เด็กๆ อาจได้รับผลเสียระยะยาวจากพ่อแม่ตกงานเพราะโควิด

People are seen in a long queue outside a Centrelink office in Brisbane, 24 March 2020.

People are seen in a long queue outside a Centrelink office in Brisbane, 24 March 2020. Source: AAP Image/Dan Peled

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

การวิจัยพบความเครียดจากการตกงานหรือถูกลดค่าจ้างของพ่อแม่ในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นสองเท่า ซึ่งอาจส่งผลระยะยาวต่อลูกๆ จากสถานการณ์การเลิกจ้างในช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนา


การระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดการพุ่งสูงขึ้นของจำนวนชาวออสเตรเลีย ที่กำลังเดือดร้อนทางการเงิน อันเนื่องมาจากการตกงาน ถูกลดชั่วโมงการทำงาน หรือถูกลดเงินค่าจ้าง

จากการวิจัยล่าสุดพบว่า ระดับความเครียดจากเรื่องการจ้างงานได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าในหมู่ครอบครัวต่างๆ โดยเด็กๆ กำลังได้รับผลกระทบในระยะยาวจากสถานการณ์นี้

กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

ยังคงกำลังมีการประเมินระดับความรุนแรงที่แท้จริงของการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา ที่ส่งผลต่อตลาดแรงงานในออสเตรเลีย โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีจำนวนการเลิกจ้างสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 600,000 ตำแหน่ง

คุณเอ็มมา คิง จากสภาบริการทางสังคมแห่งรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่า ประชาชนในออสเตรเลียจำนวนมากกำลังดิ้นรนรับมือกับผลกระทบ

“มันกระทบ และกระทบอย่างรุนแรง ฉันคิดว่าไม่มีอะไรสื่อเรื่องนี้ได้ดีไปกว่าแถวยาวที่คดเคี้ยวหน้าเซ็นเตอร์ลิงค์ โดยเป็นผู้คนที่รู้สึกหวาดหวั่น หรือหลายคนไม่เคยคิดเลยด้วยซ้ำว่าตนจะตกอยู่ในสถานการณ์นี้ และรู้สึกหวาดกลัวอย่างมากว่า จะจ่ายบิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้อย่างไร” คุณเอ็มมา คิง กล่าว

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย หรือเอบีเอส ระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายนปีนี้ชี้ว่า มีประชาชนราว 2.7 ล้านคนตกงาน หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน

แต่จากการศึกษาวิจัยโดยสถาบันวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ คือสถาบันมิตเชลล์ (Mitchell Institute) ของมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ได้พบว่าเด็กๆ เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงจากสถานการณ์นี้

รายงานด้านความเครียดจากการจ้างงานและความเปราะบางของนักเรียนในช่วงโควิด-19 ในออสเตรเลีย (COVID-19 Employment Stress and Student Vulnerability in Australia) เผยว่า มีจำนวนเด็กๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาที่ได้รับผลกระทบเพิ่มมากเป็นสองเท่า อันเป็นผลจากการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19

รายงานดังกล่าวพบว่า พบเด็กๆ เพิ่มขึ้นอีก 780,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 130 เปอร์เซ็นต์ (เมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2016) ที่มีแนวโน้มว่า กำลังได้รับผลกระทบจากการอาศัยอยู่ในครัวเรือนที่พ่อแม่กำลังเผชิญความเครียดจากปัญหาการจ้างงาน

คุณเคท โนเบิล ผู้เขียนรายงานนี้ กล่าวว่า ผลกระทบต่อเด็กๆ นั้นมีนัยสำคัญ

“เห็นได้ชัดว่า เรากำลังประสบความตื่นตกใจอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างแท้จริง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดหลากหลายกับครอบครัวและประชาชนอย่างถ้วนหน้า ดังนั้น โดยเฉพาะเด็กๆ ที่โลกของพวกเขากลับตาลปัตร เด็กๆ จำนวนมากถูกตัดขาดจากโรงเรียนชั่วคราว กิจวัตรและความแน่นอนในชีวิตของพวกเขาถูกพลิกคว่ำลงอย่างชิ้นเชิง เมื่อเพิ่มความเครียดจากการจ้างงานของครอบครัวเข้าไปอีก ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ” คุณโนเบิล กล่าว

คุณโนเบิล กล่าวว่า ความเครียดจากปัญหาการจ้างงาน ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 400 เปอร์เซ็นต์ในบางพื้นที่ของเมลเบิร์น เช่น พื้นที่คิงเลค (Kinglake)

บางพื้นที่ของซิดนีย์ เช่น ย่าน ซัตเทอร์แลนด์ (Sutherland) พิตต์วอเตอร์ (Pittwater) รอส ฮิลล์ (Rouse Hill) และโครนัลลา (Cronulla) และพื้นที่ชั้นในของบริสเบน มีประชาชนที่ประสบความเครียดจากปัญหาการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 300 เปอร์เซ็นต์

แต่คุณโนเบิล กล่าวว่า บางพื้นที่นอกเขตนครหลวง ยังประสบปัญหาความวิตกกังวล อันเนื่องมาจากเรื่องงานด้วย

“พื้นที่ชานเมืองชั้นนอกของนครหลวงบางแห่งได้รับผลกระทบอย่างหนักกว่าที่อื่น แต่ยังมีพื้นที่ส่วนภูมิภาคนอกนครหลวงต่างๆ ที่พ่อแม่มีแนวโน้มจะทำงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองเพราะเชื้อโควิด-19 ดังนั้น เราจึงกำลังได้เห็นผลกระทบอย่างหนักมากทั่วทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และโดยเฉพาะในบางพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้น” คุณโนเบิล กล่าว

พื้นที่ส่วนภูมิภาคบางแห่งประสบความเครียดจากปัญหาการจ้างงานในระดับสูง เช่น ควีนบีเบียน (Queanbeyan) และสโนวี เมาน์เทนส์ (Snowy Mountains) ในนิวเซาท์เวลส์ พื้นที่บิโลอีลา (Biloela) ในควีนส์แลนด์ และวาร์นัมบูล (Warrnambool) ในวิกตอเรีย
The coronavirus pandemic can increase stress levels for parents
The coronavirus pandemic can increase stress levels for parents Source: Getty Images
รายงานยังพบความสัมพันธ์กันในเชิงสาเหตุและผล ระหว่างการเรียนและพัฒนาการของเด็กๆ กับสถานะด้านการจ้างงานของพ่อแม่

รายงานยังพบว่า เด็กๆ ในครอบครัวที่ประสบภาวะตกงาน มีแนวโน้มสูงกว่าคนอื่น 15 เปอร์เซ็นต์ที่จะเรียนซ้ำชั้น

คุณโนเบิล กล่าวว่า โรงเรียนจำเป็นต้องให้การสนับสนุนเด็กๆ เพิ่มขึ้นเพื่อลดผลกระทบแง่ลบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ

“ความเป็นจริงคือ พวกเขาไม่ได้มีความสามารถอย่างแท้จริงที่จะรับมือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของภาวะเปราะบางของนักเรียนในช่วงเวลาสั้นๆ เช่นนั้น สิ่งที่เราน่าจะได้เห็นเมื่อโรงเรียนกลับมาทำการเรียนการสอนเกือบเป็นปกติ นั่นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่นักเรียนจำนวนมาก และพวกเขาจะเริ่มมีความรู้สึกถึงความมั่นคงและปลอดภัยกลับมา และกลับมาใส่ใจกับการเรียนได้อย่างรวดเร็ว”

“แต่นั่นจะไม่เกิดขึ้นกับนักเรียนทุกคน ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องพยายามทำให้มั่นใจได้ว่า จะมีกลไก เงินทุน และการสนับสนุนไว้พร้อม เพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถสนับสนุนบทบาทนั้นได้” คุณโนเบิล ผู้เขียนรายงานเรื่องนี้ กล่าว

วัยรุ่นมีความเปราะบางเป็นพิเศษ

การศึกษาวิจัยโครงการนี้แสดงให้เห็นว่า วัยรุ่นมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะออกจากการศึกษาเล่าเรียนกลางคัน และไม่เรียนต่อในมหาวิทยาลัย หากพวกเขามีพ่อแม่ที่ตกงาน

คุณคิง จากสภาบริการทางสังคมแห่งรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่า ความท้าทายทางการเงินนั้นยังไม่จบลงง่ายๆ

“ครอบครัวอาจเคยคิดว่าพวกเขามีความสามารถในการหารายได้ให้พอกับรายจ่าย แต่ตอนนี้ กลับพบว่าต้องเลือกว่าจะหาอาหารมาวางบนโต๊ะได้ไหม หรือจะเปิดไฟได้หรือเปล่า เด็กๆ อาจจะสามารถไปโรงเรียนได้ แต่พวกเขาจะสามารถมีส่วนร่วมในการเรียนได้อย่างเต็มที่หรือไม่ เด็กๆ จะสามารถจ่ายค่าไปเข้าค่ายพักแรมกับโรงเรียนได้ไหม เด็กๆ จะไปโรงเรียนโดยมีอาหารอิ่มท้องหรือเปล่า สิ่งเหล่านั้นเป็นประเด็นที่สำคัญมาก” คุณคิง กล่าว

เธอบอกอีกว่า จำเป็นต้องมีกลยุทธ์หลังจากสิ้นเดือนกันยายนนี้ไปแล้ว เมื่อโครงการช่วยอุดหนุนเงินค่าจ้างของรัฐบาลจะสิ้นสุดลง

“เรารู้ว่ามีการสนับสนุนให้ขณะนี้เกี่ยวกับเงินจ๊อบคีพเปอร์และเงินจ๊อบซีกเกอร์ แต่ความช่วยเหลือนี้มีกำหนดจะสิ้นสุดลงราวเดือนกันยายน และฉันไม่รู้ว่าผู้คนจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อถึงจุดนั้น” คุณคิง จากสภาบริการทางสังคมแห่งรัฐวิกตอเรีย กล่าว


 

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share