ผู้โดยสารวุ่นหนักหวั่นถูกลอยแพเหตุ “เบสต์เจ็ต” เจ๊ง

Image of an aircraft by Getty Image

กดปุ่ม (▶) เพื่อฟังสัมภาษณ์ชาวไทยผู้ที่อ้างว่าได้รับผลกระทบ/Audio in Thai language Source: Source: Getty

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

NEWS: ลูกค้าเบสต์เจ็ตอ้างว่าถูกทิ้งให้ควักกระเป๋าหลังจากบริษัทดังกล่าวถูกเข้าบริหารจัดการทรัพย์สิน


You can read the full version of this story in English on SBS News .

กดปุ่ม (▶) ด้านบนเพื่อฟังสัมภาษณ์ชาวไทยผู้ที่อ้างว่าได้รับผลกระทบ

ชาวออสเตรเลียซึ่งจองตั๋วเครื่องบินผ่านช่องทางออนไลน์ เบสต์เจ็ต ทั้งโมโหและสับสนเมื่อบริษัทล้ม

บริษัทดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐควีนส์แลนด์ พร้อมด้วยบริษัทลูก วินยาร์ดทราเวล จำกัด และ บรูคลินทราเวล จำกัด ได้ถูกเข้าบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างสมัครใจเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม โดยเหล่าลูกค้าได้ถูกแจ้งให้ทราบในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่

นายเบนจามิน เกย์เลอร์ ใช้เบสต์เจ็ตเพื่อจองเที่ยวบินกับสายการบินเอมิเรตส์จากนครเมลเบิร์นไปยังประเทศอิตาลีกับครอบครัว โดยเขาได้อธิบายว่าจะเป็น “การท่องเที่ยวในฝัน”

“แล้วเราก็พบกับข่าวร้าย [เมื่อไม่กี่วันมานี้] ... ว่าตั๋วจะไม่ได้รับการยอมรับ มันช่างน่าเสียดาย” นายเกย์เลอร์กล่าวกับเอสบีเอสนิวส์เมื่อวานนี้ (2 ม.ค.)
Benjamin Gayler was due to fly Emriates.
Benjamin Gayler was due to fly Emriates. Source: AAP
“ผมจองกับบริษัทในลักษณะนี้มาเป็นเวลายี่สิบปีแล้ว ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นสิ่งที่มีความสุ่มเสี่ยงใดๆ ผมรู้สึกตกใจเมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้น”

“พวกเราตกใจและผิดหวังที่ไม่มีการคุ้มครองลูกค้าให้ดีกว่านี้”

นายเกย์เลอร์กล่าวว่า หลังจากนั้นเขาก็ได้จองเที่ยวบินใหม่ “ซึ่งราคาแพงกว่าเดิม” และก็หวังว่าจะได้รับค่าใช้จ่ายต่างๆ คืนจากการเบิกประกัน

ไพล็อต พารท์เนอส์ ผู้เข้าบริหารจัดการทรัพย์สินของเบสต์เจ็ต มี “ขั้นตอนซึ่งชัดเจน” สำหรับลูกค้าของเบสต์เจ็ตในการเรียกร้องความเสียหาย

แต่ก็ยังได้กล่าวเตือนว่า ตั๋วซึ่ง “ไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป” จะไม่ได้รับการคืนเงิน

มีลูกค้าอีกหลายร้อยรายซึ่งได้เข้าร่วมกลุ่มบนเฟซบุ๊กเพื่อแบ่งปันเรื่องราวของพวกเขา ในการพยายามตั้งหลักว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
Bestjet customers are outraged.
Bestjet customers are outraged. Source: Twitter
นางเคต ไรเดอร์จากรัฐนิวเซาท์เวลส์ได้ก่อตั้งกลุ่มดังกล่าวขึ้นหลังจากที่สูญเสียเงินกว่า $3000 ดอลลาร์ หลังจากที่จองเที่ยวบินไปกลับสองที่สู่ยุโรปผ่านเบสต์เจ็ต

“เรากำลังเตือนให้บริษัทฯ ได้ทราบ”

“คุณไม่สามารถที่จะรอดตัวไปได้ในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของสื่อสังคมออนไลน์ เหล่าลูกค้านั้นก็จะรวมตัวกันและมีข้อมูล และก็จะมาตามล่าคุณ เราจะไม่นิ่งนอนเฉยๆ ในเรื่องนี้”
ความสับสันนั้นยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีอีเมล์ส่งไปยังลูกค้าบางรายเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม โดยอ้างว่ามาจากเบสต์เจ็ต ที่ได้กล่าวหาว่า ซีวีเอฟอาร์ ทราเวล กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริการรวบรวมค่าโดยสารตั๋วเครื่องบินว่า “ดำเนินการโดยผิดกฎหมาย”

โดยอีเมล์ได้กล่าวว่า “ซีวีเอฟอาร์นั้นทำงานร่วมกับสายการบินต่างๆ เพื่อยกเลิกการสำรองที่นั่งของท่าน เพื่อที่พวกเขาจะได้รับเงินคืนทั้งหมดแต่ทว่าพวกเขาก็จะไม่คืนเงินให้กับคุณ พวกเขายังได้รับการคุ้มครองโดยประกันอีกด้วย”

นายไนเจล มาร์คีย์ จากไพล็อตพาร์ทเนอส์ได้กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “ผู้เข้าบริหารจัดการทรัพย์สินนั้นไม่มีอำนาจควบคุมการออกคำเตือนหรือแถลงการณ์ใดๆ จากเซอร์เวอร์ของบริษัท bestjet.com และแนะนำให้ลูกค้านั้นเพิกเฉยต่ออีเมล์เหล่านั้น”

หลังจากนั้นทางไพล็อตพาร์ทเนอส์ได้กล่าวว่า อีเมล์ดังกล่าวนั้นถูกส่งโดย “ไม่ได้รับอนุมัติ”

สถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการล้มละลายของบริษัทนั้นยังคงไม่ชัดเจน

- - - - -
SBS Thai:

มีชาวไทยในออสเตรเลียอ้างว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เช่นเดียวกันเป็นจำนวนหลายราย โดยในกลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “ห้องชุมชนไทยในออสเตรเลีย-สะใภ้จิงโจ้” ได้เริ่มมีการตั้งกระทู้สนทนาถึงเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม เป็นต้นมา

และมีผู้ที่แสดงความคิดเห็นว่าได้รับผลกระทบแล้วไม่ต่ำกว่าสิบราย โดยจำนวนหลายรายได้กล่าวว่าการสำรองเที่ยวบินของตนผ่านเบสต์เจ็ตเพื่อเดินทางกับสายการบินเอมิเรตส์ หรือสิงคโปร์แอร์ไลน์นั้นมีความไม่แน่นอนหรือถูกไม่ก็ถูกยกเลิกไปแล้ว ในขณะที่ผู้ซึ่งจองเที่ยวบินของสายการบินไทยบางรายกล่าวว่าการสำรองที่นั่งของตนซึ่งทำผ่านเบสต์เจ็ตนั้นจนถึงขณะยังไม่มีปัญหาใดๆ

คุณน้ำ จากนครซิดนีย์ ผู้ซึ่งทำการสำรองที่นั่งกับสายการบินเอมิเรตส์ไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ได้กล่าวกับเอสบีเอส ไทยว่า

“ใช้บริการกับเบสต์เจ็ตมาสองสามครั้งแล้วในเวลาสามปี ทุกครั้งก็คือไม่มีปัญหา”

“พอจองไป โดยปกติแล้วเขาจะส่งอี-ทิกเก็ต [ตั๋วเดินทางอิเล็กทรอนิกส์] และใบเสร็จรับเงินมาพร้อมๆ กันเลย [ทางอีเมล์]ทันทีหลังจากที่เขาหักเงินเราไปแล้ว แต่พอมาครั้งนี้รู้สึกแปลกๆ เพราะ เขาส่งแต่ใบเสร็จรับเงินที่จ่ายเงินไป แต่ยังไม่ส่งอี-ทิกเก็ตมาให้เรา จนกระทั่งผ่านไปถึงสองวันเลยต้องโทรไปสอบถามกับเบสต์เจ็ตถึงจะได้รับอี-ทิกเก็ตมา”

“ทราบข่าวจากห้องชุมชนไทยฯ ซึ่งในคอมเมนต์ได้แนะนำให้ติดต่อกับสายการบิน พอได้ข่าวปุ๊บก็โทรหาเอมิเรตส์เลย สายการบินบอกว่าเขาช่วยเราไม่ได้ และไม่ได้อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด แค่เสนอทางเลือกให้สองช่องทางว่าสามารถคืนตั๋วเพื่อซื้อตั๋วใหม่แล้วค่อยหาทางทำเรื่องขอเงินคืน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องคอยเช็คสถานะของเราต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันเดินทางว่าตั๋วจะถูกยกเลิกหรือไม่ ”

“หลังจากนั้นเราก็ได้มีการทะเลาะกันเล็กน้อยกับสายการบิน ว่าทำอย่างนี้มันก็ไม่ถูกต้องสำหรับเรา ... เหมือนว่าให้เรามาซื้อตอนนี้ก็ต้องเป็นราคาที่แพงขึ้น”

“โหลดแอพของเอมิเรตส์ไว้ ขณะนี้ก็ยังโชว์ว่ายืนยันอยู่ แต่มันทำให้เราเครียดทุกวัน ต้องมานั่งเช็คว่าเมื่อไรเราอาจโดนยกเลิก โดยไม่มีทางเลือก”

ผู้ที่อ้างว่าได้รับผลกระทบอีกราย คุณสาว จากรัฐควีนส์แลนด์เผยกับ เอสบีเอส ไทย ว่า

“เห็นว่าตั๋วถูกกว่าที่อื่นนิดนึง เลยจองตั๋วผ่านเบสต์เจ็ต ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม ... จำนวนสี่ที่นั่งของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ มูลค่าประมาณ $2500 สำหรับเดินทางเดือนกุมภาพันธ์”

“เมี่อวาน วันที่ 2 [ม.ค.] สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์โทรมาหาตอนเช้า พอตอนเย็นเราโทรกลับจึงทราบว่าทางเบสต์เจ็ตได้ยกเลิกตั๋วและขอเงินคืนจากสายการบินไปแล้ว แต่ทางสายการบินยังสามารถรักษาตั๋วไว้ให้ได้จนถึงวันที่ 18 มกราคม โดยที่เราต้องจ่ายเงินเพิ่มให้กับสายการบินอีกเกือบ $500 เหรียญ ก็คงจะต้องซื้อตั๋วใหม่ไปก่อน  วันนี้จะไปติดตามจากทางธนาคารว่าจะขอเงินคืนที่เคยจ่ายไปแล้วได้หรือไม่”

“อยากให้ระวังกว่านี้นิดนึง บางทีเราอาจจะเห็นว่าเป็นบริษัทที่ขายถูกกว่าที่อื่น อ่านรีวิวจากผู้อื่น ... ถ้าจะให้แน่นอนเลยก็คือจองไปกับสายการบินไปเลยโดยครงดีกว่า เสียเงินเพิ่งขึ้นเพียงนิดเดียว” คุณสาวกล่าวกับเอสบีเอส ไทย

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share