สว. ออสฯ เตือนให้เอกชนจัดการระบบวีซ่ามีความเสี่ยง

NEWS: ผู้เชี่ยวชาญด้านวีซ่าเตือนโครงการจัดจ้างเอกชนดำเนินการวีซ่าที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ว่าอาจเป็นภัยต่อความเที่ยงธรรมของระบบการย้ายถิ่นของออสเตรเลีย

Australia Day Honours Filename

Source: AAP Image/Joel Castro

มีการคาดการณ์ว่าผู้สมัครวีซ่าออสเตรเลียจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 13 ล้านคนต่อปีภายในปี 2028 โดยที่กระทรวงมหาดไทยเผยว่าทางกระทรวงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องจัดจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการประมวลผลวีซ่า

รัฐบาลสหพันธรัฐวางแผนจะใช้งบประมาณ 80 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาโครงการที่เรียกว่า “Global digital Platform” แต่นาย อบูล ริสซ์วิ อดีตรองเลขาธิการของกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองเตือนว่าแผนการของรัฐบาลสหพันธรัฐที่จะจัดจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการประมวลผลวีซ่านั้นอาจทำให้ทั้งระบบตกอยู่ในความเสี่ยง

“ผลกระทบที่แท้จริงของโครงการนี้คือการที่เราอาจจะสูญเสียการควบคุมระบบวีซ่าของเราไป” นาย อบูล ริสซ์วิ กล่าว

 เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า

“ปัญหาที่ผมเห็นว่ามันจะเกิดขึ้นหากรัฐบาลอนุญาตให้เอกชนเข้ามาทำในสิ่งที่เรียกว่า “การบริการชั้นเลิศ” (premium service stream) ซึ่งได้รับการส่งเสริมโดยภาคเอกชน มันก็คงคล้ายกับการนั่งที่นั่งเฟิสต์คลาสบนเครื่องบิน ซึ่งหมายความว่า เมื่อคุณจ่ายเงินแพงขึ้น คุณก็จะได้รับบริการที่เร็วขึ้น โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่ามันดูเหมือนจะเป็นไปในแนวทางนั้น เพราะถ้าการบริการชั้นเลิศไม่ได้เสนออะไรที่เป็นบวกในเรื่องนี้ แล้วภาคเอกชนในโลกใบนี้จะส่งเสริมมันไปเพื่ออะไร” นาย อบูล ริสซ์วิ  ย้ำ
นาย ริสซ์วิ ได้กล่าวปาฐกถาในการประชุมคณะกรรมาธิการวุฒิสมาชิกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และเขาถูกตั้งคำถามถึงความยุติธรรมในการสรุปเรื่องดังกล่าวโดยอาศัยหลักฐานจากเขา ซึ่งอาจนำไปสู่ความยุ่งยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ระบบป้องกันต่างๆ ในขั้นตอนการประมูล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความยุ่งยากที่จะตามมาต่อระบบการประมวลผลวีซ่า

“ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ประนีประนอมที่สุดแล้ว” นาย อบูล ริสซ์วิ  กล่าว

บริษัทที่เป็นหุ้นส่วนกันสองบริษัทกำลังแข่งกันประมูลเพื่อที่ได้สัญญาจากโครงการที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างระบบและจัดการการพัฒนาระบบออนไลน์ระบบเดียว ที่สามารถรับใบสมัคร ดำเนินการ และจ่ายวีซ่าให้กับผู้สมัครจำนวนมากกว่า 9 ล้านรายต่อปีได้
คอมพิวเตอร์จะมาแย่งงานเจ้าหน้าที่หรือไม่

ปัจจุบันมีระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ ถึง 50 ระบบที่เกี่ยวข้องในระบบการดำเนินการวีซ่า ซึ่งสองชนิดในจำนวนนี้มีอายุการใช้งานมากกว่า 25 ปี

ปัจจุบันในการประมวลผลวีซ่านักเรียนจะประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆ กว่า 28 ขั้นตอนด้วยกัน อย่างไรก็ตาม มีความกังวลต่างๆ เกิดขึ้นว่าการเปลี่ยนไปใช้ระบบ Global Digital Platform อาจเป็นการลดการทำงานโดยมนุษย์ลง ซึ่งเมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้แล้วจะทำให้เหลือการทำงานภายในกระทรวงมหาดไทยเพียงหนึ่งขั้นตอนเท่านั้น

แต่ นาง มาลิสา โกไลท์ลี รองเลขาธิการกลุ่มงานการบริการวีซ่าและการเป็นพลเมือง ยืนยันว่า การประมวลผลวีซ่านั้นจะไม่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการจัดการทั้งหมดเพียงอย่างเดียว  เธอกล่าวว่า

“การตัดสินใจในการปฏิเสธวีซ่าหรือการตัดสินใจที่จะเพิกถอนสิทธิต่างๆ จะกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ ซึ่งในขั้นตอนนี้จะไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการดำเนินการ”

นาง โกไลท์ลี ยังปฏิเสธในเรื่องการลดตำแหน่งงานเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงนี้อีกด้วย

“จุดประสงค์ของเราคือ เราจะไม่สูญเสียพนักงานของเราเนื่องจากการนำระบบคอมพิวเตอร์นี้มาใช้ สรุปคือเรามีงานมากพอกับจำนวนพนักงานของเรา” นาง มาลิสา โกไลท์ลี  ยืนยัน
Malisa Golightly azungumza katika kikao cha kamati ya Seneti ya sheria na maswala yakikatiba
นาง มาลิสา โกไลท์ลี รองเลขาธิการกลุ่มงานการบริการวีซ่าและการเป็นพลเมือง Source: SBS
จ่ายแพงกว่าได้วีซ่าเร็วกว่า

นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าว การจัดจ้างเอกชนมาดำเนินการประมวลผลวีซ่าอาจทำให้ผู้สมัครบางรายเสียเปรียบ โดยมีตัวอย่างจากประเทศอังกฤษที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและทนายความหลายคนได้ยื่นเรื่องดำเนินการสอบสวนภาคเอกชนที่เข้ามาดำเนินการระบบประมวลผลวีซ่า หลังเกิดเหตุการณ์สำนักงานนายหน้ารับทำวีซ่าหลายแห่งได้รับผลประโยชน์หลายล้านปอนด์จากระบบนี้ ซึ่งทำให้ผู้สมัครขอวีซ่าถูกบังคับให้จ่ายเงินค่าวีซ่าสูงมาก และต้องเดินทางไกล เพื่อมาสมัครเป็นพลเมืองของสหราชอาณาจักร

นาง เมลลิสา ดอนเนลลี  จากสหภาพภาคบริการชุมชนและสาธารณะ เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“ในสหราชอาณาจักร การจัดจ้างเอกชนมาดำเนินการเรื่องนี้ส่งผลให้ผู้สมัครต้องจ่ายค่าทำวีซ่าในราคาที่เกินจะรับไหว ซึ่งผู้สมัครเหล่านี้ถูกเอาเปรียบ โดยการที่บริษัทเอกชนเหล่านี้จะดำเนินการอย่างล่าช้าเพื่อให้ผู้สมัครสนใจที่จะใช้บริการในระดับชั้นเยี่ยมที่อาจจะทำให้พวกเขาได้รับการพิจารณาวีซ่าเร็วขึ้น” 

นาง ดอนเนลลี กล่าวต่อไปว่า

“แก่นของการบริการประเภทนี้ก็คือ ถ้าผู้สมัครรายใดสามารถจ่ายแพงก็สามารถเข้าถึงบริการที่ดีกว่าได้ ซึ่งมันขัดกับความคาดหวังของชุมชนต่อการให้บริการอย่างมาก”  นาง เมลลิสา ดอนเนลลี เผย

นาย ไมเคิล เวทเทส จาก Public Services International เสริมว่า

“ค่าใช้จ่ายในการสมัครวีซ่าของผู้สมัครจากต่างประเทศนั้นเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 14 - 72 ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเป็นวีซ่าประเภทใด และมีบริการเสริมที่คุณเลือกได้ในราคาตั้งแต่ 5-1000 ปอนด์ ซึ่งพบว่า บริการเสริมเหล่านี้มีส่วนช่วยในการดำเนินการเรื่องวีซ่าให้เร็วขึ้นได้น้อยมากหรือไม่มีเลย นี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขามุ่งเน้นเรื่องผลกำไรมากกว่าคุณภาพ” นาย ไมเคิล เวทเทส สรุป

You can check out the full version of this story in English on SBS News .

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 4 November 2019 9:28pm
Updated 12 August 2022 3:22pm
By Brett Mason, Matt Connellan
Presented by Chayada Powell
Source: SBS News

Share this with family and friends