน เบิร์ทแรม คนไทยที่ทำงานอยู่ในหน่วยงาน Women’s Safety Services ที่ SA ช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว สำหรับคนที่เผชิญสถานการณ์ช่วงโควิด

ผู้หญิงกำลังดูมือถือ

ผู้หญิงที่เผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวกำลังหาความช่วยเหลือผ่านมือถือ Source: ROENAE Productions/Pexels

เอสบีเอสไทยพูดคุยกับคุณอัน เบิร์ทแรม หัวหน้าทีมของหน่วยงานช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง ชื่อว่า Women’s Safety Services SA อยู่ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ที่มาให้คำแนะนำสำหรับคนที่กำลังเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในช่วงโควิด โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน
LISTEN TO
Aun bertram thai WSSSA family violence covid image

คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังเผชิญความรุนแรงในครอบครัวช่วงโควิด

SBS Thai

05/07/202114:12

องค์กร Women’s Safety Services SA

องค์กรที่ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และอยากออกกมาจากความรุนแรงนั้น องค์กรมีหลายหน่วย โดยคุณอันทำงานอยู่ในส่วนของ Crisis Line หรือทีมสายด่วนฉุกเฉินสำหรับผู้ประสบปัญหาที่โทรมาขอความช่วยเหลือ และอยากออกจากบ้าน เพื่อไปอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉิน หรือผู้ประสบปัญหาที่อยากอยู่ที่บ้านต่อ แต่อยากให้มีระบบความปลอดภัยมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนล็อคประตู หรือกระจกให้แน่นหนา ปลอดภัยมากขึ้น

อะไรคือความรุนแรงในครอบครัว

ความรุนแรงในครอบครัว ส่วนใหญ่คนจะนึกว่าจะเป็นความรุนแรงแบบทำร้ายร่างกาย แต่ว่าความรุนแรงในครอบครัวเนี่ย สามารถครอบคลุมถึงการใช้วาจาจาบจ้วงหรือรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวรู้สึกไม่ปลอดภัย คุณอันอธิบาย
ความรุนแรงในครอบครัวต่างจากการที่คู่ครองมีปากเสียงกัน อาจจตกลงกันได้หรือไม่ได้ สุดท้ายอาจจะแยกทางกันไป อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็นความรุนแรงในครอบครัวนะคะ

ความรุนแรงในครอบครัวคือการที่ฝ่ายหญิงติดอยู่ในความรุนแรงนั้น และไม่สามารถหนีออกมาได้เป็นระยะเวลานาน มีผลกระทบต่อความปลอดภัย

ความรุนแรงยังรวมถึงการที่อีกฝ่ายมี power (อำนาจ) ในการควบคุมเงินหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายได้อย่างสะดวก หรือมีเงินเป็นของตัวเองเลย เช่น บางกรณีที่มีคู่ครองถือบัตรเครดิต และไม่ให้เรามีชื่ออยู่ในบัตรเครดิต หรือไม่ให้มีบัตรเอทีเอ็ม หรือไม่ให้เรามีบัญชีอยู่ในธนาคารเลย ปัญหาตรงนี้ถือว่าเป็นการควบคุมหรือคอนโทรล (Control)
คนไทยที่มาที่นี่ บางคนก็มาด้วยวีซ่าพาร์ทเนอร์ แล้วคู่ครองก็จะมีการข่มขู่ว่า ถ้าไม่ยอมให้เขาใช้กำลังรุนแรง หรือไม่ยอมให้เขาควบคุม ให้อยู่แต่กับบ้าน ไม่ยอมให้ทำงานเลย เขาจะตัดวีซ่า อันนั้นถือว่าเป็นความรุนแรงในครอบครัวนะคะ
บางคนก็ประสบปัญหาคู่ครองเข้าไปแฮกบัญชีของเราในเฟซบุ๊กหรืออินสตราแกรม แล้วเฝ้าดูว่าเราไปไหนบ้าง บางครั้งเขาก็ใช้ความรุนแรงเวลาที่เราไปเจอเพื่อน ซึ่งถือว่าเป็นความรุนแรงในครอบครัวได้เหมือนกัน

การถูกควบคุม ข่มขู่ หรือว่าอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ปลอดภัยในความสัมพันธ์ ก็ถือว่าเราเข้าข่ายของการเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครวนะคะ

ประวัติการทำงานของคุณอัน

คุณอันเล่าว่าเป็นนักสังคมสงเคราะห์มาเกือบ 10 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ทำงานอยู่ในองค์กรที่ชื่อว่าอินทัช (InTouch) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือผู้อพยพและผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย ที่เมลเบิร์น ทำอยู่เกือบ 8 ปี ตอนนี้ย้ายมาอยู่ทีอะดิเลด (Adelaide) ในปีนี้ ตอนนี้ทำงานอยู่กับ Women’s Safety Services ซึ่งก็เป็นองค์กรที่ยังเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว เป็นองค์กรที่ช่วยให้ผู้หญิงออกมาจากบ้านได้อย่างปลอดภัย สามารถส่งต่อไปให้กับบ้านพักฉุกเฉินได้
Aun Bertram
คนไทยหัวหน้าทีมสายด่วนฉุกเฉิน (Crisis Line) ของหน่วยงาน Women's Safety Services SA Source: Aun Bertram

องค์กรช่วยเหลือใครบ้าง

องค์กรนี้ช่วยผู้หญิง หรือเพศที่สามด้วย คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่ม LGBTQI+ และเรียกตัวเองว่าเป็นผู้หญิง
ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นแค่เพศหญิงค่ะ ถึงคู่ครองของเราจะเป็นเพศเดียวกัน ถ้าเรา identify ว่าเราเป็นผู้หญิงในความสัมพันธ์นั้น องค์ก็เราก็ช่วยเหลือได้ค่ะ

เปรียบเทียบสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวก่อนหน้านี้และช่วงโควิด

คุณอันเผยว่า พบว่ามีความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เพราะคู่ครองก็อยู่ในบ้านเหมือนกัน ไม่ได้ออกไปไหน ถ้าเป็นช่วงปกติคู่ครองอาจจะออกไปทำงานในช่วงกลางวัน ก็จะมีช่วงที่ปลอดภัยอยู่ตอนที่เขาออกไปจากบ้าน แต่ถ้าเป็นช่วงล็อกดาวน์ ทุกคนต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

มีเรื่องของความเครียด ความกังวลในเรื่องว่าจะถูกเลิกจ้างงาน สถานการณ์เศรษฐกิจด้วย ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น และโอกาสที่เหยื่อจะติดต่อเพื่อออกมาจากความรุนแรงนั้นมีน้อยลง เพราะคู่ครองหรือ Perpetrator (ผู้กระทำความผิด) อยู่ในบ้านด้วยกันตลอดเวลา
A girl
เด็กที่กำลังเผชิญความรุนแรงในครอบครัว Source: Ulrike Mai/Pixabay

คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวในช่วงล็อกดาวน์

สำหรับทุกคนที่รู้สึกว่ากำลังเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะถ้ามีลูกอยู่ในความสัมพันธ์นี้ด้วย เด็กๆ ก็จะเห็นความรุนแรงในครอบครัวตลอดเวลา หรืออาจจะเป็นเหยื่อด้วย

“อยากจะแนะนำว่าองค์กรที่เหมือนกับองค์กรที่อันทำงานด้วยเนี่ย มีอยู่ทุกรัฐเลย เขาเปิด 24 ชั่วโมง 7 วันนะคะ”
องค์กรต่างๆ แต่ละรัฐสามารถที่จะส่งแท็กซี่ไป เพื่อส่งไปบ้านพักฉุกเฉินได้เลย ให้ดูช่วงที่ปลอดภัยที่สุดเพื่อโทรติดต่อองค์กร

“ในกรณีที่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอให้ติดต่อตำรวจนะคะ”

คุณอันกล่าวว่า องค์กรต่างๆ เช่น องค์กรที่คุณอันทำงานนั้น ทำงานใกล้ชิดกับตำรวจ และสามารถให้ความช่วยเหลือได้เป็นทีม

คุณอันย้ำว่า บางคนมีความเข้าใจผิดว่า ถือวีซ่าพาร์ทเนอร์อยู่ หากติดต่อตำรวจ หรือหนีออกมาแล้ว วีซ่าจะถูกตัด จะถูกส่งตัวกลับเมืองไทย ตรงนี้เป็นเรื่องไม่จริงค่ะ
ตำรวจไม่ได้ทำงานกับอิมมิเกรชั่น (Immigration) ถ้าคุณเป็นเหยื่อของความรุนแรง วีซ่าของคุณ โดยเฉพาะวีซ่าพาร์ทเนอร์ อาจจะมีช่องทางที่ช่วยเหลือได้
ติดต่อ Women’s Safety Services ที่รัฐเซาท์ ออสเตรเลีย 1800 800 098 หรือที่

หากคุณหรือบุคคลอื่นตกอยู่ในอันตรายฉุกเฉิน โทร. 000

หากต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวหรือการประทุษร้ายทางเพศ ติดต่อบริการ 1800RESPECT โทร. 1800 737 732 หรือ 

Lifeline โทร. 13 11 14 หรือ 

Kids Helpline โทร. 1800 55 1800 หรือ  (บริการปรึกษา 24 ชั่วโมงสำหรับเยาวชน)

Men’s Referral Service โทร. 1300 766 491หรือ  (บริการปรึกษาทางโทรศัพท์สำหรับผู้ชายโดยไม่เปิดเผยชื่อและเป็นความลับ)

 โทร. 1800 184 527 (บริการสนับสนุนสำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ)


 คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 16 July 2021 3:06pm
By Chollada K-Ross

Share this with family and friends