เหตุใดขนบของชนพื้นเมืองถึงสำคัญกับทุกคน?

An Indigenous performer participates in a smoking ceremony

ชาวอะบอริจินร่วมประกอบพิธีควัน (Smoking ceremony) Source: Cameron Spencer/Getty Images

การปฏิบัติตามขนบวัฒนธรรมของชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอเรส (Aboriginal and Torres Strait Islander People) เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจและความเคารพต่อชนชาติแรกของออสเตรเลีย และดินแดนที่เราทุกคนอาศัยอยู่


กด 🔊 เพื่อฟังเรื่องนี้
LISTEN TO
why-are-indigenous-protocols-important-for-everyone image

เหตุใดขนบของชนพื้นเมืองถึงสำคัญกับทุกคน?

SBS Thai

27/05/202212:01
ขนบวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองตั้งอยู่บนหลักจริยธรรมที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์กับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส (Aboriginal and Torres Strait Islander)

การรักษาความสัมพันธ์นี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะพวกเขาเป็นชนชาติแรกในออสเตรเลีย (First Australians) ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสมีความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินนี้อย่างลึกซึ้งและสามารถสอนพวกเราถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมได้มากมาย

คุณแคโรไลน์ ฮิวจส์ (Caroline Hughes) เป็นผู้สูงอายุชาวนันนาวัล (Ngunnawal Elder) จากมณฑลนครหลวงออสเตรเลียและแถบภูมิภาค ความรู้ด้านวัฒนธรรมเชิงเลิกของเธอได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูง

“ชนพื้นเมืองชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส เป็นชนชาติแรก (First Nation People) ของประเทศนี้ และเรามีระบบความเชื่อและมารยาททางวัฒนธรรมที่ยาวนานนับตั้งแต่เริ่มต้น และมันยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราในปัจจุบัน ที่ออสเตรเลีย”
การปฏิบัติตามขนบวัฒนธรรมทำให้เราทราบถึงความเชื่อมโยงอันยาวนานระหว่างชนชาติแรกของออสเตรเลียที่มีต่อดินแดนนี้และวิธีปฏิบัติสมัยโบราณ คุณโรดา โรเบิร์ตส์ (Rhoda Roberts) ผู้อาวุโสในเอสบีเอส (SBS’ Elder in Residence) กล่าว

“เรายังคงเล่าขานเรื่องราว ขนบปฏิบัติและพิธีกรรมต่างๆ มาเป็นเวลานาน ในขณะที่หลายสิ่งกำลังปรับเปลี่ยน เราไม่เคยดูดาย ถ้อยแถลงและปรัชญาทั้งหมดของเรา คือการดูแลประเทศซึ่งเป็นดินแดนของเรา ทะเลของเรา สายน้ำและท้องฟ้าของเรา”

คำว่า ‘ชนพื้นเมือง’ ครอบคลุมทั้งชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส แต่ชาวอะบอริจินเรียกตนเองในลักษณะที่เชื่อมโยงกับตัวตนของพวกเขาได้ดีขึ้น

คุณฮิวจส์เรียกตัวเธอเองว่าเป็นผู้หญิงชาวนันนาวัล.
มันเป็นสิ่งที่ควรในการเรียกพวกเราว่าชาวอะบอริจินหรือชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส ฉันชอบให้เรียกว่าเป็นผู้หญิงชาวนันนาวัลเพราะนั่นเป็นประเทศของฉัน ประเทศของฉันคือกลุ่มภาษาของฉัน และชนเผ่าของฉัน และนั่นบ่งบอกชาวอะบอริจินคนอื่นๆ ว่าฉันมาจากที่ใด
Aboriginal woman Jordan O'Davis performs with the Buja Buja dance troupe during the Wugulora Indigenous Morning Ceremony as part of Australia Day celebrations
คุณจอร์แอน โอ ดาวีส (Jordan O'Davis) หญิงชาวอะบอริจินร่วมแสดงกับคณะนาฏศิลป์บูจา บูจา (Buja Buja) ในพิธีของชนพื้นเมืองวูกูโลรา (Wugulora) ในวันชาติออสเตรเลีย Source: AAP Image/Rick Rycroft
‘คูรี (Koori)’ เป็นคำที่มักใช้เพื่อระบุว่าผู้นั้นมาจากรัฐนิวเซาท์เวลส์หรือรัฐวิกตอเรีย ‘เมอร์เรย์ (Murray)’ ใช้เรียกชาวควีนส์แลนด์ และชาวอะบอริจินในทาสแมเนียเรียกว่า ‘ปาลาวา (Palawa)’ เป็นต้น

ชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสเป็นชนพื้นเมืองจากหมู่เกาะบริเวณปลายแหลมคาบสมุทรยอร์ก (Cape York Peninsula) และปาปัวนิวกินี (Papua New Guinea) และส่วนมากสืบเชื้อสายมาจากชาวเมลานีเซียน (Melanesian)

คุณโทมัส เมเยอร์  (Thomas Mayor) เป็นชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสและเจ้าหน้าที่ชนพื้นเมืองแห่งชาติ (National Indigenous Officer) ที่ประจำอยู่สหภาพการเดินเรือ (Maritime Union)

“ชนพื้นเมืองทั้งหมดล้วนมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่มีความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างวัฒนธรรมของชาวเกาะและวัฒนธรรมของชาวอะบอริจิน และชาวเกาะมักได้รับการเรียกขานว่าเป็นชนพื้นเมืองที่แตกต่างกันในประเทศนี้”

ทั้งธงชาวอะบอริจินและชาวเกาะทอร์เรสมักโบกสะบัดเคียงข้างธงชาติออสเตรเลียเพื่อให้เกียรติชนพื้นเมือง

เราแสดงความเคารพโดยการใช้คำเรียกพวกเขาว่า ‘ชนพื้นเมือง (Indigenous)’ ‘อะบอริจิน (Aboriginal)’ และชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส (Torres Strait Islander) ส่วนคำว่า ‘ประเทศ (Country)’ เป็นคำเฉพาะที่ใช้อักษรตัวใหญ่ขึ้นต้น และการใช้ตัวย่อนั้นไม่เหมาะสม คุณฮิวจส์อธิบาย
อย่าใช้ตัวย่อกับคำว่า ‘อะบอริจิน’ มันเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมมากๆ อย่าเรียกพวกเราด้วยคำย่อเช่น ‘ATSI’ เราไม่ใช่ตัวย่อและเราเน้นเป็นอย่างมากในเรื่องนี้ และมีคำเรียกที่ไม่เหมาะสมที่จะทำร้ายหัวใจของเราเมื่อได้ยิน
Both the Aboriginal and Torres Strait Islander flags are flown alongside the Australian national flag to acknowledge these distinct Indigenous peoples
ธงของชนชาติอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสข้างธงชาติออสเตรเลีย Source: AAP Image/Mick Tsikas
คำว่า ‘ผู้ดูแล (Custodian)’ และ ‘ผู้อาวุโส (Elder)’ เป็นคำเฉพาะที่เหมาะสม ผู้อาวุโสนั้นนับว่าเป็นสมาชิกของชุมชนที่ได้รับการเคารพนับถือ เป็นผู้มีความรู้ทางวัฒนธรรมเชิงลิก ซึ่งพวกเขาได้รับอนุญาตให้พูดถึง คุณโรเบิร์ตส์ ผู้อาวุโสชาวอะบอริจินอธิบาย
ตามวิธีโบราณของเรา ผู้อาวุโสของเราคือผู้ที่ศึกษาหาความรู้และดูแลคนอื่น ดังนั้นเมื่อพวกเขาอ่อนแอ เราจะดูแลพวกเขา เพราะปัญญาความรู้ของพวกเขาและคำแนะนำเยี่ยงครูของพวกเขาสอนพวกเราถึงการปฏิบัติชอบตามวิถีจริยธรรมต่อมนุษย์ผู้อื่น
ชาวอะบอริจินและชาวเกาะทอร์เรสแสดงความเคารพต่อผู้อาวุโสโดยการเรียกพวกเขาว่า ‘ป้า’ และ ‘ลุง’ ผู้ที่ไม่ใช่ชนพื้นเมืองควรสอบถามก่อนว่าสามารถเรียกพวกเขาแบบนี้ได้หรือไม่

ผู้อาวุโสมักถูกขอให้กล่าว ‘คำต้อนรับสู่ประเทศ (Welcome to Country)’ คำกล่าวต้อนรับสู่ประเทศถูกริเริ่มขึ้นโดยคุณโรดา โรเบิร์ตส์ ในช่วงทศวรรษ 1980 นับเป็นพิธีต้อนรับตามประเพณีในการเปิดงานเพื่อระลึกถึงอดีตกาล อาจเป็นรูปแบบของการกล่าวเปิดงาน การเต้นรำ หรือพิธีควัน (Smoking Ceremony)

เช่นเดียวกัน ‘การแสดงความขอบคุณถึงประเทศ (Acknowledgement of Country)’ เป็นขนบการต้อนรับที่มักเอ่ยก่อนการประชุมสำคัญ

“การต้อนรับสู่ประเทศมักมีผู้ดูแลจากดินแดนที่คุณอยู่เป็นผู้ประกอบพิธี หรือผู้อาวุโสในชุมชน ในขณะที่การแสดงความขอบคุณถึงประเทศนั้นสามารถทำได้โดยเราทุกคน ไม่ว่าคุณจะมาจากที่ไหน มันแสดงให้เห็นว่าเราตระหนักและเคารพในผืนแผ่นดินนี้ ว่าเราได้มาเยี่ยมดินแดนของผู้อื่นและเราแสดงความเคารพในสิ่งนั้น ดังนั้นการแสดงความขอบคุณเป็นการตระหนักว่าคุณอาจทำงานหรืออาศัยอยู่บนสถานที่ที่ไม่ใช่ที่ที่คุณจากมา แต่นั่นไม่เป็นไร คุณยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนนี้ คุณจะตระหนักถึงสิ่งนี้ และขอบคุณผู้ดูแลและผู้อาวุโส”
First Nation children in the ceremony
เด็กชนพื้นเมืองร่วมพิธี Source: Getty Images
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการรับทราบถึงประวัติศาสตร์อันบอบช้ำที่ชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสประสบ เมื่อถูกถามถึงภูมิหลัง คุณฮิวจส์กล่าว

“การพูดถึงเปอร์เซ็นต์ของชนชาติ สีผิว หรือสีตา สีผม เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะเด็กๆ ของเราถูกเลี้ยงมาในวัฒนธรรมของเรา ซึ่งเป็นสิ่งเฉพาะสำหรับเรา และสังคมชนผิวขาวหรือสังคมที่ไม่ใช่คนพื้นเมืองละทิ้งเด็กๆ เหล่านี้ ในขณะที่พวกเขาถือว่าเป็นของขวัญสำหรับครอบครัวของเขา ชุมชนของเขา และพวกเขาได้รับการยอมรับเสมอมา”

อย่างไรก็ตาม อย่าเกรงที่จะถามคำถามด้วยความเคารพ เมื่อปฏิบัติตามขนบวัฒนธรรม คุณเมเยอร์กล่าว
ผมขอแนะนำให้ทุกคนอย่ารู้สึกว่าพวกเขาจะทำตัวไม่เหมาะสม ตราบเท่าที่พวกเขาจริงใจและให้เกียรติ คำถามต่างๆ เป็นสิ่งที่ดี ที่เกี่ยวกับว่าจะปฏิบัติตามขนบของชนพื้นเมืองให้ดีที่สุดได้อย่างไร จากนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือรับฟังและยอมรับคำอธิบาย และก้าวไปข้างหน้าด้วยความเคารพ
ผู้อาวุโสในเอสบีเอสย้ำเตือนว่า แนวคิดเรื่องขนบวัฒนธรรมนั้นเป็นสากล และพื้นฐานของการยอมรับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

“มันเป็นเรื่องของความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ สำหรับฉันโดยส่วนตัวแล้ว ในฐานะผู้หญิงชาววิดจาบูล (Widjabul) ขนบถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวงจรชีวิตของเราตลอดมา และความจริงที่ว่าเรายังถือปฏิบัติอยู่นั้นเป็นความรู้สึกที่น่าพึงพอใจอย่างไม่น่าเชื่อ มันเป็นพื้นฐานโดยแท้ แต่ท้ายที่สุดแล้วฉันมักพูดเสมอว่า มันเป็นมารยาทที่ดี”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share