การปิดโรงเรียนควรเป็นทางเลือกสุดท้ายช่วงโควิด

A worker disinfects the shoes of a student as she arrives at school in Lahore, Pakistan

Source: AAP

องค์การอนามัยโลก เตือน “ไม่มีภาวะความเสี่ยงเป็นศูนย์” แต่ขอให้การปิดโรงเรียนเป็นทางเลือกสุดท้าย ขณะการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ดำเนินต่อไป


องค์การอนามัยโลก เตือนว่า “ไม่มีภาวะความเสี่ยงเป็นศูนย์” ขณะที่เด็กๆ หลายล้านคนทั่วโลกกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนตามเดิม ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19

แต่องค์การด้านสุขภาพของโลก กล่าวว่า การปิดโรงเรียนควรเป็นหนทางสุดท้าย เฉพาะในพื้นที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในอัตราสูงเท่านั้น
LISTEN TO
Closing schools a 'last resort' for COVID management image

การปิดโรงเรียนควรเป็นทางเลือกสุดท้ายช่วงโควิด

SBS Thai

18/09/202006:30
ในการประชุมแบบเสมือนจริงออนไลน์ของผู้นำด้านสุขภาพและสิทธิมนุษยชนของโลกที่มีขึ้นในวันพุธ (16 ก.ย.) สารถึงรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกนั้นชัดเจน คือขณะนี้เป็นเวลาที่ต้องตัดสินใจ

แม้จะเป็นเดือนที่เก้าของวิกฤตโควิด-19  แต่หลายๆ ประเทศยังคงพยายามหาหนทางว่า จะปกป้องพลเมืองของตนอย่างดีที่สุดได้อย่างไร ขณะที่ทำให้สังคมดำเนินต่อไปได้

นายแพทย์ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า เด็กๆ ต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนคำนึงถึงเป็นอันดับแรก

“การปกป้องให้เด็กๆ ปลอดภัยและเรียนที่โรงเรียนได้ ไม่ใช่ภาระกิจสำหรับโรงเรียน หรือรัฐบาล หรือครอบครัวโดยลำพัง แต่มันเป็นภาระกิจสำหรับเราทุกคนที่จะต้องร่วมมือกัน อย่างที่พวกเรามักพูดเสมอ ว่าไม่มีภาวะที่ความเสี่ยงเป็นศูนย์ แต่ด้วยการผสมผสานของมาตรการที่เหมาะสม เราจะสามารถปกป้องเด็กๆ ของเราให้ปลอดภัย และสอนให้พวกเขาตระหนักว่า สุขภาพและการศึกษาเป็นสองสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต” นพ.กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าว

จากสถิติของ WHO พบว่า มีผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปีติดเชื้อโควิด-19 โดยคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อ และมีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อนี้เพียงไม่ถึงร้อยละ 0.2
นพ. กีบรีเยซุส กล่าวว่า ขณะที่จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยมากกว่านี้เกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของเชื้อไวรัสโคโรนาในหมู่เด็กๆ แต่การปิดโรงเรียนควรเป็นหนทางสุดท้ายเท่านั้นในพื้นที่มีมีการระบาดในอัตราสูง

“ควรรับประกันการให้การศึกษาอย่างต่อเนื่องผ่านการเรียนทางไกล ช่วงเวลาที่โรงเรียนถูกปิดควรถูกใช้ไปเพื่อหามาตรการป้องกันและรับมือกับการระบาดเมื่อโรงเรียนเปิดอีกครั้ง” ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก กล่าว

นายไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการด้านสถานการณ์ฉุกเฉินของ WHO กล่าวว่า โดยเฉพาะทวีปยุโรปเผชิญการตัดสินใจที่ยากลำบากในเรื่องนี้ ขณะที่ฤดูหนาวกำลังย่างเข้ามาและโรงเรียนต่างๆ มากขึ้นเปิดทำการเรียนการสอนอีกครั้ง

“เราจะยึดมั่นในหลักการทั้งสองนั้นได้อย่างไร การปกป้องผู้ที่เปราะบางจากความตาย และการนำเด็กๆ ของเรากลับไปโรงเรียน เราอาจต้องยอมเสียสละบางอย่าง เนื่องจากเราต้องรักษาแรงกดดันต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ต่อไป” นายไรอัน กล่าว

ในทวีปอื่นๆ รวมทั้งในแอฟริกา กำลังเผชิญความท้าทายอย่างมากเช่นกัน

นางออเดรย์ อซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) กล่าวว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรนักเรียนของโลกยังไม่สามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ และมีความเสี่ยงที่เด็กผู้หญิง 11 ล้านคนอาจไม่ได้กลับไปเรียนหนังสืออีกเลย

“ยิ่งโรงเรียนปิดนานเท่าไร ยิ่งจะเกิดความเสียหายตามมามากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวที่ด้อยโอกาสกว่าคนอื่น ซึ่งนอกจากการเรียนแล้ว ยังต้องพึ่งพาโรงเรียนในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และบางครั้งในเรื่องโภชนาการด้วย” นางอซูเลย์ ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก กล่าว

นางเฮนริแอตตา ฟอร์ ประธานกรรมการบริหาร ของยูนิเซฟ (UNICEF) หรือกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ผลกระทบของการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ต่อคนอายุน้อยนั้นเป็นภาวะฉุกเฉิน

“เด็กๆ จำนวนมากมาย ที่การศึกษาของพวกเขาต้องหยุดชะงักลงหลายเดือน ซึ่งเหตุการณ์นี้นับว่าเป็นเหตุฉุกเฉินด้านการศึกษาของโลกทีเดียว” นางฟอร์ กล่าว

เธอกล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ของยูนิเซฟ พบว่าประเทศต่างๆ 1 ใน 4 ยังไม่มีการกำหนดวันที่จะให้โรงเรียนกลับมาเปิดอีกครั้ง

“นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมเราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ให้ความสำคัญต่อการเปิดโรงเรียนเป็นอันดับแรก เมื่อข้อจำกัดต่างๆ ถูกยกเลิกแล้ว รัฐบาลต่างๆ ต้องให้เงินทุนแก่โรงเรียน เราขอให้พวกเขาพิจารณาทุกสิ่งที่เด็กๆ จำเป็นต้องได้รับ ได้แก่ การเรียนรู้ การปกป้อง เรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต และทำให้มั่นใจได้ว่าประโยชน์ต่อเด็กๆ ต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด” นางเฮนริแอตตา ฟอร์ ประธานกรรมการบริหาร ของยูนิเซฟ ย้ำ

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share