เผยแผนฉีดวัคซีนโควิดในออสเตรเลีย

How Australia's vaccines will be rolled out

Source: SBS News/Nick Mooney

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลออสเตรเลียจะเริ่มการทยอยฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนในออสเตรเลียแล้ว ใครจะได้ฉีดก่อนหรือฉีดหลัง? ไปรับการฉีดได้ที่ไหน?


เมื่อไม่นานมานี้ หน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ (TGA) ได้อนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัสโคโรนา ของบริษัทไฟเซอร์ ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) ในออสเตรเลียแล้ว โดยออสเตรเลียจะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรที่เปราะบางที่สุดบางกลุ่มในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้

แต่คาดว่า อาจใช้เวลาอีกหลายเดือนที่จะฉีดวัคซีนให้ผู้คนจำนวนมากพอ ที่จะถึงระดับป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาได้อย่างมีประสิทธิภาพในออสเตรเลีย

ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับแผนการฉีดวัคซีนระดับชาติ และมาดูว่าคุณจะได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อใด
LISTEN TO
How will Australia's vaccine rollout work? image

เผยแผนฉีดวัคซีนโควิดในออสเตรเลีย

SBS Thai

21/01/202109:42

ฉันจะได้ฉีดวัคซีนเมื่อใด

รัฐบาลออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลหวังว่าจะเริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาให้แก่ประชาชนเป็นวงกว้างได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

แต่การรับการฉีดวัคซีนจะไม่ใช่แค่ไปพบแพทย์แล้วก็รับการฉีดได้เลย

การทยอยฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนจะเกิดขึ้นโดยแบ่งเป็น 5 ระยะตามลำดับความจำเป็น

กลุ่มแรกที่จะได้รับการฉีดวัคซีนจะเป็นผู้ที่ทำงานในระบบการกักตัวเพื่อกักโรคและทำงานด้านพรมแดนของออสเตรเลีย ผู้ที่ทำงานในสถานดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการทุกพลภาพ และเจ้าหน้าที่ทำงานด้านสุขภาพที่ต้องพบปะกับผู้ป่วย ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้ก่อน

กลุ่มต่อไป จะไปเป็นประชาชนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป เจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสุขภาพอื่นๆ ชาวอะบอริจินส์และชาวเกาะทอร์เรส สเตรท ที่อายุ 55 ปีขึ้นไป ประชาชนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีอาการด้านสุขภาพเรื้อรังหรือมีความพิการทุกพลภาพ และเจ้าหน้าที่ทำงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บริการฉุกเฉินต่างๆ

กลุ่มที่ 3 ได้แก่ ประชาชนที่อายุ 50-69 ปี คนวัยผู้ใหญ่ที่เป็นชาวอะบอริจินส์และชาวเกาะทอร์เรส สเตรท ทั้งหมด และเจ้าหน้าที่ทำงานที่สำคัญและมีความเสี่ยงสูงอื่นๆ

ระยะที่ 4 จะเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ ประชากรวัยผู้ใหญ่ที่เหลือทั้งหมดในออสเตรเลีย

กลุ่มสุดท้ายจะเป็นเด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี แม้ว่าพวกเขาจะได้รับการฉีดวัคซีนให้เฉพาะหากมีคำแนะนำทางการแพทย์ว่าการฉีดวัคซีนจะได้ผลดี
Joan Myles, 92, a resident of the Huntingdon Gardens aged care home.
Joan Myles, 92, a resident of the Huntingdon Gardens aged care home. Source: SBS News
ที่บ้านพักผู้สูงอายุ ฮันทิงดัน การ์เดนส์ ทางใต้ของซิดนีย์ ผู้สูงอายุที่นั่นและเจ้าหน้าที่รู้สึกตื่นเต้นที่อยู่ในกลุ่มประชาชนกลุ่มแรกที่จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ในออสเตรเลีย

คุณเฟง เชน ผู้อำนวยการบ้านพัก กล่าวว่า เขาโล่งใจที่พนักงานและผู้พักอาศัยที่นั่นจะสามารถป้องกันตนเองได้ผ่านการฉีดวัคซีนที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

“ใช่ ผมค่อนข้างตื่นเต้น 2020 เป็นปีที่ค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งพนักงานทั้งหมดและผู้พักอาศัยทำทุกอย่างที่เราทำได้ เราทำทุกอย่างเพื่อพยายามหยุดยั้งเชื้อไวรัส แต่สถานการณ์ในต่างประเทศนั้นเลวร้ายมาก ดังนั้น หากเราได้รับการฉีดวัคซีน มันจะช่วยได้อย่างมากในการปกป้องพนักงานของเราทุกคนและปกป้องผู้พักอาศัยของเราด้วย” นายเชน กล่าว

หนึ่งในผู้ที่จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกคือคุณยายโจแอน ไมลย์ วัย 92 ปีที่อาศัยอยู่ที่ ฮันทิงดัน การ์เดนส์ ซึ่งรอดจากเชื้อโปลิโอมาได้ช่วงที่เธอเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่

เธอกล่าวว่า เธอหวังว่าชาวออสเตรเลียจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้จะไปรับการฉีดวัคซีน เพื่อช่วยยุติโรคติดต่ออีกโรคหนึ่ง

“จากที่ได้เห็นโรคคอตีบ โปลิโอ และโรคต่างๆ ทำนองนั้น ฉันรู้สึกว่า ผู้คนนั้นโง่เขลาหากพวกเขาไม่พยายามปกป้องตนเอง เห็นได้ชัดว่า พวกเขาไม่เคยเห็นอย่างที่ฉันเห็นในอดีต ที่ผู้คนทุกพลภาพอย่างสิ้นเชิง ไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้ ไม่สามารถทำสิ่งที่อยากทำ ไม่สามารถทำมาหากินได้ และฉันเคยเห็นผู้คนล้มตายมาแล้ว” คุณยายโจแอน ไมลส์ กล่าว
Could businesses deny service to Australians who refuse the coronavirus vaccine?
จะไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ที่ใดในออสเตรเลีย Source: Getty Images

ฉันจะสามารถไปรับการฉีดวัคซีนได้ที่ไหน?

นี่ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อไรที่คุณจะได้รับการฉีดวัคซีน

ผู้ที่จัดอยู่ในสองกลุ่มแรกที่จะได้ฉีดก่อนใครจะสามารถไปรับการฉีดวัคซีนได้จากโรงพยาบาล 50 แห่งในนครหลวงต่างๆ และในพื้นที่ส่วนภูมิภาคของออสเตรเลีย

ประชาชนที่อาศัยหรือทำงานในสถานดูแลผู้สูงอายุหรือผู้พิการทุกพลภาพ ยังจะสามารถรับการฉีดวัคซีนได้ในสถานที่ทำงานหรือ ณ ที่พักอาศัยอีกด้วย

หลังจากการฉีดวัคซีนให้กลุ่มคนที่มีความจำเป็นสองกลุ่มแรกสิ้นสุดลง และมีวัคซีนที่จะฉีดให้แก่ประชาชนในประเทศเป็นวงกว้างมากขึ้น สถานที่ฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้นอีก 1,000 แห่ง

นี่จะรวมไปถึงสถานที่ฉีดวัคซีน เช่น ที่คลินิกแพทย์ทั่วไปในชุมชน คลินิกด้านระบบทางเดินหายใจ คลินิกเพื่อการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะ ร้านขายยาชุมชน และบริการด้านสุขภาพสำหรับชาวอะบอริจินส์

นายแพทย์ คอลิน เมดลีย์ กล่าวว่า เขาเชื่อว่าแพทย์ทั่วไปอย่างตัวเขาเองนั้น อยู่ในจุดที่ดีที่จะเป็นเสาหลักสำคัญพื้นฐานของการทยอยฉีดวัคซีนนี้ให้แก่ประชาชนในออสเตรเลีย

“ผมตั้งตารอที่จะมีส่วนร่วมกับโครงการ ในความคิดของผมแล้ว บริการแพทย์ทั่วไปอยู่ในจุดที่ดีสำหรับการทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชน นี่เป็นสิ่งที่เราทำมาทุกปีสำหรับโครงการฉีดวัคซีนที่ควรได้รับตามปกติ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ดังนั้น จึงมีระบบพื้นฐานพร้อมอยู่แล้ว มีความเชี่ยวชาญ ในฐานะแพทย์ทั่วไปคนหนึ่ง จึงน่ายินดีที่สิ่งที่เราทำจะถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายแพทย์ เมดลีย์ กล่าว
COVID-19 vaccine
การรับรองวัคซีนโควิด-19 ในออสเตรเลียขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (Australia’s Therapeutic Goods Administration หรือ TGA) Source: AAP
แต่การเริ่มแผนทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนขึ้นอยู่กับ คณะกรรมาธิการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพของออสเตรเลีย (Australia’s Therapeutic Goods Administration หรือ TGA) ว่าจะรับรองวัคซีนหรือไม่และเมื่อใด

เหตุใดการรับรองวัคซีนยังไม่เกิดขึ้น

ออสเตรเลียได้ทำสัญญากับผู้ผลิตวัคซีนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงที่แตกต่างกัน 3 ตัว ได้แก่ วัคซีนของ ออกซ์ฟอร์ด/แอสตราเซเนกา (Oxford/AstraZeneca) ไฟเซอร์/ไบออนเทค (Pfizer/BioNTech) และโนวาแวกซ์ (Novavax)

ทั้งวัคซีนของ ออกซ์ฟอร์ด/แอสตราเซเนกา (Oxford/AstraZeneca) ไฟเซอร์/ไบออนเทค (Pfizer/BioNTech) ถูกนำมาฉีดให้ประชาชนแล้วในต่างประเทศ และออสเตรเลียได้ทำสัญญาซื้อวัคซีนของออกซ์ฟอร์ด/แอสตราเซเนกา 53.8 ล้านโดส และ 10 ล้านโดสสำหรับวัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทค

วัคซีนของ ออกซ์ฟอร์ด/แอสตราเซเนกา และ ไฟเซอร์/ไบออนเทค ได้ผ่านกระบวนการอนุมัติขั้นแรกแล้วเพื่อรอการตัดสินเฉพาะกาล แต่ไม่จำเป็นว่าวัคซีนสองตัวนี้จะได้รับการรับรอง

นั่นหมายความว่า ทีจีเอ จะสามารถได้รับข้อมูลด้านการทดลองกับประชาชนในระยะต่างๆ จากการทดลองวัคซีนเหล่านั้น

ในขณะเดียวกัน ทีจีเอ กล่าวว่า องค์กรกำลัง ‘เฝ้าจับตาดูอย่างแข็งขัน’ เกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนเหล่านี้ ขณะที่วัคซีนนี้ถูกนำไปเริ่มฉีดให้แก่ประชาชนในประเทศอื่นๆ ก่อน

ศ.ไมค์ ทูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของสถาบันเบอร์เนต กล่าวว่า ออสเตรเลียสามารถรอได้ เนื่องจากมีอัตราการระบาดที่ต่ำมาก

“ในช่วงเวลานี้ของการระบาดใหญ่ของเชื้อ ผมคิดว่าออสเตรเลียได้เปรียบตรงที่มีการติดเชื้อน้อย ในขณะนี้ มีเพียงไม่กี่รายในย่านชานเมืองของซิดนีย์เท่านั้น ดังนั้น เราจึงสามารถดูที่ประเทศอื่นๆ ที่เหลือในโลกและเรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขา แน่นอนว่า พวกเขากำลังทยอยฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างรวดเร็วมากและพวกเขายอมเสี่ยงได้ไม่มากนัก แต่นั่นไม่ใช่กรณีของออสเตรเลีย” ศ.ทูล กล่าว

คาดว่าทีจีเอ จะรับรองวัคซีนของ ออกซ์ฟอร์ด/แอสตราเซเนกา และ ไฟเซอร์/ไบออนเทค ก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีการรับรองภายในวันที่ 31 มกราคมนี้

หลังจากได้รับการรับรองแล้ว จะใช้เวลาอีก 2 สัปดาห์ที่วัคซีนโดสแรกจะเดินทางมาถึงแผ่นดินออสเตรเลีย


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวที่น่าสนใจจากเอสบีเอส ไทย

รัฐบาลไทยแจ้งเอาผิดธนาธรกรณีวัคซีนพระราชทาน


Share