อนาคตของคนไร้สัญชาติในไทยจะเป็นอย่างไร

NEWS: ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า ในประเทศไทยมีบุคคลไร้สัญชาติเป็นจำนวนเท่าใด แต่มีความเป็นไปได้ว่ามีอยู่มากกว่า 2 ล้านคน

Will Thailand act on statelessness after cave rescue exposed crisis?

สมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่า Source: AAP

มหากาพย์การช่วยเหลือสมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าออกจากถ้ำหลวง จ.เชียงราย ก่อนหน้านี้ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทั่วโลกจับตา

แต่เมื่อมีข้อมูลว่า สมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชนเป็นบุคคลไร้สัญชาติ พาดหัวข่าวหลายสำนักก็เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะ จาก "เด็กไทยในถ้ำ" เป็น "เด็กในถ้ำไทย" ท่ามกลางความยินดีต่อความสำเร็จของปฏิบัติการช่วยเหลือ ปฏิบัติการครั้งนี้ได้เปิดเผยถึงเรื่องราวที่กว้างขวางของสถานการณ์บุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย

การสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลไร้สัญชาติในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า แนวคิดการก่อตั้งและการล่มสลายของรัฐ ไม่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ของตัวเลขบุคคลไร้สัญชาติในไทยได้

แต่ทว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียม นโยบายด้านแรงงานอพยพย้ายถิ่นที่ไม่มีความแน่นอน ความล้มเหลวของระบบราชการ ช่องโหว่ทางกฎหมาย และการเลือกปฏิบัติในท้องถิ่นต่อบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ราบสูง (หรือที่รู้จักกันว่า "ชาวเขา") คือต้นเหตุของปัญหาบุคคลไร้สัญชาติ
The "Wild Boars" soccer team recovering in hospital after their ordeal.
The "Wild Boars" soccer team recovering in hospital after their ordeal. Source: AAP

ความหลากหลายของบุคคลไร้สัญชาติ

จำนวนบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทยนั้นไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด แต่มีความเป็นไปได้ว่ามีบุคคลเหล่านี้อยู่มากกว่า 2 ล้านคน บุคคลไร้สัญชาติไม่สามารถไปเลือกตั้ง ซื้อที่ดิน ขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือแม้กระทั่งเดินทางได้อย่างเสรี

คำนิยามของ "บุคคลไร้สัญชาติ" นั้น อาจครอบคลุมถึงกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับการรับรู้ของรัฐนั้นๆ แต่จากการวิจัยทางชาติพันธุ์ได้เปิดเผยให้เห็นความจริงที่ซับซ้อนและหลากหลาย

ประชากรผู้ซึ่งไม่มีสัญชาตินั้น ครอบคลุมตั้งแต่ชาวเขาไปจนถึงบุตรของผู้อพยพย้ายถิ่นซึ่งเกิดในประเทศไทย แต่ไม่มีความผูกพันกับประเทศต้นทางของพ่อแม่

บัตรประจำตัวหลายรูปแบบของบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ออกให้โดยรัฐไทยนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่าง บัตรดังกล่าวจำกัดการเดินทางให้สามารถทำได้เพียงภายในจังหวัดที่มีการขึ้นทะเบียนเท่านั้น รวมถึงควบคุมความเป็นไปได้ในการได้รับสัญชาติไทย จนถึงปัจจุบัน ผู้ถือบัตรประจำตัวบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยนั้น ได้ถูกจำกัดให้ทำงานที่ใช้ทักษะน้อยอย่างถูกกฎหมายเพียง 27 อาชีพ

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายล่าสุดนั้น ได้จำกัดเพียงชาวเขาเท่านั้น โดยไม่รวมถึงบุตรหลานของผู้อพยพย้ายถิ่นซึ่งไม่มีสัญชาติ

ตั้งแต่ในปี 2005 เป็นต้นมา บุคคลไร้สัญชาติสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ภายในชุดนักเรียนที่เหมือนกับคนอื่นๆ พวกเขาดูไม่แตกต่างกับชาวไทย พวกเขาร้องเพลงชาติไทยเหมือนกัน สวดมนต์ และเล่นด้วยกัน

การวิจัยแสดงให้เห็นว่า เมื่อพวกเขาเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พวกเขาจะเริ่มรับรู้ข้อจำกัดทางสถานะของตนเองมากขึ้น และเริ่มเรียนรู้ช่องทางถูกกฎหมายในการขอสัญชาติเพื่อเป็นคนไทย

สัญชาติไทย: สิทธิ์พึงได้ หรือความเหมาะควรที่จะได้รับ

หลังจากปฏิบัติการช่วยเหลือสมาชิกทีมฟุตบอลหมูป่าออกจากถ้ำหลวง พวกเขาได้รับข้อเสนอต่างๆ และความช่วยเหลืออย่างท่วมท้น ซึ่งรวมถึงทุนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจนถึงปริญญาเอก นอกจากนี้ ผู้คนยังได้ตั้งคำถามว่า ความกล้าหาญและการต่อสู้เอาตัวรอดของพวกเขา เหมาะควรที่ทำให้พวกเขาได้รับสัญชาติไทยหรือไม่

ขณะที่การถกเถียงเรื่องสัญชาติไทยนั้นอยู่ในกรอบ ภายใต้คำถามถึง "ความเหมาะควรที่จะได้รับ" มากกว่าสิทธิ์ที่พึงได้ นั่นทำให้สื่อมวลชนนำเสนอเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ของผู้อพยพย้ายถิ่น ซึ่งโจมตีทัศนคติเหมารวมในแง่ลบของการมองบุคคลเหล่านั้นว่า "เป็นอื่น" ที่สร้างขึ้นโดยนักการเมืองฝ่ายขวา
Daily Life At Mae La Camp Thailand's Largest Refugee Camp
A woman walks along a muddy path inside the Mae La refugee camp June 7, 2012 in Tak province, Thailand. Source: Getty Images AsiaPac
กรณีตัวอย่างของเรื่องนี้ คือ มามาดู กัสซามา (Mamadou Gassama) ผู้อพยพย้ายถิ่นจากประเทศมาลีในกรุงปารีสของฝรั่งเศส ซึ่งช่วยชีวิตเด็กน้อยชาวฝรั่งเศสอย่างกล้าหาญด้วยทักษะปีนป่ายอันเหลือเชื่อ จนได้รับการขนานนามว่า "สไปเดอร์แมนแห่งปารีส" และได้รับสัญชาติฝรั่งเศส โดยในเหตุการณ์น่าอัศจรรย์แบบนี้ นักการเมืองก็มักจะตามจุดสนใจของสื่อมวลชนที่มีต่อ "ฮีโร่" เหล่านี้

สายโลหิต แผ่นดินเกิด และเอกสาร

ล่าสุด ทางการไทยยืนยันว่า จะไม่มีการให้สิทธิพิเศษใดๆ สำหรับสมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าในการได้รับสัญชาติไทย และทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามขั้นตอน

พวกเขาจะต้องมีหลักฐานยืนยันว่าเกิดในประเทศไทย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นขั้นตอนที่ตรงไปตรงมาและยุติธรรม แต่ทว่าได้ซ่อนความไม่แน่นอนของรัฐไทยในแง่ของการขึ้นทะเบียนบุคคลไร้สัญชาติ แม้ปัจจุบัน จะมีการออกใบสูติบัตรให้กับบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยโดยทั่วไป แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดในการแจ้งเกิดนั้นมักจะเป็นเหตุผลของการ "ขาดความรู้" ของผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย

สูติบัตรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถประกันได้ว่าจะได้รับสัญชาติไทย ในทางหลักการ กฎหมายของไทย จะรับรองสิทธิการได้รับสัญชาติโดยสายโลหิต และสิทธิโดยแผ่นดินเกิด การอ้างสิทธิ์ในการถือสัญชาติไทยนั้น นอกจากจะต้องแสดงเอกสารรับรองของบุตรแล้ว ยังต้องมีการแสดงเอกสารจากทางบิดามารดาเช่นกัน ผลลัพธ์ที่ได้ คือความซับซ้อนของระบบการให้สัญชาติที่ไม่เสมอต้นเสมอปลาย ผ่านการรวมกันระหว่างสิทธิโดยสายโลหิต แผ่นดินเกิด และเอกสารทางกฎหมาย

เส้นทางอันยาวไกลของการได้รับสัญชาติไทย

การเปลี่ยนแปลงกฎหมายสัญชาติของไทยในปลายปี 2016 จะเป็นการเปิดทางให้บุคคลไร้สัญชาติ 80,000 คนให้ได้รับสัญชาติ โดยนักการเมือง และนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนได้ระบุกับผู้วิจัยว่า นโยบายรณรงค์ในการหยุดภาวะไร้สัญชาติภายในปี 2024 ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นแรงจูงใจสำคัญเร่งด่วนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นเด็ก

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงสะท้อนภาพของ "ความเหมาะควรที่จะได้รับ (สัญชาติไทย)" มากกว่าสิ่งที่เป็นรากฐานอย่างสิทธิ์ที่พึงได้ ซึ่งเน้นให้เห็นถึงความซับซ้อนของการอพยพย้ายถิ่นร่วมสมัย ท่ามกลางคุณสมบัติมากมายในการได้รับสัญชาติไทย หนึ่งในนั้นคือการแสดงความจงรักภัคดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การรับรองความประพฤติ และหลักฐานการสำเร็จการศึกษา (ระดับปริญญาตรี)

หากมองจากทิศทางดังกล่าว สถานการณ์ที่ซับซ้อนที่สมาชิกทีมหมูป่ากำลังเผชิญนั้นกำลังได้รับความกระจ่าง ในขณะที่เส้นทางการได้รับสัญชาติของพวกเขาได้รับประโยชน์จากความสนใจของสื่อมวลชน มันอาจส่งผลต่อกระบวนการทางราชการที่เป็นอุปสรรคต่อบุคคลไร้สัญชาติคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนับพันคน

สำหรับสมาชิกทีมหมูป่าบางคน ทุนการศึกษาเหล่านั้นอาจจะมีประโยชน์สำหรับพวกเขา เช่นเดียวกันกับความอดทนเมื่อเผชิญกับความยากลำบาก ต่อไปในภายภาคหน้า

บทความนี้ได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ The Conversation
คุณเจนพิชา ชีวะอิสระกุล ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยวิกตอเรียแห่งเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ในโครงการ Faculty Research Grant and Empowering Network for International Thai Studies (ENITS)


Share
Published 8 August 2018 4:34pm
Updated 12 August 2022 3:44pm
By Janepicha Cheva-Isarakul, Victoria University of Wellington
Presented by Tinrawat Banyat
Source: The Conversation, SBS World News


Share this with family and friends