การหลอกให้รักแล้วลวงเอาเงินพุ่งสูงช่วงโควิด

จากข้อมูลล่าสุดชี้ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างโอกาสเหมาะให้มิจฉาชีพสามารถหลอกลวงผู้คนที่กำลังมองหาความรักออนไลน์ คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) รายงานว่า มีการแจ้งเข้ามาถึงการหลอกลวงจากการหาคู่ออนไลน์เกือบ 2,000 กรณี ซึ่งเหยื่อสูญเสียเงินรวมกันกว่า 28 ล้านดอลลาร์ระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมปีนี้ (2021)

Scam

Lockdown has given cyber criminals yet another opportunity to test new methods of scamming Australians. Source: Getty Images/fizkes

การหลอกลวงจากการหาคู่ออนไลน์ หรือการหลอกให้รักแล้วลวงเอาเงิน ซึ่งเรียกกันว่า ‘catfishing’ ฉวยโอกาสจากความต้องการด้านอารมณ์ของเหยื่อ และหลอกลวงเอาเงินหรือขโมยข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ปลอมแปลงอัตลักษณ์ ในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งทำให้เกิดความโดดเดี่ยวทางสังคมและความเหงาใจ ขณะนี้จึงมีผู้คนมากขึ้นที่หันไปหาความรักออนไลน์

เอทริปเปิลซี (ACCC) สังเกตว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดกระแสของ “การใช้ความรักมาล่อเหยื่อ”

‘catfishing’ คืออะไร

ดร.ริเทช ชักห์ (Ritesh Chugh) ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยเซ็นทรัล ควีนส์แลนด์ (CQ University) กล่าวว่า “การที่ผู้คนอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้นเนื่องจากการทำงานจากบ้านระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ทำให้โจรออนไลน์มีโอกาสในการหลอกลวงผู้คนได้มากขึ้น”

“Catfishing คือการเสแสร้งหรือแอบอ้างว่าเป็นคนอื่น โดยอาจใช้ภาพหรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลจริงๆ และสร้างโปรไฟล์ (profile) ออนไลน์ปลอมๆ ขึ้นมา ด้วยจุดประสงค์ที่จะใช้หลอกเหยื่อที่มองหาความรักออนไลน์”

“ให้ระวัง catfish (ผู้แอบอ้างว่าเป็นคนอื่น) แทนที่จะเป็น cupid (กามเทพ)”

“การสร้างโปรไฟล์ (profile) ปลอมๆ ขึ้นมานั้นมักสร้างบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหรือแอพพลิเคชันออนไลน์เดตติง โดยใช้ภาพของคนจริงๆ” ดร.ริเทช ชักห์ กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า ไม่ใช่เพราะผู้คนขาดการติดต่อพบปะกับผู้คนหรือขาดความรัก จึงทำให้มีการหลอกลวงประเภทนี้เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะการขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีจึงทำให้มิจฉาชีพหลอกลวงผู้คนได้มากขึ้น
scam
Dr Ritesh Chugh, a socio-technological expert from CQUniversity, warns against oversharing of personal information online. Source: Supplied by Ritesh Chugh
นางสาวเอ ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ เป็นหญิงวัย 35 ปีเชื้อสายอินเดียที่อาศัยอยู่ในนครบริสเบน เธอใช้เว็บไซต์หาคู่ต่างๆ มาเกือบ 2 ปีแล้ว เธอโชคดีที่ไม่เคยถูกหลอก

“ฉันระมัดระวังอย่างมากและมองหาสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลต่างๆ เมื่อพูดคุยผ่านเว็บไซต์เหล่านี้ เช่นว่า เบอร์โทรศัพท์ที่ให้มาเป็นเบอร์จริงหรือเปล่า หรือโปรไฟล์ (profile) ทางสื่อโซเชียลเป็นของจริงหรือไม่ และฉันไม่เคยให้รายละเอียดบัญชีธนาคารของฉันกับใคร” หญิงวัย 35 ปีที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อผู้นี้ กล่าว

แต่ใช่ว่าทุกคนจะรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่หลอกให้รักแล้วลวงเอาเงิน เพราะจากข้อมูลที่มีการแจ้งไปยัง Scamwatch พบว่า การหลอกลวงผ่านการหาคู่ออนไลน์ เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนผู้หญิงสูญเงินไปสูงสุดในปี 2020

Scamwatch เป็นเว็บไซต์ของเอทริปเปิลซี (ACCC) ที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ เกี่ยวกับการสังเกต การหลีกเลี่ยง และการแจ้งเกี่ยวกับการหลอกลวงต่างๆ

ข้อมูลจาก ACCC กรณี ‘catfishing’

จากข้อมูลของเอทริปเปิลซี (ACCC) ประชาชนอายุระหว่าง 25-34 ปีเป็นกลุ่มคนที่สูญเสียเงินให้แก่การหลอกลวงผ่านการหาคู่ออนไลน์มากที่สุดคิดเป็นจำนวนเงินรวม 7.3 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020

โฆษกของเอทริปเปิลซีอธิบายว่า "นี่เป็นการผสมผสานการหลอกให้รักแล้วลวงเอาเงินกับการหลอกให้ลงทุน ในเบื้องต้นโจรออนไลน์เหล่านี้จะติดต่อเหยื่อผ่านเดตติงแอพ (dating app) จากนั้นก็ย้ายไปเป็นการพูดคุยผ่านช่องทางที่มีการเข้ารหัสข้อมูลไว้ (เพื่อไม่ให้คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าถึงการพูดคยได้) เช่น Whatsapp”

“หลังจากพัฒนาความสัมพันธ์ภายในไม่กี่สัปดาห์ มิจฉาชีพจะเริ่มขอเงินจากเหยื่อและเสนอโอกาสให้เหยื่อเข้าร่วมการลงทุน ซึ่งโดยมากเป็นสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency)”

“พวกเขาจะแสดงให้เหยื่อเห็นว่าจะลงทุนอย่างไร และโดยมากแล้วเหยื่อจะได้เห็นการทำเงินได้อย่างรวดเร็วจากการลงทุนที่ว่า” โฆษกของเอทริปเปิลซี กล่าว
scam
Social media is the most common way that romance scammers find their victims. Source: AAP Image/EPA/SASCHA STEINBACH

“เงินของคุณอยู่ที่ไหนจ๊ะที่รัก?”

โฆษกของเอทริปเปิลซี กล่าวว่า องค์กรได้รับรายงาน 356 กรณีเกี่ยวกับการหลอกลวงผ่านการหาคู่ออนไลน์ โดยมีรายงานการสูญเสียเงินจากกรณีเหล่านั้นรวมกัน 5,569,619 ดอลลาร์ ซึ่งเหยื่อระบุว่า พวกเขามาจากชุมชนที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่

ขณะที่การสูญเสียจากการถูกหลอกลวงผ่านการหาคู่ออนไลน์ของประชาชนทุกกลุ่มในปี 2019 เป็นจำนวนรวมกัน 28,606,215 และเพิ่มขึ้นเป็น 38,916,120 ในปี 2020 ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากกรณีที่แจ้งไปยัง Scamwatch

“ระหว่างวันที่ 1 มกราคมถึง 31 กรกฎาคม 2021 เราพบการสูญเสียเงินให้มิจฉาชีพไปจากการหลอกลวงผ่านการหาคู่ออนไลน์เป็นจำนวนเงินรวมกัน 28,117,916 เฉพาะที่มีการแจ้งไปยัง Scamwatch ซึ่งทำให้การสูญเสียเงินโดยรวมจากการหลอกลวงผ่านการหาคู่ออนไลน์ในปี 2021 จะสูงกว่าในปี 2020”

โฆษกของเอทริปเปิลซี กล่าว พร้อมเสริมว่า คนจำนวนมากอาจตกเป็นเหยื่อไม่ได้รายงานไปยัง Scamwatch จึงทำให้จำนวนเงินที่แท้จริงที่ผู้คนสูญเสียจากการหลอกลวงประเภทนี้อาจสูงกว่าที่มีการรายงานเข้ามาอย่างมาก

จะป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออย่างไร

ดร.ริเทช ชักห์ (Ritesh Chugh) ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยเซ็นทรัล ควีนส์แลนด์ (CQ University) แนะนำไม่ให้ประชาชนแชร์ข้อมูลส่วนตัวมากเกินไปในโลกออนไลน์ และแนะนำให้ใช้บริการ Google alerts ที่จะแจ้งให้เราทราบเมื่อใดก็ตามที่ชื่อของเราถูกค้นหาในอินเทอร์เน็ต และให้ใช้ Google reverse image search เพื่อค้นหาว่าภาพในโปรไฟล์ปรากฎในที่อื่นใดอีกหรือไม่

“ให้สังเกตสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล เช่น ผู้ที่แอบอ้างนั้นขอเงินจากคุณ หรือขอรูปภาพโป๊เปลือยหรือวิดีโอจากคุณ หรือมีการพูดโกหก การให้คำตอบที่คลุมเครือ และปฏิเสธที่จะพบกันซึ่งๆ หน้า”

“ให้ลองพูดคุยผ่านวิดีโอแชตกับบุคคลนั้นเพื่อดูว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ หากเป็นตัวปลอม ความพยายามต่างๆ ที่จะพูดคุยผ่านวิดีโอแชตจะไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ขอให้ลองขอภาพเซลฟี (selfies) เพราะคนที่แอบอ้างเป็นคนอื่นอาจไม่สามารถเข้าถึงภาพเซลฟีของคนที่นำมาแอบอ้างได้เสมอไป” ดร.ชักห์ แนะนำ

“ขอให้ระมัดระวัง และหากไม่แน่ใจ อย่าอายที่จะขอความช่วยเหลือ หากคุณถูกหลอกลวง ให้ปิดกั้นการติดต่อทั้งหมดจากมิจฉาชีพหรือผู้ที่แอบอ้างนั้นและให้แจ้งไปยัง Scamwatch ทันที”
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

นักกำหนดอาหารแนะเทคนิคสู้น้ำหนักตัวสะสมช่วงล็อกดาวน์


Share
Published 30 August 2021 11:31am
Updated 30 August 2021 11:48am
By Natasha Kaul
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS Hindi


Share this with family and friends