คุณแม่ชาวไทยทำกระเป๋าอุ่นใจช่วยสัตว์ป่า

Wombat with baby in its pouch and koala with baby

คุณชาย่า คอกซ์ ชาวไทยในนครเมลเบิร์น จัดกิจกรรมรวมตัวกลุ่มคุณแม่ชาวไทยทำกระเป๋าและรังนอนสำหรับช่วยเหลือสัตว์บาดเจ็บจากไฟป่า Source: Unsplash/Pixabay/SBS Thai

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

เรื่องราวของ คุณชาย่า คอกซ์ กับความตั้งใจช่วยเหลือสัตว์ป่าจากเหตุไฟป่าหายนะที่เริ่มต้นจากงานอดิเรกเย็บปักถักร้อย สู่การรวมพลังคนละไม้คนละมือจากบรรดาคุณแม่ชาวไทยในนครเมลเบิร์น


กดปุ่ม 🔊 ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังสัมภาษณ์

ท่ามกลางสถานการณ์ไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย มีความช่วยเหลือมากมายที่หลั่งไหลจากทุกสารทิศ แต่สำหรับบรรดาสัตว์ป่าในออสเตรเลียนั้น แม้จะมียอดเงินบริจาคที่สูงและสิ่งของมากมาย แต่ยังขาดแคลนสิ่งของที่สำคัญเฉพาะทางที่ใช้ในการช่วยเหลือพวกมัน

คุณชาย่า คอกซ์ (Chaya Cox) พนักงานโรงแรมชาวไทยในนครเมลเบิร์น เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้เห็นความเสียหายของไฟป่าในครั้งนี้ โดยเฉพาะความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับสัตว์ป่า และต้องการที่จะช่วยเหลือสัตว์ป่าไม่ให้ล้มตายไปมากกว่านี้จากสิ่งที่เธอทำได้

ข้อมูลจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature หรือ WWF) ได้ประมาณว่า มีสัตว์ที่ล้มตายจากเหตุไฟป่าในออสเตรเลียฤดูกาลนี้มากถึงราว 1,250 ล้านตัว

แต่สำหรับคุณชาย่า เธอคิดว่าจำนวนสัตว์ที่ล้มตายอาจมีมากกว่านั้น 

“ดูในข่าวล่าสุด ถ้ารวมสัตว์ฟาร์มด้วยก็เป็นหมื่นล้านแล้ว ซึ่งมันหดหู่มาก” เธอเล่าจากการติดตามข่าวสารของเธอ

แม้จะมีการบริจาคเงินและสิ่งของเป็นจำนวนมาก ในการช่วยเหลือและเยียวยาจากสถานการณ์ไฟป่า เธอมองว่า สัตว์ป่าในออสเตรเลียนั้นยังไม่ได้รับการดูแลมากเท่าที่ควร  

“ชุมชน บ้านเรือน ก็เห็นว่ามีองค์กรที่มาช่วยเหลือตรงนี้แล้ว แต่พอมาดูในเรื่องของการช่วยเหลือสัตว์ป่า มันยังรู้สึกว่ายังน้อย” เธอกล่าว

“สัตว์ป่าเขาไม่ได้มีโอกาสเหมือนมนุษย์อย่างเรา” เธอกล่าวเสริม 

แต่แล้วโอกาสในการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่รอดชีวิตของเธอก็มาถึง เมื่อเธอทราบข่าวเรื่องความต้องการผ้าที่ไม่ใช้แล้วสำหรับทำกระเป๋าและรังนอนสัตว์ป่าพื้นถิ่นของออสเตรเลียที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น จิงโจ้ วัลลาบี วอมแบท รวมไปถึงค้างคาว

“มีพนักงานจากโรงแรม เอาข้อมูลมาแบ่งปันกับเพื่อน ๆ ในเรื่องการขอรับบริจาคพวกผ้าปูที่นอนเก่า ๆ จากโรงแรม ปลอกหมอน เพื่อนำไปบริจาคให้กับองค์กรที่ชื่อว่า Animal Rescue Craft Guild เพื่อนำไปเย็บกระเป๋า และรังนอนให้กับสัตว์ป่าที่ถูกไฟไหม้” เธอเล่า

คุณชาย่าเล่าอีกว่า กระเป๋าหรือรังนอนเหล่านี้เป็นที่ต้องการของลูกสัตว์ป่า เพื่อทดแทนกระบวนการเลี้ยงดูและเติบโตตามธรรมชาติ จากการต้องเสียแม่ไปในเหตุการณ์ไฟป่า

จากความต้องการที่จะช่วยเหลือสัตว์ป่า และงานอดิเรกด้านเย็บปักถักร้อยที่เธอมี คุณชาย่าจึงได้รวมตัวกับคุณแม่ชาวไทยในนครเมลเบิร์น ผ่านกลุ่มเฟซบุ๊ก Melbourne Thai Mother Group เชิญชวนผู้สนใจที่มีฝีมือเย็บปักถักร้อย มาร่วมทำกิจกรรม Bushfire Wildlife Support Craft Day ในวันอาทิตย์ที่ 12 ม.ค.นี้ ในเมือง Mount Albert รัฐวิกตอเรีย เพื่อร่วมทำกระเป๋าและรังนอนสำหรับสัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บ โดยใช้แบบตัดเย็บจากกลุ่มถักร้อยเพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่า Animal Rescue Collection Craft Guild ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยสำหรับผู้สนใจที่มาร่วมงาน 

โดยกระเป๋าและรังนอนทั้งหมดจากกิจกรรมในนครเมลเบิร์น จะได้รับการจัดส่งไปยังองค์กรช่วยเหลือสัตว์ป่า East Gippsland Animal Rescue Protection ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบานส์เดล (Bainsdale) พื้นที่ภูมิภาคอีสต์ กิปส์แลนด์ รัฐวิกตอเรีย ซึ่งเป็นจุดที่เกิดไฟป่าอย่างรุนแรงเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คุณชาย่าย้ำว่า กระเป๋าทั้งหมด จะต้องตัดเย็บจากแบบที่กลุ่มเฟซบุ๊ก Animal Rescue Collection Craft Guild (ต้นฉบับภาษาอังกฤษ) ได้จัดทำขึ้น หรือฉบับแปลไทยในกลุ่มเฟซบุ๊ก Melbourne Thai Mother Group เท่านั้น ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จากเฟซบุ๊กทั้ง 2 กลุ่ม ตามภาษาที่คุณต้องการ หากตัดเย็บเป็นรูปทรงอื่นนอกจากนี้ สัตว์ป่าจะไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยในกระเป๋าได้  

ส่วนเนื้อผ้าที่สามารถใช้ได้นั้น อาจเป็นปลอกหมอน หรือผ้าปูที่นอนเก่า ๆ ที่ไม่ใช้แล้ว หรือจะเป็นผ้าใหม่ แต่จะต้องเป็นผ้าฝ้าย (คอตตอน) 100% เท่านั้น เนื่องจากสัตว์ป่าจะไม่สามารถอาศัยอยู่ในผ้าใยสังเคราะห์ เช่น ไนลอน ได้

สำหรับผู้สนใจที่ไม่สะดวกมาร่วมกิจกรรม อยู่ในรัฐอื่น หรืออยู่ในประเทศไทย คุณชาย่าแนะนำว่า สามารถร่วมกันทำกระเป๋าหรือรังนอนเหล่านี้ขึ้นได้ ทั้งทำขึ้นเอง หรือรวมกลุ่มกันจัดทำ แล้วส่งให้กับองค์กรดูแลสัตว์ป่าอื่น ๆ ในรัฐต่าง ๆ ทั่วออสเตรเลียโดยตรงได้ทางไปรษณีย์ 

อ่านรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ด้านล่าง
Facebook Event: (รายละเอียดกิจกรรม ภาษาไทย/อังกฤษ)

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share