พูดคุยสงกรานต์ 2564: สงกรานต์ไกลบ้านท่ามกลางโควิด-19

เนื่องในวาระสงกรานต์ปีใหม่ไทย เอสบีเอส ไทย สอบถามความคิดเห็นของพี่น้องคนไทยเกี่ยวกับสงกรานต์ในออสเตรเลียท่ามกลางข้อจำกัดจากโควิด-19 พร้อมเก็บภาพบรรยากาศจากวัดไทยนครเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย

ขันน้ำลอยดอกไม้ สงกรานต์

Source: Getty Images/Teerawut Bunsom/EyeEm

ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่หลายท้องที่ในออสเตรเลียอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องการจัดงานเทศกาลขนาดใหญ่ อีกทั้งการเดินทางไปมาหาสู่กับเมืองไทยยังทำได้ลำบาก เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

ถึงกระนั้น ช่วงเดือนเมษายนนี้ วัดไทยในหลายรัฐหลายเมืองยังคงจัดงานบุญสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีไทยในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย

แม้ส่วนใหญ่เลือกเน้นกิจกรรมตามศรัทธาทางศาสนา ปรับส่วนสีสันรื่นเริงลงกว่าแต่ก่อนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่ก็นับเป็นโอกาสให้พี่น้องคนไทยในออสเตรเลียได้มาพบปะทักทาย ระลึกถึงวัฒนธรรมไทยอันเป็นรากเหง้าร่วมกันของเรา

เอสบีเอส ไทย ชวนพูดคุยแบ่งปันมุมมองในประเด็นนี้ เก็บบรรยากาศจากวัดไทยนครเมลเบิร์น เมืองบ็อกซ์ฮิลล์ รัฐวิกตอเรีย
วัดไทยนครเมลเบิร์น เมืองบ็อกซ์ฮิลล์ รัฐวิกตอเรีย
ภาพบรรยากาศจากวัดไทยนครเมลเบิร์น เมืองบ็อกซ์ฮิลล์ รัฐวิกตอเรีย Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat

เทศกาลสงกรานต์มีความหมายอย่างไร เมื่อตัวไกลจากบ้านเกิด

นอกจากงานวัฒนธรรมไทยแล้ว คงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่า วัดไทยไม่ว่ารัฐใดเมืองใด เป็นศูนย์รวมใจสำคัญของชุมชนคนไทยในออสเตรเลีย คงรักษาไว้ซึ่งขนบประเพณีไทยสืบต่อมาอย่างแน่นแฟ้น

“คนไทยมาอยู่ต่างแดน เราก็ยังยึดมั่นกับวัฒนธรรมของเรา สิ่งที่รวมคนไทยที่นี่ได้คือวัด” คุณเจน กล่าวถึงความสำคัญของวัดไทยในเทศกาลสงกรานต์

“ประเพณีสงกรานต์มีทุกปี ต่อให้เรามาอยู่ต่างประเทศแต่เราสามารถสืบสานวัฒนธรรมของเรา ถึงแม้จะไม่เต็มรูปแบบนัก แต่ก็เป็นการดีสำหรับพี่น้องคนไทยที่ได้มารวมตัวกัน ได้มาทำบุญ”

คนไทยร่วมแบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับสงกรานต์ในออสเตรเลีย
คุณเจน คุณเต้ย และคุณเนเน่ คนไทยที่มาร่วมแบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับสงกรานต์ในออสเตรเลีย Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat


เช่นเดียวกับคุณเต้ยที่มองว่า แก่นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันในวันสงกรานต์มาแต่เดิมอย่างการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่หรือเข้าวัดทำบุญ ยังคงไม่สูญหายไปแม้อยู่ต่างแดน

“ที่ออสเตรเลียเรามารวมตัวกันที่วัด ส่วนมากจัดประเพณีสรงน้ำพระเป็นหลัก คนก็มาทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทย”

นอกจากนี้ ด้วยขนาดของชุมชนคนไทยและจำนวนวัดไทยที่นี่ บางคนมองว่าเป็นโอกาสเอื้อให้ชุมชนได้ใกล้ชิดกับวัดยิ่งขึ้น

[สงกรานต์]ค่อนข้างเหมือนที่ไทย มีประแป้ง สาดน้ำ มีสรงน้ำพระ... แต่จะได้ความใกล้ชิดมากกว่า” คุณยุพินให้ความเห็นเกี่ยวกับสงกรานต์วัดไทย

“คนที่เมืองไทยไม่ค่อยเข้าใกล้หาพระ เขาจะอยู่ห่าง อันนี้คุยได้ แต่ปีนี้ไม่มีสีสัน จัดอะไรไม่ได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว”

วัดไทยนครเมลเบิร์น เมืองบ็อกซ์ฮิลล์ รัฐวิกตอเรีย
ภาพบรรยากาศจากวัดไทยนครเมลเบิร์น เมืองบ็อกซ์ฮิลล์ รัฐวิกตอเรีย Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat

คิดเห็นอย่างไรกับสงกรานต์ท่ามกลางโควิด

วัดไทยนครเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย เป็นหนึ่งในหลายวัดที่ปีนี้ยังคงจำกัดรูปแบบงานประเพณีสงกรานต์ จากที่เคยเป็นกิจกรรมใหญ่ให้คนในชุมชนทั้งชาวไทยและเชื้อชาติอื่นนับหลายร้อยคนได้มาร่วมพบปะสังสรรค์ ก็ปรับให้เรียบง่ายขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่นัก

“ทางวัดก็จะแจ้งนะคะ พระท่านจะให้เว้นระยะห่างเพื่อป้องกันตัวเอง และมีการใส่มาส์ก ซึ่งพระท่านแนะนำทุกครั้ง เป็นการป้องกันโควิดเพื่อทุกคนด้วย” คุณเจนอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสงกรานต์ช่วงโควิด

แม้จะเสียดายที่สงกรานต์ในเมลเบิร์นปีนี้ยังคงไม่ได้จัดเต็มรูปแบบเหมือนเมื่อก่อน แต่หลายคนเข้าใจดีว่าต้องปรับตัวตามสถานการณ์

“ทุกคนก็อยากมาร่วมงาน มาพบปะคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างแดน ถ้าไม่ได้จัดก็เหมือนเป็นการเสียโอกาส ไม่ได้พูดคุย มาทำความรู้จัก หรือมาขอพรช่วงวันขึ้นปีใหม่ที่คนไทยปฏิบัติกันมาตลอด” คุณเต้ยกล่าว

“แต่ถามว่าถึงขั้นเสียใจหรือผิดหวังไหม ก็คงไม่ เพราะทุกคนต้องยอมรับในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น... เป็นเกือบทุกที่ทั่วโลก”

คนไทยร่วมแบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับสงกรานต์ในออสเตรเลีย
คุณยุพินและคุณสุมิตรา คนไทยที่มาร่วมแบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับสงกรานต์ในออสเตรเลีย Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat


คุณสุมิตราเป็นอีกท่านหนึ่งที่มาร่วมงานบุญที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ ครั้งนี้เธอมองว่าควรช่วยกันปฏิบัติตามกติกาส่วนรวมเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยไว

“โควิดมันเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อมาแล้วเราก็ต้องอยู่กับเขาให้ได้ ต้องปรับตัวให้ได้”

“สิ่งที่เขาห้ามทำเราก็อย่าไปทำ อย่าไปฝืน... ถ้าเราช่วยกันระมัดระวัง มันก็จะยุติได้เร็ว”

สงกรานต์บ้านเกิดที่คิดถึง

คนไทยไม่น้อยที่ย้ายถิ่นฐานมาที่นี่กล่าวว่ายังคงรู้สึกผูกพันกับเทศกาลสงกรานต์ที่บ้านเกิด ยิ่งปีนี้ไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้เพราะออสเตรเลียยังคงปิดพรมแดน

คุณยุพินเล่าว่าเดินทางกลับไทยช่วงสงกรานต์ทุกปี ตั้งแต่เดินทางลำบากเพราะสถานการณ์โควิดก็ยังไม่ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิด

“คิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ คิดถึงครอบครัวที่เมืองไทย”

ไม่ใช่แค่ตัวคุณยุพินเองเท่านั้น ลูก ๆ ของเธอก็คิดถึงบรรยากาศความสนุกสนานของฤดูเล่นน้ำสงกรานต์แบบไทย ๆ ไม่แพ้กัน

“ลูก ๆ คิดถึง เขาได้เล่นเต็มที่กว่า... ที่นี่ได้พูดได้คุย สนุกคนละอย่าง เงียบหน่อย ที่นู่นเด็ก ๆ ได้ลุยเต็มที่ ได้ฉีดน้ำ ที่นี่ไม่มี มีก็เล่นไม่ค่อยได้” คุณยุพินเล่า
วัดไทยนครเมลเบิร์น เมืองบ็อกซ์ฮิลล์ รัฐวิกตอเรีย
ภาพบรรยากาศจากวัดไทยนครเมลเบิร์น เมืองบ็อกซ์ฮิลล์ รัฐวิกตอเรีย Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat
เมื่อถามถึงสิ่งที่คิดถึงเกี่ยวกับสงกรานต์ที่ไทย หลายคนเห็นตรงกันว่า ในบรรดาสีสันทั้งหลายของเทศกาล ที่คิดถึงที่สุดคือช่วงเวลาที่ได้อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว อย่างเช่นความเห็นของคุณเนเน่

“เวลาที่ได้อยู่กับครอบครัวค่ะ... ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ไปสาดน้ำ เน้นเข้าวัดทำบุญ กินข้าวกับครอบครัว”

เช่นเดียวกับคุณสุมิตราที่บอกว่า คิดถึงกิจวัตรร่วมกับครอบครัวช่วงสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้ใกล้ชิดกับลูกหลานและญาติพี่น้อง

“เช้าเราก็ไปทำบุญให้พ่อแม่เนื่องในวันสงกรานต์ แล้วสรงน้ำพระ ก่อกองทราย ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ ร่วมกับญาติพี่น้อง”

วัดไทยนครเมลเบิร์น เมืองบ็อกซ์ฮิลล์ รัฐวิกตอเรีย
ภาพบรรยากาศจากวัดไทยนครเมลเบิร์น เมืองบ็อกซ์ฮิลล์ รัฐวิกตอเรีย Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat


ทีมงานเอสบีเอส ไทย ขอร่วมส่งความปรารถนาดีแด่ทุกท่านเนื่องในวาระดิถีปีใหม่ไทย สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์

เชิญฟังเสียงสัมภาษณ์ฉบับเต็มในพอดคาสต์พิเศษ เทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 ทางลิงก์ด้านล่างนี้
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 14 April 2021 5:26pm
Updated 14 April 2021 5:33pm
By Phantida Sakulratanacharoen

Share this with family and friends