ทีมนักวิทย์ฯ WHO ลงพื้นที่อู่ฮั่น หาต้นตอโควิด-19

A bus carrying members of the WHO team leaves the airport following their arrival in Wuhan on 14 January.

A bus carrying members of the WHO team leaves the airport following their arrival in Wuhan on 14 January. Source: AFP

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เดินทางไปถึงเมืองอู่ฮั่นของจีนเพื่อสืบหาที่มาของไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางการจับตาอย่างเข้มงวดจากรัฐบาลจีน ขณะที่ทั่วโลกต่างเฝ้าคอยผลการสืบสวนอย่างใกล้ชิด


ทีมนักวิทยาศาสตร์ 10 คนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เดินทางไปถึงเมืองอู่ฮั่นของจีนแล้ว ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยพวกเขาจะต้องเข้ารับการกักตัวเป็นเวลา 14 วันก่อนที่จะสามารถเริ่มต้นการสืบสวนถึงที่มาของไวรัสนี้ได้

โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากองค์การอนามัยโลกนั้น ประกอบด้วยนักสัตววิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดในระบบทางเดินหายใจ และนักระบาดวิทยา

นพ.ปีเตอร์ เบน เอ็มบารเร็ก (Dr Peter Ben Embarek) นักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก กล่าวกับสำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) ว่า พวกเขาจะทำการสืบหาว่าไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายในเมืองดังกล่าวได้อย่างไร 

“เราจะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดเชื้อในระยะแรก การติดเชื้อที่พบในมนุษย์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ปี 2019 รวมถึงตลาดเปียกอู่ฮั่นซึ่งเป็นที่โด่งดัง และดูว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น” นพ.เอ็มบาเร็ก กล่าว   

แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับมอบหมายในการสืบหาที่มาของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกเกือบ 2 ล้านรายครั้งนี้ คาดว่าอาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

มีทฤษฎีหนึ่งที่ระบุว่า ไวรัสโคโรนานั้นถูกพบในสัตว์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ามาจากค้างคาวในตลาดเปียกที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งที่นั่นเป็นตลาดค้าสัตว์ป่าที่มีชีวิต
Workers in protective suits walk past the Hankou railway station in Wuhan in April, last year.
Workers in protective suits walk past the Hankou railway station in Wuhan in April, last year. Source: AP
แต่ นายสัญจายา เสนานายาเค (Sanjaya Senanayake) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด กล่าวว่า การค้นหาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายแรกสุด (patient zero) อาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ 

ผมคิดว่า มันอาจเป็นไปไม่ได้ที่พวกเขาจะสืบหาจนพบผู้ติดเชื้อรายแรกสุดที่ได้รับเชื้อนี้มา แต่พวกเขาสามารถรู้โดยนัยได้ว่า การระบาดนั้นมาจากไหน มาอย่างไร และแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร รวมถึงการวิเคราะห์ในบทบาทต่าง ๆ ของของห้องปฏิบัติการ” นายเสนานายาเค กล่าว 

ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในจีนยังคงเพิ่มขึ้น กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากองค์การอนามัยโลก ยังต้องการที่จะเข้าถึงห้องปฏิบัติการสถาบันไวรัสวิทยาอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Virology) ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีข้อสังเกตจากคณะรัฐมนตรีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐ ฯ ว่าไวรัสโควิด-19 นั้น ได้หลุดรอดออกมาจากห้องปฏิบัติการดังกล่าว

แต่จากการจับตาของรัฐบาลจีนอย่างใกล้ชิด ทำให้มีความกังวลเพิ่มมากขึ้นในการเข้าถึงห้องปฏิบัติการและตลาดซื้อขายสัตว์ป่าในเมืองอู่ฮั่นเพื่อการสืบสวนในครั้งนี้
Marise Payne
นางมาริส เพย์น (Marise Payne) รัฐมนตรีการต่างประเทศของออสเตรเลีย Source: AAP
นางมาริส เพย์น (Marise Payne) รัฐมนตรีการต่างประเทศของออสเตรเลีย ได้แสดงความหวังว่า รัฐบาลจีนจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง 

“ความกังวลอันท่วมท้นที่เรามีต่อทีมสืบสวนในครั้งนี้ คือความโปร่งใสและความอิสระ เราจะจับตาอย่างใกล้ชิดว่าการสืบสวนไปอย่างไร ดิฉันหวังว่า ด้วยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก และทางการจีนต่อทีมสืบสวนในครั้งนี้ จะทำให้พวกเขามีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล และสถานที่ซึ่งมีความสำคัญ” นางเพย์น กล่าว    

ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2020 ที่ผ่านมา ออสเตรเลียได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนอิสระถึงที่มาของไวรัสโควิด-19 แต่มีรายงานว่า การเรียกร้องดังกล่าว ได้กลายเป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้จีนตัดสินใจกีดกันทางการค้า ในส่วนของสินค้านำเข้าจากออสเตรเลีย เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวบาร์เลย์ และไวน์

แต่ นายไมเคิล แม็กคอร์แม็ก (Michael McCormack) รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ออสเตรเลียยังคงเปิดกว้างในการติดต่อกับคู่ค้ารายใหญ่อย่างจีน

“สายโทรศัพท์ของเรายังเปิดอยู่ตลอด ประตูของเรายังเปิดกว้างเสมอ ตราบใดที่ออสเตรเลียยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าระหว่างจีน ผมทราบถึงความสำคัญที่จะทำให้แน่ใจว่าเรายังคงมีการค้าขายร่วมกับจีน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว $149,600 ล้านดอลลาร์ พวกเขาคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเรา” นายแม็กคอร์แม็ก กล่าว
Close up of covid vaccine vials
Source: AAP
แต่อย่างไรก็ตาม เขาได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น ในกรณีของอิทธิพลของรัฐบาลจีนต่อการสืบสวนที่มาของไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า เขามุ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับออสเตรเลียเพียงอย่างเดียว 

“ผมจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับข้อถกเถียงที่ว่าจีนควรทำหรือไม่ควรทำอะไร จุดมุ่งหมายของเรายังคงอยู่ที่สุขภาพของชาวออสเตรเลีย สุขภาพของชาวออสเตรเลียนั้นส่งผลต่อการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของเรา เรากำลังทำให้แน่ใจว่าเราได้รับวัคซีนจาก AstraZeneca จำนวน 140 ล้านโดส ซึ่งจะช่วยรักษาชีวิตผู้คน” นายแม็กคอร์แม็ก กล่าว 

“และไม่ใช่เพียงเท่านั้น เรายังได้จับตาในส่วนของวัคซีนจากบริษัท Pfizer อีกด้วย และเราจะทำให้แน่ใจว่า เมื่อวัคซีนได้เปิดตัวในเดือนหน้า ชาวออสเตรเลียจะสามารถเข้าถึงได้ทุกคน”     

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพได้แนะนำว่า ออสเตรเลียควรลดการพึ่งพาวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) เพียงอย่างเดียว ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำกว่าวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer)

นายเสนานายาเค ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด กล่าวว่า ออสเตรเลียควรที่จะเจรจากับบรรดาผู้ผลิตวัคซีนจากทั่วโลกต่อไป

“ในตอนนี้ มีผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดลองในมนุษย์ 63 รายในขั้นตอน แตกต่างกันไป และมี 15 รายที่กำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว" นายเสนานายาเค กล่าว

"ผมมีความหวังว่าวัคซีนจากผู้ผลิตส่วนหนึ่งจะแสดงผลลัพธ์ที่ดีในขั้นตอนที่ 3 ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ของออสเตรเลียในการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนควรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูว่ามีวัคซีนจากผู้ผลิตรายใดบ้าง และเปิดโอกาสให้ชาวออสเตรเลียเข้าถึง แม้จะเป็นจำนวนโดสเพียงเล็กน้อยก็ตาม”

“มันไม่ควรหยุดอยู่แค่วัคซีนของไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซเนก้า เราควรที่จะเสาะหา และเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนอย่างต่อเนื่อง”


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

ระวังโทรศัพท์หลอกลวงเสนอลดบิลค่าน้ำ/ไฟ/โทรศัพท์


Share