NSW อนุมัติมาตรการช่วยคนอยู่คนเดียวช่วงล็อกดาวน์

Woman looking out of window

After living in lockdown, the chance for singles to meet another person is welcomed Source: Getty

มารู้จักมาตรการ“ซิงเกิลส์ บับเบิล” (single bubble) ที่เพิ่งประกาศใหม่ สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ตามลำพัง ในช่วงล็อกดาวน์ของซิดนีย์และบางพื้นที่ในนิวเซาท์เวลส์ มาตรการนี้มีข้อกำหนดอย่างไร


ฟังรายงาน
LISTEN TO
'Singles bubble' welcomed after lockdown image

NSW อนุมัติมาตรการช่วยคนอยู่คนเดียวช่วงล็อกดาวน์

SBS Thai

30/07/202106:16
ประชาชนในซิดนีย์ที่อาศัยอยู่ตามลำพังขณะมีมาตรการล็อกดาวน์เกิดขึ้น คงโล่งใจที่ตอนนี้พวกเขาสามารถพบปะกับผู้อื่นได้ 1 คน ภายใต้มาตรการ “ซิงเกิลส์ บับเบิล” (single bubble) ที่เพิ่งประกาศใหม่

ผู้คนที่อาศัยอยู่ตามลำพัง รวมทั้งบุคคลากรด้านสุขภาพจิต ต่างยินดีกับมาตรการนี้

คนโสดและผู้คนที่อาศัยอยู่ตามลำพังในซิดนีย์ได้รับคำยืนยันว่า พวกเขาจะสามารถพบปะกับผู้อื่นที่พวกเขาเสนอชื่อได้ 1 คนในระหว่างการล็อกดาวน์ หรือที่เรียกกันว่า มาตรการ “ซิงเกิลส์ บับเบิล” (single bubble) หลังรัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ ขยายการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาต่อไปอีกอย่างน้อย 4 สัปดาห์

กฎใหม่นี้หมายความว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ตามลำพังจะสามารถเสนอชื่อผู้อื่น 1 คน ที่จะไปเยี่ยมเยียนกันและกันได้ที่บ้าน แม้ว่าจะมีข้อจำกัดห้ามมีผู้ใดมาเยี่ยมบ้านก็ตาม

สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งของเขตเทศบาลท้องถิ่น 8 แห่งที่รัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ประกาศข้อจำกัดที่เข้มงวดมากเป็นพิเศษนั้น ผู้ที่ถูกเสนอชื่อภายใต้ มาตรการ “ซิงเกิลส์ บับเบิล” จะต้องอาศัยอยู่ภายในรัศมี 10 กิโลเมตรจากบ้านของพวกเขา

นางกลาดิส เบเรจิกเลียน มุขมนตรีนิวเซาท์เวลส์ ประกาศเรื่องนี้ในวันพุธ สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ตามลำพัง

“คุณได้รับอนุญาตให้เสนอชื่อใครก็ได้ 1 คนที่จะได้รับอนุญาตให้มาเยี่ยมคุณได้ แต่ต้องเป็นคนคนเดียวกันทุกครั้ง จะเป็นสมาชิกครอบครัวก็ได้ จะเป็นคนที่อยู่ในครัวเรือนอื่นก็ได้ แต่จะต้องมีแค่เพียงคนเดียวและต้องไม่ใช่คนที่อยู่ในเขตเทศบาลทั้ง 8 แห่งเหล่านั้น” มุขมนตรี เบเรจิกเลียน กล่าว

พญ.แคร์รี ชานต์ ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนิวเซาท์เวลส์ กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับ “การไปยังพื้นที่ต่างๆ ของผู้คน” ที่จะต้องเกิดขึ้นจากระบบ “ซิงเกิลส์ บับเบิล” และการพบปะกันภายในบ้านอาจทำให้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาได้ แต่ระบุว่า ความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตนั้นมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงอื่น
เมลานี เทต เป็นนักข่าว ที่ริเริ่มการร้องทุกข์ออนไลน์ทางเว็บไซต์ Change.org เมื่อการล็อกดาวน์ในซิดนีย์เริ่มขึ้น โดยขอให้คนโสดหรือคนที่อาศัยอยู่ตามลำพังมีสิทธิ์ที่จะพบผู้อื่นได้ เช่นเดียวกับผู้คนที่มีคู่ครองหรือมีคนรักที่ไม่ได้อาศัยอยู่ด้วยกัน

คุณเทตอาศัยอยู่คนเดียวกับสุนัขสองตัว

การร้องทุกข์ออนไลน์ดังกล่าวขอให้รัฐบาลพิจารณาถึงวิกฤตทางสุขภาพจิตที่เกิดขึ้น และขอให้เชื่อมั่นว่าคนส่วนใหญ่จะยังคงทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อปกป้องตนเองและผู้อื่นจากเชื้อไวรัสโคโรนาต่อไป

“สิ่งที่ได้มีการประกาศออกมาวันนี้เป็นเรื่องยอดเยี่ยมสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เมื่อเกือบ 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา คนที่อยู่กันเดียวเหมือนอยู่คนเดียวจริงๆ โอกาสเดียวที่พวกเราจะสามารถพบปะกับคนอื่นได้คือเมื่อเราไปเดินเล่นในสวน ซึ่งนั่นก็ไม่เพียงพอสำหรับความต้องการทางอารมณ์ของเรา ดังนั้น จึงเป็นการประกาศที่ยอดเยี่ยมมากที่มีออกมาวันนี้” คุณเทต กล่าว
ดร.แกรนต์ บลาชกี หัวหน้าที่ปรึกษาขององค์กร บียอนด์ บลู (Beyond Blue) ที่ให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน กล่าวว่า การมีคนมาอยู่เป็นเพื่อนนั้นสำคัญอย่างยิ่งในช่วงเวลาเช่นนี้

“ระหว่างการล็อกดาวน์ หากคุณอยู่ตามลำพัง คุณใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันในการครุ่นคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่คนเดียว เรารู้จากการวิจัยว่า การมีคนอยู่ด้วยและการจัดการกับความโดดเดี่ยวนั้นดีอย่างยิ่งสำหรับสุขภาพจิต และยังดีต่อสุขภาพกายด้วย เรายินดีที่ผู้คนจะได้มีโอกาสพบปะติดต่อกับคนอื่นได้ โดยเฉพาะผู้คนที่กำลังโดดเดี่ยวอยู่ในขณะนี้” ดร.บลาชกี กล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า ความโดดเดี่ยวเป็นสิ่งที่ผู้คนจำเป็นต้องใช้ความพยายาม จึงจะแก้ไขได้

“ดังนั้น หากนั่นจะเป็นการพบปะเชื่อมโยงกับผู้อื่นผ่านระบบซิงเกิลส์ บับเบิล หรือการนัดกับคนอื่นเพื่อให้สามารถพบกันได้อย่างปลอดภัยในที่สาธารณะภายใต้ข้อจำกัดด้านสาธารณสุข นั่นจะดีอย่างมาก” ดร.บลาชกี กล่าว

คุณผู้ฟังที่ต้องการการสนับสนุนด้านสุขภาพจิต สามารถติดต่อ บียอนด์ บลู (Beyond Blue) ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1300 224 636 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมไปที่


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share