ผู้เชี่ยวชาญหวั่นข้อมูลผิดๆ เกลื่อนเฟซบุ๊กหลังการแบนข่าว

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การตัดสินใจของเฟซบุ๊ก ในการห้ามแสดงและแชร์ข่าวสารจากออสเตรเลียบนแพลตฟอร์มของตน จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประชาธิปไตย โดยมีความเป็นไปได้ที่จะปล่อยให้ข้อมูลที่ผิดแพร่กระจายไปทั่ว

An illustration image shows a phone screen with the ‘Facebook’ logo and Australian Newspapers at Parliament House in Canberra, Thursday, February 18, 2021. Social media giant Facebook has moved to prohibit publishers and people in Australia from sharing o

Facebook and Australian Newspapers Source: AAP Image/Lukas Coch

หลายปีแล้วที่เฟซบุ๊กถูกกดดันอย่างหนักให้ปราบปรามข่าวปลอมและข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

แต่ขณะนี้ ข่าวที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องแล้วจากสำนักข่าวที่มีชื่อเสียงของออสเตรเลีย ไม่สามารถได้รับการโพสต์ลงเฟซบุ๊กได้อีกต่อไป จึงมีความวิตกว่า สื่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่แห่งนี้กำลังกลายแห่งบ่มเพาะและแพร่กระจายของข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและข่าวปลอม

“เมื่อขาดลิงก์ที่จะนำไปยังข้อมูลที่ผ่านตรวจสอบข้อเท็จจริง สิ่งที่เราจะเห็นคือ การคาดเดาและการคาดคะเนที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย” ดร.เบลินดา บาร์เนต อาจารย์อาวุโสด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยสวินเบิร์น กล่าว

“การที่เฟซบุ๊กออกมาทำเช่นนี้ และเซ็นเซอร์เนื้อหาที่เป็นข่าวนั้น ฉันคิดว่าเป็นการโจมตีประชาธิปไตยโดยตรง”
โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ในเช้าวันพฤหัสบดี (18 ก.พ.) เฟซบุ๊กได้ยับยั้งการแชร์เนื้อหาของสำนักข่าวในออสเตรเลีย การปิดกั้นข่าว ซึ่งเฟซบุ๊กเคยขู่ว่าจะทำก่อนหน้านี้ เป็นการโต้ตอบร่างประมวลกฎหมายด้านอำนาจการต่อรองของธุรกิจสื่อ (Media Bargaining Code) ของรัฐบาลออสเตรเลีย

จากความเห็นขององค์กรกำกับดูแลด้านการแข่งขันในตลาดของออสเตรเลีย ข้อกฎหมายดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจระหว่างธุรกิจผู้ผลิตข่าวในออสเตรเลียกับแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเฉพาะ กูเกิลและเฟซบุ๊ก

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการปิดกั้นดังกล่าวเริ่มขึ้น ผลกระทบต่อสำนักข่าวต่างๆ นั้นชัดเจน

โพสต์ข่าวเป็นโพสต์ประเภทหนึ่งที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กมีปฏิกิริยาโต้ตอบต่างๆ ในออสเตรเลียมากที่สุดในวันพุธ แต่ในวันพฤหัสบดี (18 ก.พ.) โพสต์ยอดนิยม 10 อันดับแรกกลายเป็นโพสต์ขององค์กรกีฬา นักการเมือง และตำรวจ
ดร.ทิม แกรห์ม เป็นอาจารย์อาวุโสด้านสื่อดิจิทัล ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ (QUT) กล่าวว่า มีความเสี่ยงที่การตัดสินใจของเฟซบุ๊กอาจให้ความน่าเชื่อถือแก่เพจต่างๆ ที่ไม่น่าเชื่อถือ

“มันจะเปลี่ยนทิศทางให้ไปยังแหล่งข้อมูลนอกกฎหมาย หรืออกลางที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือมีความน่าสงสัย” ดร. แกรห์ม บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

ตัวอย่างเช่น หนึ่งในเพจของกลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในออสเตรเลีย ยังคงสามารถเข้าถึงได้

“นี่เป็นเนื้อหาข้อมูลประเภทที่ผมคิดว่าจะถูกเลือกให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นได้มากขึ้น เพราะมันยังคงอยู่ (บนเฟซบุ๊ก)ขณะที่สำนักข่าวกระแสหลักและสื่อต่างๆ ไม่อยู่แล้ว”

ชุมชนชายขอบ

หนึ่งในผลกระทบซึ่งน่าวิตกที่อาจเกิดขึ้นจากการปิดกั้นข่าวในออสเตรเลียคือ มันจะส่งผลกระทบต่อชุมชนชายขอบ และชุมชนหลากวัฒนธรรมต่างๆ ในออสเตรเลียอย่างไร

คุณแมรี พาเทตซอส ประธานสภาชุมชนชาติพันธุ์แห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า สำคัญอย่างยิ่งที่ข้อมูลต่างๆ ที่ให้แก่กลุ่มชุมชนหลากวัฒนธรรมบนเฟซบุ๊กต้องถูกต้อง เนื่องจากหลายชุมชนพึ่งพาเฟซบุ๊กอย่างมากในด้านข่าวสาร

“เพราะเราต้องพึ่งพาเฟซบุ๊ก ตอนนี้เราจึงต้องพยายามหาทางออกอื่นๆ หากเฟซบุ๊กไม่สามารถให้เราทำได้อีกต่อไป”

“มันเป็นความเสี่ยงอย่างแท้จริง หากข้อมูลใดๆ ที่ออกไปนั้นไม่ถูกต้อง เราต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อแก้ไข”

ในคำแถลงจาก เอสบีเอส ออสเตรเลีย ซึ่งเพจข่าวของเอสบีเอสหลายเพจถูกเฟซบุ๊กปิดกั้น กล่าวว่า เอสบีเอส ผิดหวังอย่างยิ่ง ที่เฟซบุ๊กจะไม่แชร์ข้อมูลสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน ที่เอสบีเอส นำเสนอเป็นภาษาต่างๆ กว่า 60 ภาษาให้แก่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก

“สำหรับหลายๆ คนแล้ว เฟซบุ๊กเป็นแหล่งข้อมูลหลัก และการปิดกั้นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้อย่างเอสบีเอส ทำให้ผู้คนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” โฆษกเอสบีเอส ระบุในคำแถลง
คุณอาจสังเกตว่า เอสบีเอส ไทย ไม่มีความเคลื่อนไหวบนเฟซบุ๊ก แต่คุณยังสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเรา ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้ท่านพลาดสถานการณ์ล่าสุด

นอกจากนี้ คุณยังสามารถรับฟังข่าวสารล่าสุดเป็นภาษาไทยผ่านทางวิทยุออนไลน์ได้ที่แอปฯ SBS Radio

Share
Published 19 February 2021 2:05pm
Updated 19 February 2021 2:12pm
By Rashida Yosufzai
Presented by Parisuth Sodsai


Share this with family and friends