"รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า" จะแก้วิกฤตค่าครองชีพในออสเตรเลียได้หรือไม่

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า หรือ Universal Basic Income (UBI) จะใช้ได้จริงในออสเตรเลีย หรือเป็นได้เพียงแนวคิดในอุดมคติ ผู้เชี่ยวชาญให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้

A graphic of a map of Australia covered in money.

Could a Universal Basic Income ever become a reality in Australia? Source: SBS

ประเด็นสำคัญในข่าว
  • Universal Basic Income (UBI) หรือรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้เงินสวัสดิการสำหรับประชาชนวัยผู้ใหญ่ทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาวิกฤตค่าครองชีพในออสเตรเลีย
  • ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่าไม่น่าจะเกิดในออสเตรเลีย แต่ก็มีหลายสิ่งที่เราเรียนรู้จากมันได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่าแนวคิดนี้สามารถให้เครือข่ายความปลอดภัย ปกป้องพนักงานจากการตกงาน และส่งเสริมความเท่าเทียมกันมากขึ้น
  • แม้การใช้แนวคิดนี้จริง ๆ จะมีความท้าทายอยู่มาก แต่ก็ได้จุดประกายให้เกิดการอภิปรายเกี่ยวกับการปรับปรุงนโยบายสวัสดิการให้ทันสมัย และจัดการกับทัศนคติเหมารวมทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับผู้รับสวัสดิการ
แบบจำลองของรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) ในออสเตรเลียได้แสดงให้เห็นว่า การให้เงินแก่ทุกคนอาจมีราคาแพง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญโต้แย้งว่าแนวคิดนี้ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1800 ได้มอบแนวคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับนโยบายที่อาจบรรเทาความยากลำบากทางการเงินจากภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) คือเงินสวัสดิการที่รัฐบาลจ่ายให้กับทุกครัวเรือนโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ถือว่าเป็น "เงินปันผล" ที่ได้รับจากการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แม้เงินสวัสดิการนี้จะทำให้บางคนตัดสินใจไม่ทำงาน แต่คนอื่น ๆ ยังคงต้องทำงาน และจ่ายภาษีที่สูงขึ้นจากรายได้ของพวกเขา

ผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวเผยว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) จะสร้างเครือข่ายความปลอดภัยสำหรับสังคม ปกป้องพนักงานจากการตกงานจากการเปลี่ยนไปเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติ และส่งเสริมความเท่าเทียมมากขึ้น

แนวคิดดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนอย่างกว้างขวาง จากการสำรวจทัศนคติทางสังคมของออสเตรเลียในปี 2019-20 (Australian Survey of Social Attitudes) พบร้อยละ 51 ของประชาชนออสเตรเลียที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ อย่างไรก็ตาม การนำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้นั้นมีความท้าทายอยู่หลายอย่าง โดยอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดคือการระดมทุน

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจะเป็นอย่างไรในออสเตรเลีย

รศ.เบ็น ฟิลิปส์ (Ben Phillips) จากศูนย์การวิจัยทางสังคมและวิธีการทางสังคม (Centre of Social Research and Methods) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) กล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่าแบบจำลองรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) ที่เขาคำนวณนั้น “แพงมาก” รูปแบบนี้จะทำให้ผู้ใหญ่แต่ละคนในออสเตรเลียได้รับเงิน 27,600 ดอลลาร์ต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับเงินบำนาญในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวจะไม่ได้ทดแทนโครงการเงินสวัสดิการรัฐอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น เงินช่วยเหลือค่าดูแลบุตร และเงินสงเคราะห์ครอบครัวต่าง ๆ

“มันจะเพิ่มการจ่ายสวัสดิการของรัฐจาก 140,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในปัจจุบัน ขึ้นไปเป็นประมาณ 550,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีหากโครงการนี้เดินหน้าอย่างเต็มที่” รศ.ฟิลิปส์ กล่าว
รศ.ฟิลิปส์ กล่าวว่า การใช้จ่ายของภาครัฐในระดับนี้ไม่ใช่ทางเลือกเชิงนโยบายที่เป็นไปได้ และแนะนำให้ปรับปรุงระบบสวัสดิการที่มีอยู่แทน พร้อมชี้ว่าหากจะสนับสนุนเงินทุนสำหรับแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า และภาษีสินค้าและบริการ (GST) จะต้องเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25

“ถ้าอัตราภาษีปัจจุบันของคุณคือ 30 เซนต์ต่อทุกๆ 1 ดอลลาร์ มันจะกลายเป็น 60 เซนต์ต่อทุก ๆ 1 ดอลลาร์ คุณอาจต้องเพิ่ม GST จาก 10% เป็น 25% สำหรับทุกอย่าง” รศ.ฟิลิปส์ กล่าว
ในปี ค.ศ.2018 ริชาร์ด ดี นาตาเล (Richard Di Natale) อดีตหัวหน้าพรรคกรีนส์ ได้ประกาศนโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าสำหรับออสเตรเลีย โดยเสนออัตราจ่ายเงินระหว่าง 20,000 - 40,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี เพื่อให้แน่ใจว่ามีความเหมาะสมเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม นิค แม็กคิม (Nick McKim) โฆษกการคลังพรรคกรีนส์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นสำหรับบทความนี้

อีกแนวคิดหนึ่งซึ่งเสนอโดย ดร.เบ็น สไปซ์-บุตเชอร์ (Dr. Ben Spies-Butcher) ผู้อำนวยการร่วมของ Australian Basic Income Lab มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสำหรับการรับเงินสงเคราะห์รายได้ผู้หางานจ๊อบซีกเกอร์ (JobSeeker) โดยแบบจำลองนี้เรียกว่า "การรับประกันรายได้ที่สามารถดำรงชีพได้ (livable income guarantee)” ซึ่งจะคิดเป็นงบประมาณของรัฐประมาณ 103,450 ล้านดอลลาร์ และจะทำให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 12

นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายคำจำกัดความของการช่วยเหลือสังคม โดยพิจารณาจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การดูแล และการเป็นอาสาสมัคร

“ระบบสวัสดิการมีการเฝ้าระวังจำนวนมาก และการกำกับดูแลที่เข้มงวดมาก ดังนั้นแนวคิดนี้จึงบอกว่า แทนที่จะมีสิ่งนี้ซึ่งหมายความว่าคุณต้องไปนัดหมายงานหรือโปรแกรมการฝึกอบรมทั้งหมดซึ่งมักจะไร้ประโยชน์ สิ่งที่เราควรทำคือการขยายความเข้าใจของเราว่าการช่วยเหลือสังคมเป็นอย่างไร” ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ กล่าว

“ถ้าคุณดูแลผู้คน ถ้าคุณเป็นอาสาสมัครในชุมชน สิ่งเหล่านั้นก็มีความสำคัญเช่นกัน และเราควรเปลี่ยนมันให้เป็นคล้ายกับระบบภาษี”

ประเทศอื่นทดลองแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอย่างไร

มีการทดลองแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าในหลายประเทศ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ อังกฤษได้ประกาศการทดลองกับบุคคล 30 คน ซึ่งจะได้รับเงินสวัสดิการแบบไม่มีเงื่อนไขประมาณ 2,800 ดอลลาร์ต่อเดือนเป็นเวลา 2 ปี
ดร.สไปส์-บุตเชอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า มีการเพิ่มจำนวนผู้ร่วมนำร่องและการทดลองแนวคิดนี้ ซึ่งได้รับความสนใจอีกครั้งในช่วงการระบาดของโควิด-19 พร้อมย้ำว่า การทดลองเหล่านี้ดำเนินต่อไปเนื่องจากปรากฏผลลัพธ์ในเชิงบวก

“หากการนำร่องและการทดลองไม่ได้ผล พวกเขาก็คงไม่ดำเนินการต่อ” ดร.สไปส์-บุตเชอร์ กล่าว

ตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 ไอร์แลนด์ได้ดำเนินการทดลองโดยให้ศิลปิน 2,000 คนได้รับเงินรายสัปดาห์ประมาณ 525 ดอลลาร์ เพื่อให้พวกเขาสามารถมุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์ดนตรี กวีนิพนธ์ และทัศนศิลป์ โดยไม่ต้องสนใจงานประจำ โครงการนี้ไม่มีการประเมินรายได้และการถือครองทรัพย์สิน หมายความว่าผู้เข้าร่วมอาจยังมีสิทธิ์ได้รับเงินสวัสดิการอื่น ๆ และสามารถหารายได้เพิ่มเติมจากงานของพวกเขาได้

ดร.ทรอย เฮนเดอร์สัน (Dr. Troy Henderson) ผู้อำนวยการร่วมของ Australian Basic Income Lab กล่าวว่าแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าอาจส่งผลในเชิงบวกต่อสังคม แต่อย่างไรก็ตาม เขาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่ม

“แต่ผมอยากจะชี้แจงให้กว้างขึ้นว่า หากเรากำลังพูดถึงรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า เราก็อยากให้ทุกคนเข้าถึงได้” ดร.เฮนเดอร์สัน กล่าว

จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้หรือไม่

ดร. เฮนเดอร์สัน เชื่อว่าการเพิ่มความช่วยเหลือทางสังคม รวมถึงการพิจารณาเรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในความยากจนในช่วงวิกฤตค่าครองชีพในปัจจุบัน

“ผมเชื่อว่ามีข้อดีในประเด็นการพิจารณารายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้าในเวลานี้ เนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพ เมื่อเราวิเคราะห์อัตราเงินเฟ้อ เราสามารถสังเกตได้ว่าราคาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือราคาสำหรับสินค้าจำเป็นที่ผู้คนต้องการทุกวัน ไม่ใช่สินค้าทางเลือก” ดร. เฮนเดอร์สัน อธิบาย

“ดังนั้น สินค้าเหล่านั้นจึงมีความสำคัญอย่างไม่สมส่วนสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย รวมถึงผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือทางสังคมประเภทต่างๆ”
ด้าน ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ กล่าวว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจะยังไม่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคนในตอนนี้ แต่ก็สามารถลดแรงกดดันให้กับคนบางกลุ่มได้ เช่น ผู้ปกครองที่มีลูกเล็กและนักเรียน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการไม่ทำงาน

“ความไม่มั่นคงที่เกี่ยวข้องกับระบบสวัสดิการ เป็นการสร้างความทรุดโทรมอย่างยิ่ง” ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ กล่าว

“ความมั่นคงทางเศรษฐกิจไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่าต้นทุนจะสูงขนาดไหน แต่เป็นเรื่องของความสามารถในการพึ่งพาการมีรายได้ และสามารถวางแผนเพื่อตอบสนองความต้องการของคุณได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องตื่นตระหนกและเครียดอยู่ตลอดเวลาว่าอัตราจ่ายเงินช่วยเหลือจะถูกตัดหรือลดลง”

ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ เสริมว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ครอบคลุมสำหรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่จะต้องมาพร้อมกับนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยและการดูแลสุขภาพด้วย

จะมีผลอย่างไรต่อตลาดแรงงาน

หนึ่งในข้อโต้แย้งทั่วไปของการต่อต้านแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า คือการที่แนวคิดนี้จะไม่จูงใจให้คนทำงาน และจะทำให้ผลิตผลในการทำงานและเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดย ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ กล่าวว่า มีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก

“มีการทดลองมากมายทั่วโลก และการทดลองก็แตกต่างกัน ดังนั้นพวกเขาจึงกำหนดเป้าหมายไปที่สิ่งที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ค่อนข้างสม่ำเสมอคือ มันมีผลกระทบต่อตลาดแรงงานน้อยมาก” ดร.สไปซ์-บุตเชอร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม รศ.ฟิลิปส์ ไม่เห็นด้วย โดยระบุว่าเนื่องจากภาษีสูงที่เรียกเก็บจากรายได้ของประชาชน การใช้รายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้าจะไม่เป็นผลดีต่อการจ้างงานโดยรวม อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่ามันอาจจะมีผลดีต่อสุขภาพจิต

นโยบายสวัสดิการรัฐอื่น ๆ

แนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าไม่ใช่หัวข้อกระแสหลักในการอภิปรายนโยบายของพรรคการเมืองใหญ่ ๆ แต่ก็ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวคิดในการปรับปรุงนโยบายสวัสดิการให้ทันสมัย

รศ.ฟิลิปส์เชื่อว่า บางส่วนในระบบสวัสดิการนั้นมีความเข้มงวดเกินไปและควรผ่อนคลาย เขาแนะนำว่า การผ่อนคลายและทำให้ระบบมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการอย่างแท้จริง จะเป็นการมุ่งเน้นที่ดีกว่าปรับใช้แนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า

"ผมคิดว่าการผ่อนคลายบางส่วนอาจเป็นสิ่งที่ดีจะช่วยคนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส และทำให้ระบบมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการจริงๆ นั่นคือสิ่งที่ผมจะทำก่อนแทนที่จะเป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” รศ.ฟิลิปส์ กล่าว

ด้าน ดร.เฮนเดอร์สัน กล่าวว่า หากรัฐบาลพรรคแรงงานต้องการความก้าวหน้าในเรื่องสวัสดิการรัฐ อันดับแรกควรจัดการเรื่องบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและการเหมารวมว่าคนจนแบบใดสมควรได้รับ และไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือ

"ตัวอย่างคลาสสิกก็คือ เรามีคำดูถูกในออสเตรเลียที่เรียกว่า dole bludger ซึ่งหมายถึงคนที่วัน ๆ ไม่ทำอะไร กินแต่ข้าวโพดอบกรอบ และสูบบุหรี่ ขณะที่คนอื่นต้องทำงานอย่างหนัก จากนั้น เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณในวันต่อมา ก็จะกลายเป็นผู้รับเงินบำนาญที่สมควรได้รับเงินสวัสดิการ” ดร.เฮนเดอร์สัน กล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 12 June 2023 2:53pm
Updated 12 June 2023 3:12pm
By Madeleine Wedesweiler
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS


Share this with family and friends