แพทย์ไทยแนะนำผู้ป่วยโควิดจะดูแลตัวเองที่บ้านอย่างไร

แพทย์ไทยในออสเตรเลียแนะนำการดูแลตัวเองที่บ้านขณะป่วยจากโควิด

แพทย์ไทยในออสเตรเลียแนะนำการดูแลตัวเองที่บ้านขณะป่วยจากโควิด Source: Pixabay

พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์ทั่วไปในเมลเบิร์น อธิบายถึงการดูแลรักษาอาการป่วยจากโควิดที่บ้าน อาการป่วยแบบใดที่เราควรเรียกรถพยาบาล จะดูแลลูกๆ ที่ติดเชื้ออย่างไร จะป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นในบ้านได้อย่างไร และจะรับคำปรึกษาทางการแพทย์ทางโทรศัพท์ ที่ปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ไหน คุณหมอคนไทยแนะนำในประเด็นเหล่านี้


พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์จีพี (แพทย์ทั่วไป) ในเมลเบิร์น อธิบายว่า แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดในออสเตรเลีย คือการรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาล

กดฟังบทสัมภาษณ์อย่างละเอียด
LISTEN TO
Thai doctor's advice on managing Covid at home image

แพทย์ไทยแนะนำผู้ป่วยโควิดจะดูแลตัวเองที่บ้านอย่างไร

SBS Thai

28/01/202220:46
“ในออสเตรเลีย เรามีอัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก เช่น อัตราการฉีดวัคซีนเข็มที่สองสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว และเข็มสามหรือบูสเตอร์ชอตก็ราว 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันอาการป่วยที่รุนแรงจากการติดโควิด เมื่อคนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนแล้ว เมื่อติดโควิดจึงมีอาการไม่รุนแรง จึงรักษาตัวที่บ้านได้” คุณหมอ ศิราภรณ์ ทาเกิด กล่าว

ปัจจุบันนี้ในผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในออสเตรเลียยังคงต้องกักตัวตามข้อกำหนดของรัฐบาลรัฐและมณฑลต่างๆ อยู่ สำหรับในรัฐวิกตอเรีย ผู้ติดเชื้อต้องกักตัว 7 วัน โดยนับจากวันที่ตรวจเชื้อ และผู้ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกับผู้ติดเชื้อต้องกักตัวด้วย 7 วัน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกันในรัฐนิวเซาท์เวลส์ และควีนส์แลนด์ ขณะที่รัฐและมณฑลอื่นๆ นั้น กำหนดให้ต้องกักตัวนานกว่านั้น

พญ.ศิราภรณ์ ย้ำว่า ผู้ที่พบผลการตรวจเชื้อเป็นบวกจากชุดตรวจเชื้อด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็วนั้น (Rapid Antigen Test) ต้องแจ้งผลตรวจกับสาธารณสุขของรัฐ เพื่อประโยชน์ของตัวเราเอง

“เมื่อพบผลตรวจเชื้อเป็นบวกจาก Rapid Antigen Test สิ่งแรกที่ควรทำคือ ต้องแจ้งกับรัฐบาลว่าเราติดเชื้อ เพราะไม่เช่นนั้นเราจะหลุดจากระบบและไม่ได้รับการติดตามดูแลที่ดี หลังจากนั้นรัฐบาลจะแจ้งชื่อเราไปยังระบบ Covid positive care pathway ซึ่งจะเชื่อมโยงเรากับแพทย์ทั่วไป หรือบุคคลากรทางการแพทย์ของรัฐบาลที่อยู่ใกล้บ้านเรา ที่คอยติดตามดูแลผู้ ติดเชื้อโควิด” คุณหมอชี้แจง
ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในออสเตรเลียได้ขยายตัวไปในวงกว้าง คุณหมอเล่าว่าในแต่ละวันเธอต้องให้คำปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อที่เป็นคนไข้ ซึ่งมีทั้งชาวไทย ชาวลาว และชาวออสเตรเลียทั่วไปที่เป็นคนไข้จำนวนมาก คุณหมอจึงได้รับรู้อาการของผู้ติดเชื้อจากปากของผู้ป่วยโดยตรง

“ผู้ติดเชื้อจะมีอาการที่แตกต่างกันไป บางคนอาจแทบไม่มีอาการเลย บางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยเหมือนเป็นไข้หวัด หรือเฮย์ฟีเวอร์ (hay fever แพ้เกสรหรือละอองพืช) เช่น จาม น้ำมูลไหลเล็กน้อย คันตา คัดจมูก ซึ่งหมอแนะนำให้ไปตรวจเชื้อหากมีอาการเหล่านี้ เพราะเราไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะอาการเฮย์ฟีเวอร์หรือเพราะโควิด แต่คนไข้โควิดส่วนใหญ่ที่คุยกับหมอมักจะบอกว่า เขามีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยเนื้อตัว รู้สึกเหมือนมีไข้ต่ำๆ รู้สึกคันคอ เจ็บคอ ไอ น้ำมูกไหล ปวดศีรษะ บางคนอาจมีอาการท้องเสียเล็กน้อยร่วมด้วย คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อบอกกับหมอว่า พวกเขามีอาการของความรู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ ทำอะไรเยอะๆ ไม่ค่อยได้ มีอาการเหมือนกับการเป็นไข้หวัดใหญ่”

ในดูแลรักษาตัวเองสำหรับอาการป่วยจากโควิดที่ไม่รุนแรงของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วนั้น คุณหมอบอกว่าจะเป็นการรักษาตามอาการอยู่ที่บ้าน

“ถ้ามีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว ให้ทานยาพาราเซตตามอล หรือนูโรเฟน หรือโวลทาเรน ที่ซื้อได้ทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ได้ ถ้ามีอาการ เช่น คัดจมูก แน่นจมูก (blocked nose) เราสามารถใช้ยากลุ่มเดียวกับยารักษาเฮย์ฟีเวอร์ได้ อาจใช้ยาสเปรย์ฉีดพ่นจมูกช่วยลดอาการแน่นจมูกได้ หรือถ้าเรามีอาการเหมือนเป็นไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ เราสามารถกินยาประเภท cold and flu tablets (ยาเม็ดสำหรับบรรเทาอาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่) ได้ ถ้าเรามีอาการท้องเสียและปวดท้อง ก็สามารถกินยาแก้อาการปวดท้อง เช่น พาราเซตตามอล หรือมายแลนตา และดื่มน้ำเยอะและดื่มน้ำเกลือแร่ (พวก gastrolyte หรือ hydralyte) ช่วย ก็จะทำให้เราไม่มีอาการขาดน้ำในช่วงนั้น คือหลักๆ แล้วเป็นการรักษาตามอาการ” พญ.ศิราภรณ์ แนะนำ
แพทย์หญิง ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์จีพีในเมลเบิร์น
แพทย์หญิง ศิราภรณ์ ทาเกิด แพทย์จีพีในเมลเบิร์น Source: SBS Thai/Tinrawat Banyat
เธอย้ำว่า แต่หากผู้ติดเชื้อโควิดมีอาการดังต่อไปนี้ ควรเรียกรถพยาบาล โดยโทรศัพท์ไปที่หมายเลข 000 โดยทันที

“หากรู้สึกเหนื่อยจนต้องนั่งเฉยๆ ทำอะไรไม่ได้เลย หรือมีอาการหายใจลำบาก หายใจติดขัด หรือรู้สึกหน้ามืด หรือมีอาการเจ็บอก แน่นหน้าอก หรือมีรู้สึกมึนๆ บ้านหมุน รู้สึกจะเป็นลม หรือเราส่องกระจกดู แล้วเห็นปากเราซีด หรือมีสีออกฟ้าๆ เขียวๆ ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ ต้องรีบเรียกรถพยาบาลทันที” แพทย์ชาวไทยในเมลเบิร์นผู้นี้กล่าว

“ถ้าเรามีอาการท้องเสียรุนแรง อาเจียนมาก รับประทานอะไรไม่ได้เลย ในกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงของอาการขาดน้ำ ถ้าขาดน้ำมากๆ จะเกิดอาการช็อกได้ เราก็ควรติดต่อบุคคลากรทางการแพทย์หรือเรียกรถพยาบาลมา เพื่อพาเราไปตรวจเพิ่มเติม นอกจากนี้ ถ้ามีอาการไข้สูงมากติดต่อกันหลายๆ วัน และไอมากจนหายใจลำบาก คนกลุ่มนี้ก็ควรจะได้รับการตรวจ เพราะอาจมีอาการของเชื้อโควิดลงปอดได้ หรือปอดติดเชื้อเป็นภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้เช่นกัน”

คุณหมอยังได้แจ้งถึงบริการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ที่ผู้ติดเชื้อสามารถที่ติดต่อได้ เช่น บริการ เนิร์ส ออน คอลล์ (Nurse on Call) ที่หมายเลข 1300 606 024 หรือโทรศัพท์ไปที่ โทรศัพท์สายด่วนโคโรนาไวรัส (Corona Virus Hotline) ที่หมายเลข 1800 675 398

ติดตามฟังการพูดคุยกับคุณหมอในประเด็นสำคัญอื่นๆ ได้แก่

  • เราควรต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัวของเราหรือไม่เมื่อติดเชื้อ
  • จะป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่คนในบ้านอย่างไร
  • จะดูแลลูกๆ ที่ติดเชื้ออย่างไร
  • ปกติถ้าอาการไม่รุนแรง กี่วันอาการจึงจะดีขึ้น และกี่วันถึงจะไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่นแล้ว
กดฟังบทสัมภาษณ์นี้เต็มๆ ได้ที่นี่
LISTEN TO
Thai doctor's advice on managing Covid at home image

แพทย์ไทยแนะนำผู้ป่วยโควิดจะดูแลตัวเองที่บ้านอย่างไร

SBS Thai

28/01/202220:46
คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลตนเองที่บ้านเมื่อติดเชื้อโควิดได้ที่ เว็บไซต์ หรือที่เว็บไซต์

ข้อมูลสำหรับรายงานการติดเชื้อจากการตรวจด้วยชุดตรวจเชื้อด้วยตนเองแบบทราบผลรวดเร็วในบางรัฐและมณฑลที่มีข้อกำหนดเรื่องนี้

สำหรับบทสัมภาษณ์ในตอนต่อไปนั้น พญ.ศิราภรณ์ ทาเกิด จะพูดคุยกับเอสบีเอส ไทย ต่อเกี่ยวกับสิ่งที่ทุกคนต้องเตรียมตัวก่อนติดเชื้อ ทั้งยาและสิ่งของที่เราควรเตรียมไว้ตอนนี้เลยเพื่อจะได้ใช้เมื่อติดเชื้อ พร้อมคำอธิบายว่าถ้าติดเชื้อโควิดแล้วเพิ่งหาย จะไปรับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์ช็อตได้เมื่อใดติดตามข้อมูลเหล่านี้จากคุณหมอได้ในบทสัมภาษณ์ตอนต่อไปที่นี่

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดต่อสอบถามบริการสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 020 080

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share