ล็อกดาวน์โควิดกระทบสุขภาพจิตเยาวชนในออสเตรเลียอย่างไร

นักรณรงค์ด้านสุขภาพจิตชี้ ล็อกดาวน์โควิดก่อ “โรคระบาดเงา” ในหมู่เยาวชน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางรับมือสร้างเสริมกำลังใจ

Daniel Di Fluri.

Daniel Di Fluri. Source: Supplied

สถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วประเทศส่งผลให้ชีวิตชาวออสเตรเลียนับล้านต้องตกอยู่ภายใต้ล็อกดาวน์ ด้านนักรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพจิตแสดงความกังวลห่วงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเยาวชน

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสอบถามนางกลาดิส เบเรจิกเลียน มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ เกี่ยวกับตัวเลขที่รายงานโดยหนังสือพิมพ์ไนน์ (Nine) ซึ่งระบุว่า มีเด็กและวัยรุ่นเข้ารับบริการที่แผนกผู้ป่วยฉุกเฉินในรัฐนิวเซาท์เวลส์จากกรณีทำร้ายตัวเองหรือคิดฆ่าตัวตาย เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับปีก่อน

“น่าหวั่นใจอย่างยิ่งที่เห็นผู้คนต้องเผชิญความเจ็บปวดรวดร้าวทางจิตใจ โดยเฉพาะเยาวชน” นางเบเรจิกเลียนกล่าว

นักรณรงค์ชี้ว่า สถานการณ์เช่นนี้ทวีแรงกดดันต่อระบบดูแลสุขภาพที่รองรับความต้องการได้แทบไม่เพียงพอ ผู้ขอรับบริการต้องรอคอยเป็นเวลานานกว่าจะได้พบนักจิตวิทยาหรือแพทย์แม้ยามจำเป็น
ศาสตราจารย์แพทริก แมคกอร์รี (Patrick McGorry) ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรด้านสุขภาพจิต Orygen กล่าวว่า กรณีเยาวชนในออสเตรเลียถูกปฏิเสธจากแผนกฉุกเฉิน “เกิดขึ้นทุกวัน”

“เราไม่สามารถให้การดูแลต่อเนื่องหลังการรักษาแก่พวกเขาได้ เพราะผู้ให้บริการทุกรายมีรายชื่อรอรับบริการเต็มมือ เรามีปัญหาแล้วจริง ๆ ” คุณแมคกอร์รีกล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

“หากเรื่องแบบนี้เกิดกับผู้ป่วยโควิดหรือผู้ป่วยกลุ่มอื่นคงมีการดำเนินการทันที”

ศาสตราจารย์แมคกอร์รีบรรยายวิกฤตด้านสุขภาพจิตสืบเนื่องจากโควิด-19 ว่าเป็น “โรคระบาดเงา” (“shadow pandemic”) ซึ่งส่งผลต่อเยาวชนมากกว่าคนวัยอื่น

“เยาวชนเป็นประชากรกลุ่มที่เผชิญปัญหาสาหัสที่สุดมาตลอดในแง่สุขภาพจิต หนำซ้ำโรคระบาดยังกระเทือนชีวิตพวกเขามากกว่าคนช่วงวัยอื่น” ศาสตราจารย์แมคกอร์รีกล่าว

“เยาวชนมักอยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียนและมีแนวโน้มทำงานแคชวลมากกว่าคนวัยกลางคนหรือคนอายุมาก เยาวชนพึ่งพากลุ่มเพื่อนมากกว่าด้วย ตอนนี้ชีวิตประจำวันของพวกเขาถูกแยกออกจากกลุ่มเพื่อน ระบบสนับสนุนเยาวชนไม่ว่าจะเป็นครูอาจารย์ ผู้ปกครอง หรือโครงการและความช่วยเหลืออื่น ตอนนี้รองรับแทบไม่ไหวแล้ว”
An empty alleyway is seen in the central business district of Sydney during lockdown
An empty alleyway is seen in the central business district of Sydney during lockdown Source: AAP
คุณนิก บราวน์ (Nic Brown) ประธานกรรมการบริหารองค์กร batyr ซึ่งเป็นองค์กรด้านสุขภาพจิตเชิงป้องกันสำหรับเยาวชน กล่าวว่า รายงานตัวเลขเยาวชนที่เข้ารับบริการแผนกฉุกเฉินจากกรณีทำร้ายตัวเองและคิดฆ่าตัวตายนั้น “น่าสะเทือนใจ”

พร้อมกล่าวเสริมว่า ขณะที่รัฐบาลรัฐต่าง ๆ จัดสรรทุนดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพจิตและป้องกันการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การดำเนินการยังควรต้อง “หลากหลาย” กว่านี้

“การจัดสรรเงินทุนควรกระจายให้หลากหลายกว่านี้ เพื่อมุ่งเน้นลงทุนในการป้องกันและการแทรกแซงตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ลดการตีตราที่เกี่ยวข้องกับอาการทางจิต เพื่อให้ชุมชนและบุคคลมีเครื่องมือเข้าถึงบทสนทนาที่อาจเปลี่ยนชีวิตได้เหล่านี้” คุณบราวน์กล่าว

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์แมคกอร์รียังเรียกร้องให้รัฐบาลกลางเปิดช่องทางนำผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตจากต่างประเทศที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเข้ามาช่วยเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล

“เราต้องพิจารณาเปิดรับเที่ยวบินมากขึ้น ออกวีซ่าเพิ่มขึ้น และปรับทัศนคติต่อการรับผู้ปฏิบัติงานจากต่างประเทศให้ยืดหยุ่นกว่านี้” ศาสตราจารย์แมคกอร์รีกล่าว

แนวทางดูแลสุขภาพจิตของคุณ

คุณแดเนียล ดิ ฟลูรี (Daniel Di Fluri) วิทยากรและนักรณรงค์จากองค์กร batyr มีประสบการณ์ตรงกับภาวะทางสุขภาพจิต

คุณดิ ฟลูรี สนับสนุนให้ผู้ประสบปัญหาสุขภาพจิตอย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ โดยอธิบายว่า การขอความช่วยเหลือนั้นปรับทัศนคติของเรา “เปลี่ยนความอ่อนแอให้กลายเป็นความเข้มแข็ง” และช่วยก้าวข้ามการตีตราเกี่ยวกับสุขภาพจิต

“ผมพยายามพาตัวเองไปอยู่ท่ามกลางผู้คนที่มองโลกในแง่บวก คนที่ผมเปิดใจด้วยได้และสื่อสารกับพวกเขาได้อย่างสงบผ่อนคลาย” คุณดิ ฟลูรีเล่า
Daniel Di Fluri
Daniel Di Fluri. Source: Supplied
“พาตัวคุณเองไปอยู่ท่ามกลางคนที่คุณรู้สึกเชื่อใจและเปิดใจด้วยได้ ... ถึงไม่ได้เริ่มต้นที่ 100 เต็ม คุณก็พัฒนาไปพร้อมกับพวกเขาได้”

คุณดิ ฟลูรี กล่าวว่า วิธีหนึ่งที่เขามักใช้รับมือเวลารู้สึกแย่ คือ จดรายชื่อกิจกรรมที่ทำให้เขามีความสุข

“กิจกรรมพวกนี้ช่วยให้ผมรู้สึกเป็นตัวเองอย่างแท้จริง”

“ผมจดรายชื่อกิจกรรมเหล่านี้ตอนรู้สึกสบายใจ... เพื่อกลับมาดูตอนที่รู้สึกไม่ดีนัก ผมอาจเลือกกิจกรรมสักอย่างสองอย่างจากในรายชื่อแล้วพยายามทำให้ได้ภายในสองสามวัน เริ่มจัดการความรู้สึกของตัวเองให้ดีขึ้นอย่างช้า ๆ ”

เขาเสริมว่า “ผมชอบอ่านหนังสือเล่มใหม่ทุกสัปดาห์ สร้างเพลย์ลิสต์ใน Spotify สะท้อนอารมณ์ของผม สื่อความรู้สึกตอนนั้นออกมาผ่านเนื้อเพลงโดยที่ไม่ต้องพูดออกมาเอง จดบันทึกประจำวันก็ได้ กินอาหารที่มีประโยชน์ก็ดีเช่นกัน”

คุณบราวน์กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปหากจะย้ำถึง “บทบาทที่เราทุกคนทำได้ เพื่อเปิดใจพูดคุยอย่างมีความหมายกับเพื่อนหรือคนที่คุณห่วงใยที่อาจกำลังเผชิญช่วงเวลายากลำบาก”
ศาสตราจารย์แมคกอร์รีกล่าวว่า อยากให้เยาวชนรู้สึกว่าตนสามารถเชื่อมต่อกับคนที่เขาเชื่อใจหรือขอความช่วยเหลือจากบริการด้านสุขภาพจิต

“ในแง่หนึ่ง คุณอยู่ในช่วงเริ่มต้นของชีวิต เลยอาจยังไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิตพอรับมือกับความรู้สึกอันแสนเจ็บปวดเหล่านี้ ความรู้สึกสิ้นหวัง ความเหงา ความเดียวดาย” ศาสตราจารย์แมคกอร์รีกล่าว

“หากคุณกำลังเผชิญความรู้สึกแบบนี้ คุณต้องเข้าหาคนที่คุณไว้ใจแล้วพยายามขอความช่วยเหลือจากพวกเขา”

“อย่ายอมแพ้”


หากคุณต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสามารถติดต่อ บียอนด์ บลู (Beyond Blue) โทร. 1300 22 4636 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่ เยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปีสามารถติดต่อสายด่วยความช่วยเหลือ คิดส์ เฮลป์ไลน์ (Kids Helpline) โทร. 1800 55 1800

โครงการสุขภาพจิตพหุวัฒนธรรม เอ็มเบรซ () ให้การสนับสนุนบุคคลที่มีภูมิหลังหลากภาษาและวัฒนธรรม

ชาวออสเตรเลียผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสามารถติดต่อ คิวไลฟ์ (QLife) โทร. 1800 184 527 หรือเว็บไซต์  หรือค้นหาบริการช่วยเหลือที่ 

บริการข้อมูลความช่วยเหลือสำหรับเยาวชนชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 2 September 2021 3:48pm
Updated 12 August 2022 2:59pm
By Biwa Kwan, Jennifer Scherer
Presented by Phantida Sakulratanacharoen


Share this with family and friends