ทีมนักวิจัยออสฯ ผุดไอเดียใช้ภูมิต้านทานจากอัลปากาต้านโควิด-19

Alpacas have a unique immune system

Alpacas have a unique immune system Source: Getty

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

ขณะนี้ทั้งในออสเตรเลียและทั่วโลกต่างมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาและผู้เสียชีวิตมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้านทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียกำลังทำการวิจัยแนวใหม่โดยการใช้ภูมิต้านทานจากอัลปากาเพื่อยับยั้งไวรัสโควิด-19


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงานเรื่องนี้

ในขณะที่เหล่านักวิทยาศาสตร์กำลังขะมักเขม้นพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ทีมนักวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลียก็กำลังทดลองใช้วิธีการที่ไม่เหมือนใคร โดยโครงการการวิจัยนี้ได้นำเอาอัลปากามาเป็นส่วนหนึ่งในการทดลอง เนื่องจากพบว่าระบบภูมิคุ้มกันของอัลปากานั้นอาจเป็นกุญแจสำคัญในการค้นพบอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการป้องกันไวรัสโคโรนา

ที่มาของโครงการวิจัยใช้ภูมิต้านทานจากอัลปากา

ประเทศเบลเยี่ยม เป็นประเทศแรกที่ค้นพบเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของอัลปากา และนำมาทดลองใช้ครั้งแรกในระหว่างการแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ ในปี 2002 จนกระทั่งในปี 2020 การวิจัยดั้งเดิมถูกปัดฝุ่นมาใช้ในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19  เหล่านักวิจัยจาก Australia's Nuclear Science and Technology Organisation (ANSTO) ทำงานร่วมมือกับสถาบันวอเตอร์และอลิซา ฮอล์ (the Walter and Eliza Hall Institute) ในการศึกษาวิจัยภูมิต้านทานของอัลปากาเพื่อจะนำมาสร้างตัวยาที่รักษาไวรัสโควิด-19

นี่ไม่ใช่โครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา แต่มันเป็นโครงการที่พยายามจะสร้างภูมิต้านทานที่สามารถช่วยให้ร่างกายของคนเราต่อสู้กับไวรัสได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วาย ฮอง ทาม (Wai-Hong Tham) ประธานร่วมของภาควิชาระบาดวิทยาและระบบคุ้มกันของสถาบัน วอเตอร์และ อลิซา ฮอล์ เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ามันอาจเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตผู้คนได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในสถานดูแลคนชรา 

“เราไม่ได้พัฒนาวัคซีน แต่เรากำลังนำภูมิต้านทานกลับเข้าสู่ร่างกายคนไข้ และนี่คือการรักษาที่เราเรียกว่าการรักษาโดยใช้ภูมิต้านทาน (antibody based therapies) เราดึงเอาแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันที่สามารถระงับการติดเชื้อของไวรัสโคโรนาได้และนำกลับเข้าไปในร่างกายใหม่ คุณสามารถใช้การรักษาแบบนี้ได้ในสถานดูแลคนชราเพื่อเป็นตัวยาที่ใช้ในการป้องกันโรค”

กระบวนการใช้ภูมิต้านทานของอัลปากาในการรักษาโรค

ทีมนักวิจัยกำลังใช้เทคนิคที่มีความซับซ้อน เรียกว่าผลึกวิทยา (crystallography) เพื่อช่วยในการตรวจสอบโครงสร้างของโมเลกุลทางชีววิทยาที่มีความละเอียดอ่อนจนถึงระดับของอะตอมเดี่ยว เทคนิคที่ใช้คือการศึกษากระบวนการทางชีววิทยาและโรคต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาตัวยาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค

ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการนำเอานาโนบอดี (nanobodies) ซึ่งเป็นอนุภาคของภูมิต้านทาน และใช้โมเลกุลเหล่านี้มาสร้างการตอบสนองกับการติดเชื้อ โดยการฉีดภูมิคุ้มกันที่มีผิวโปรตีน ที่เรียกว่า "spike protein" จาก SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิด โควิด-19 เข้าไปในอัลปากา  เหล่านักวิทยาศาสตร์สามารถแยกนาโนบอดี ที่มีความสามารถเข้าไปยับยั้งการทำงานของผิวโปรตีนที่ทำให้เซลล์ของมนุษย์ติดเชื้อได้

ศาสตราจารย์ ไมเคิล เจมส์ (Micheal James) นักวิทยาศาสตร์หัวหน้าโครงการวิจัยเกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาคของออสเตรเลีย อธิบายถึงกระบวนการนี้ว่า

“คุณนึกดูว่าถ้าเราป่วยจากไวรัสหรือแบคทีเรีย ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะช่วยต่อสู้กับผู้บุกรุกโดยสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาในร่างกายของอัลปาคาก็เช่นกันพวกมันก็สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาแต่เป็นประเภทที่สอง ชื่อว่า นาโนบอดี ซึ่งนาโนบอดีนี้ดูจะมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับไวรัสที่เข้ามาในร่างกาย เรากำลังทำความเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร ซึ่งมันอาจมีความเป็นไปได้ที่เราจะใช้มันเพื่อเป็นตัวยายับยั้งการติดเชื้อไวรัส เช่นไวรัส โควิด-19 เป็นต้น”

ผลการวิจัยในปัจจุบัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทาม กล่าวว่า การวิจัยที่เริ่มต้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้นมีผลการวิจัยที่เต็มไปด้วยความหวัง

“ความคืบหน้าในตอนนี้คือ เรามีอัลปากาที่ฉีดภูมิคุ้มกันด้วยอนุภาคที่ไม่ติดเชื้อของผิวโปรตีน ซึ่งผิวโปรตีนหรือ spike protein นี้นำมาจากไวรัสโคโรนา และเราสร้างแบบที่ไม่ติดเชื้อขึ้นมาเพื่อที่จะฉีดเข้าไปในอัลปากา เพื่อที่พวกมันจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่ตอบสนอง และสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาได้ เราทำกระบวนการนี้เสร็จสิ้นแล้ว และพบว่าเราได้ภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองกับผิวโปรตีนได้เป็นอย่างดี และตอนนี้เราได้จำลองเอายีนส์ของนาโนบอดีที่ได้จากอัลปากาออกมา เราสามารถแยกวิเคราะห์กลุ่มของนาโนบอดีที่สามารถป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์ในจานเพาะเชื้อได้”

หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ทีมนักวิจัยเชื่อว่ามันจะเป็นจุดสูงสุดอย่างหนึ่งของอาชีพเพราะพวกเขาสามารถช่วยชีวิตผู้คนได้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วาย ฮอง ทาม ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า

“มันคือการก้าวไปอีกขั้น มันคือสิ่งที่น่าตื่นเต้น เรามีการแบ่งปันความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างมหาศาล มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มันเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจมากที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชนนักวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลีย”

ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตมหานครของเมลเบิร์น (Metropolitan Melbourne) อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ระดับ 4 และจะต้องปฏิบัติตามการห้ามออกจากเคหสถานระหว่างเวลา 20.00 น.-5.00 น.

ในระหว่างช่วงเวลาที่ห้ามออกจากเคหสถาน ประชาชนในเมลเบิร์นจะสามารถออกจากบ้านได้ เพื่อไปทำงาน หรือไปรับบริการด้านสุขภาพหรือไปรับการดูแลที่จำเป็น หรือเพราะเหตุผลด้านความปลอดภัยเท่านั้น

ระหว่างเวลา 5.00 น. เป็นต้นไปจนถึงเวลา 20.00 น. ประชาชนในเมลเบิร์นจะสามารถออกจากบ้านได้ เพื่อออกกำลังกาย เพื่อไปซื้อของจำเป็นและไปรับบริการที่จำเป็น ไปทำงาน ไปรับบริการด้านสุขภาพ หรือไปให้การดูแลญาติที่ป่วยหรือผู้สูงอายุเท่านั้น

รายละเอียดข้อจำกัดทั้งหมดสามารถดูได้  ชาวรัฐวิกตอเรียทุกคนจะต้องสวมหน้ากากหรือผ้าปกคลุมจมูกและปากเมื่อออกจากเคหสถาน ไม่ว่าพวกเขาจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ใด

ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

การตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาขณะนี้สามารถทำได้ทั่วออสเตรเลีย หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลียยังได้มีแอปพลิเคชัน COVIDSafe เพื่อติดตามและแจ้งเตือนผู้ที่พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้จากแอปสโตร์ (app store) สำหรับโทรศัพท์มือถือของคุณ อ่านเกี่ยวกับแอปพลิเคชันนี้ 

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

ประสบการณ์ทำงานในสถานดูแลผู้สูงอายุช่วงโควิด



 

 

 

 

 

 

 

 

 


Share