นักการศึกษาปฐมวัยคนไทยตีแผ่วิกฤติการศึกษาปฐมวัยในออสเตรเลีย

Australia Budget 2017

วิกฤตการณ์ขาดแคลนพนักงานอย่างรุนแรงทำให้ childcare กว่าร้อยละ 90 ในออสเตรเลียไม่สามารถให้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพได้(AAP Image/Lukas Coch) Source: AAP

นักการศึกษาปฐมวัยคนไทยในออสเตรเลียเปิดเผยข้อเท็จจริงเบื้องหลังวิกฤติการณ์วงการการศึกษาปฐมวัยในออสเตรเลียว่าทำไมอุตสาหกรรมนี้จึงขาดแคลนบุคลากร สถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวชาวออสเตรเลียอย่างไร


กด ▶️ ด้านบนเพื่อฟังรายงานเรื่องนี้


สถานการณ์ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในออสเตรเลีย เป็นปัจจัยหลักที่ผลักให้คนต้องออกไปทำงานมากขึ้น และทำให้ครอบครัวมีความต้องการใช้บริการ childcare เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เพื่อตั้งรับกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกทาง

รายงานล่าสุดของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย The Australian Competition and Consumer Commission (ACCC) ชี้ ในรอบห้าปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในการส่งลูกไปศูนย์รับเลี้ยงเด็กในออสเตรเลียปรับขึ้นเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ครอบครัวส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบแบบงูกินหาง

อุปทานดังกล่าวน่าจะเป็นผลดีกับภาคอุตสาหกรรมการดูแลเด็ก แต่วิกฤตการณ์ขาดแคลนพนักงานอย่างรุนแรงทำให้ childcare กว่าร้อยละ 90 ในออสเตรเลียไม่สามารถให้บริการอย่างเต็มประสิทธิภาพได้ สถานการณ์นี้ไม่เพียงส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของครอบครัวแต่ยังส่งผลกระทบต่อสวัสดิการและความปลอดภัยของเด็ก ในขณะที่หลายครอบครัวคิดหนักในการมีลูกเพิ่ม

wan famliy
คุณ น้ำหวาน คุณแม่ลูกสองที่ทำงานเต็มเวลาในนครเมลเบิร์น

คุณ น้ำหวาน คุณแม่ลูกสองที่ทำงานเต็มเวลาในนครเมลเบิร์น เล่าให้เอสบีเอสไทยฟังว่า เพราะค่าใช้จ่ายในการดูแลลูกในระหว่างที่เธอต้องไปทำงานเพิ่มสูงขึ้น เธอจำเป็นต้องเปลี่ยนงานเพราะไม่เช่นนั้นเธอไม่สามารถจ่ายค่า childcare ได้

“แต่ก่อนหวานทำ ไอทีเคยทำงานที่ Royal Melbourne hospital บอกตรงๆ ว่าที่โรงพยาบาลสวัสดิการดีแต่มันไม่ได้มาช่วยค่า childcare อะไรพวกนี้ เลยต้องหางานใหม่ที่จะได้เงินมากขึ้น เพื่อมาจ่ายค่า childcare subsidise อย่างหวานมีสองคนจ่ายเดือนประมาณพันห้าหลังจากหัก subsidise แล้วประมาณ 50 เปอร์เซนต์ ถ้าหวานยังทำงานที่เดิม การมีลูกเพิ่มขึ้น มันจ่ายค่า childcare ไม่ได้อ่ะค่ะ”

เธอยังเปิดเผยว่า การนำลูกไปฝากเลี้ยงที่ childcare ก็เหมือนเราฝากความไว้วางใจของเราไปด้วย เพราะเราต้องมั่นใจว่าลูกจะได้รับความปลอดภัย แต่ประสบการณ์ที่เธอและคนที่เธอรู้จักได้รับมาทำให้เธอไม่มั่นใจกับคุณภาพและการให้บริการของ childcare หลายแห่ง

 “เค้าบอกว่าจะมีพนักงานสองคนแต่พอหวานเข้าไปเห็นจริงๆ แล้ว
มีสตาฟยืนพื้นหนึ่งคนต่อเด็ก 6 7 8 หรือ 9 คน บางวัน แล้วอีกคนก็สลับห้องกับ baby roomกับ toddler room หวานว่ามันไม่น่าจะดูแลทั่วถึง แล้วลูกก็เคยเกิดอุบัติเหตุใน childcare ด้วย การที่เราส่งลูกไป childcare แสดงว่าเราฝากความไว้วางใจกับ childcare นั้นๆ แล้วพอลูกเกิดอุบัติเหตุ มันรู้สึกว่าความเชื่อใจมันน้อยลงไป”

 “เพื่อนของเพื่อนหวานก็เคยเกิดประสบการณ์ไม่ดี คือเลี้ยงลูกมาได้ 3 เดือน แล้ววันหนึ่งเค้าฝากลูกไว้แบบแคชวลเพื่อที่เค้าจะเข้ามาทำธุระในเมือง"

2 ชั่วโมงผ่านไป เหมือนเด็กร้องไห้ สตาฟไม่ได้เข้ามาดู อารมณ์เหมือนแบบเด็ก 3 ขวบร้องไห้ก็ร้องไปก่อน เดี๋ยวก็หยุดเอง ผลสรุปคือไม่รู้ยังไงเด็กตาย มีพี่ที่รู้จักอีกคนก็มีประสบการณ์คล้ายๆ กัน รู้สึกว่าคือคนเป็นแม่มาเจออะไรแบบนี้ มันใจสลายอ่ะค่ะ
คุณ น้ำหวาน ในนครเมลเบิร์น


ผลกระทบที่ครอบครัวในออสเตรเลียจำนวนมากได้รับ ทั้งเรื่องการไม่สามารถเข้าถึงบริการ childcare ค่าใช้จ่ายการดูแลเด็กที่แพงขึ้น และความปลอดภัยและสวัสดิการของเด็ก เนื่องมากจากปัญหาหลักคือ วิกฤติการขาดแคลนบุคลากรในอุตสาหกรรมการศึกษาปฐมวัย

ทำไมอุตสาหกรรมการศึกษาปฐมวัยในออสเตรเลียจึงถึงจุดวิกฤติ

จากการเปิดเผยข้อมูลของ Jobs and Skills Australia เปิดเผยว่าหลังจากการแพร่ระบาดของโควิดเป็นต้นมา ตำแหน่งงานว่างในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มมากขึ้นประมาณหนึ่งเท่าตัว

คุณ เพค ครูปฐมวัย (Early childhood teacher) ในรัฐวิกตอเรีย เปิดเผยว่า ในที่ทำงานของเธอมีพนักงานลาออกทุกเดือน บางเดือนก็ออกพร้อมกันเกือบหมด
อย่างแรกเลยเค้าคิดว่าเกิดอะไรขึ้นใน centre นั้น ทำไมพนักงานออกเยอะ ออกเรื่อยๆ อย่างปีที่แล้วมีออก 19 คนเลยนะคะ เกือบทั้ง centre เลยแหละ เค้าก็ มาถามเรา เราไม่ได้เป็นผู้จัดการหรอก เป็นหัวหน้าห้อง เราก็ไม่กล้าบอกความจริงว่าเกิดจาก management ไม่ดี เกิดจากค่าแรง เราก็บอกได้แค่ว่าเค้าได้งานใหม่ บอกได้แค่นี้
คุณ เพค ครูปฐมวัย ในรัฐวิกตอเรีย

ส่วนคุณ คุณ มิกกี้ จากนครซิดนีย์ นักการศึกษาปฐมวัย (Early childhood educator) ที่กำลังศึกษาเป็นครูปฐมวัย เล่าว่า ที่ทำงานของเธอก็เผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน

“centre ที่ approved สำหรับ 60 คนหรือ 100 คน เด็กก็มี 60 หรือ 100 คน เหมือนเดิม พนักงานแทนที่จะเป็น 12 หรือ 15 คน กลายเป็นว่าทุกคนลาออกหมด จำนวนพนักงานที่ใช้สำหรับ supervise เด็ก กลายเป็นว่าแทนที่จะ spread ออกไป 12-15 คน ก็กลายเป็นว่าคนทำงานประจำเหลืออยู่ แค่ 6 คนอย่างนี้ค่ะ งานมันเลย double”

คุณ มิกกี้
คุณ มิกกี้ นักการศึกษาปฐมวัย (Early childhood educator) ที่กำลังศึกษาเป็นครูปฐมวัยจากนครซิดนีย์

ปัญหาค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ความรู้สึกว่างานที่ทำไม่ได้รับการเห็นคุณค่า บวกกับความเครียดทั้งเรื่องปริมาณงานที่มากขึ้นและปัญหาในการรับมือกับเด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษที่มีจำนวนมากแต่แต่ละห้อง เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานในอุตสาหกรรมนี้ลาออกมากกว่าครึ่ง และเป็นต้นตอของสถานการณ์ที่กลายเป็นปัญหาระดับชาตินี้

ครูเพค.jpg
คุณ เพค ครูปฐมวัย (Early childhood teacher) ในรัฐวิกตอเรีย

คุณ เพค ครูปฐมวัย ในรัฐวิกตอเรีย ชี้ว่า ค่าตอบแทนที่ครูปฐมวัย และนักการศึกษาปฐมวัยได้รับไม่สมดุลกับปริมาณงานที่รับผิดชอบ

“ถ้าเกิดเทียบค่าตอบแทนกับงาน workload ที่เราทำแล้ว มันไม่ balance มันไม่ match ค่าตอบแทนมันน้อย ไม่สมกับความรับผิดชอบที่เรามี แล้วเลี้ยงเด็กก็ไม่ได้ง่ายเลย งานมันหนักมาก ไหนจะต้องทำ observation learning story อะไรอีก”

 ส่วน คุณ มิกกี้ ก็เห็นด้วยในประเด็นนี้ เธอชี้ว่า

“สาเหตุที่ทำให้ครูปฐมวัยขาดแคลนก็คือ ด้วยแรงกดดันที่มันประกอบกัน ด้วยภาระหน้าที่ documentation เรื่องที่เราต้องดีลกับเด็กในแต่ละวัน ซึ่งมันค่อนข้างหนัก บวกกับเรื่องค่าแรงที่ educator กับครูปฐมวัยได้รับ มันก็ไม่ค่อยต่างกับงานอื่นเท่าไหร่ แต่ความรับผิดชอบค่อนข้างสูง เราต้องเรียนเพื่อให้ได้วุฒิ ปัญหาตรงนี้มันทำให้คนที่เค้าเรียนมาแล้ว เข้ามาทำสักพักแล้วก็ออกไปทำอย่างอื่น”

คุณ ป้อม คุณครูหัวหน้าด้านการสอนปฐมวัย ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความต้องการและความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของผู้ปกครอง ปริมาณงานเอกสารที่เพิ่มขึ้นและข้อบังคับของหน่วยงานที่ควบคุมดูแล และความต้องการของเด็กที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนให้บุคลากรเกิดความเครียดและไม่อยากทำงานในสายงานนี้ เธอกล่าวว่า

“แต่สมัยนี้กลายเป็นว่า ไป childcare ก็ต้องเป็นเรื่อง brain development ต้อง child development ผู้ปกครองเค้าจ่ายตังค์ เค้าควรที่จะได้ในสิ่งที่ควรได้ เค้าคงไม่ได้อยากให้ลูกมานั่งเล่น เลโก ระบายสี อย่างเดียว ต้องการเห็นพัฒนการของลูกเค้าดีขึ้น มันทำให้ลักษณะการทำงานเปลี่ยนไป พนักงานก็เครียด เราต้องมีโปรแกรมมิ่ง มี observation ที่ดี ที่เริ่ด”

"เด็กที่มี big emotion จะเยอะมาก แล้วก็มีเด็กกลุ่มหนึ่ง ที่มี trauma เพราะพ่อแม่ทะเลาะกันบ่อย แยกทางกัน แล้วก็มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่มี neurodiverse autistic language delay global delay มันเยอะมาก"


Early childhood educator เนี่ย อยู่กับเด็กทั้งวัน 6 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย บางคน 10 ชั่วโมงก็มี จนครูกลายเป็น second trauma เพราะรับความเครียดมากจากเด็ก
คุณ ป้อม คุณครูหัวหน้าด้านการสอนปฐมวัย ในรัฐนิวเซาท์เวลส์

คุณ ป้อม
คุณ ป้อม คุณครูหัวหน้าด้านการสอนปฐมวัย ในรัฐนิวเซาท์เวลส์
แม้ว่าอาชีพในสายงานนี้จะมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของออสเตรเลีย นักการศึกษาปฐมวัยส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่างานของพวกเขาไม่ได้รับการเห็นคุณค่ามากพอ

คุณนัท อดีตนักการศึกษาปฐมวัย จากรัฐ เวสเทิร์นออสเตรเลีย เปิดเผยว่าคนทั่วไปมองว่างานนี้ก็เหมือนกับการดูแลเด็กเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรมาก เธอเล่าว่า

 “การทำงาน childcare มันไม่ได้ง่าย บางคนคิดว่าเค้าจ่ายตังค์มาแล้ว เรานั่งดูเด็กเฉยๆ จริงๆ แล้ว เราไม่ได้นั่งเฉยๆ เราต้องทำ planning เราต้อง record พัฒนาการของเด็กแต่ละคน Educator บางคนเค้ามีครอบครัว มีลูกเล็กๆ ซึ่งนัทว่ามันเป็นอะไรที่ stressful สำหรับเค้ามากเลย ทำงานเสร็จกับเด็กๆ เสร็จแล้ว กลับบ้านก็ต้องดูลูกตัวเอง”


ส่วน คุณ เพค ครูปฐมวัยในรัฐวิกตอเรียชี้ว่า หลายๆครั้ง ผู้ปกครองก็มองว่าครูปฐมวัยเป็นแค่พี่เลี้ยงเด็ก ซึ่งมีหน้าที่แค่เปลี่ยนผ้าอ้อม ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สูงๆ ก็ทำงานได้

“หลายๆ คนคือเค้า ส่วนมากไม่ค่อยเห็นคุณค่าเราในด้านนี้ด้วยค่ะ จากประสบการณ์ของตัวเอง มีผู้ปกครองหลายคนเลยส่วนมากจะคิดว่าเราเป็นคนแค่เปลี่ยน nappy ไม่ใช่เป็นคนที่มีความรู้ เราไม่ใช่ educator ที่แค่เปลี่ยน nappy นะคะ เราต้องเรียนจบ cert 3 Diploma Bachelor ถึงจะมาเป็นครูตรงนี้ได้ค่ะ”

บุคลากรไม่พอกระทบกับการทำงานใน childcare อย่างไร

เมื่อบุคลากรขาคแคลนทำให้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กไม่มีพนักงานเพียงพอต่อการให้บริการแก่ครอบครัว บางศูนย์ก็ไม่สามารถให้บริการเต็มเวลา หรือต้องรวมเด็กมาไว้ในห้องเดียว หรือพนักงานต้องดูเด็กหลายๆ ห้องพร้อมกัน

คุณนัท อดีตนักการศึกษาปฐมวัย จากรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เปิดเผยว่าความกดดันและงานที่มากขึ้นสำหรับพนักงานที่เหลืออยู่ทำให้เธอเกิดความเครียดและตัดสินใจลาออกจากงาน

"เหตุผลเลยก็มีหลายอย่างนะคะ อย่างแรกเลยคือ stressมาจากงาน การ management ของสถานที่ทำงาน อย่างนัทเป็น qualify เค้าก็ต้องการหลายๆ อย่างจากเรา"

บางทีถ้าเราเป็น leader เราก็จะดูแลแค่ห้องเดียวใช่ไหมคะ แต่นัทโดนกดดันให้ทำ 2 ห้อง ต้องทำ program เอง planning เอง ทุกอย่างทำเองหมดเลยค่ะ
คุณ นัท อดีต room leader รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย

ส่วน คุณ เพค และคุณนัท อธิบายว่าการมีพนักงานไม่เพียงพอแล้ว ศูนย์ childcare ต้องใช้พนักงาน แคชวล (Casual) ซึ่งเปลี่ยนหน้ามาเรื่อยๆ ทำให้มีผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานและเด็กซึ่งเป็นหัวใจหลักของการศึกษาปฐมวัย เมื่อเด็กไม่รู้จักคุ้นเคยกับพนักงานแคชวลก็จะไม่เชื่อใจและไม่มีความสุขในการเรียน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กด้วย

“เพราะเค้าจะติด staff ไงคะ อย่างมี staff หน้าใหม่มาเนี่ยแทบทุกวัน มาไม่ซ้ำกัน เค้าจะไม่คุ้นน่ะค่ะ เค้าก็จะไม่ฟัง educator คนนั้น เค้าไม่ settle ด้วย เพราะบางคนร้องไห้ เพราะเค้าเห็นคนใหม่มาเค้าจะไม่ไปหา ทำให้ staff ที่อยู่ในห้องจะทำงานหนักมากขึ้น”

bbc-creative-1w20Cysy1cg-unsplash.jpg
ปัญหางานรับผิดชอบที่ล้นมือ ทั้งเรื่องเอกสารและการดูแลเด็ก บวกกับค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้นักการศึกษาปฐมวัยในออสเตรเลียลาออกจากงานเป็นจำนวนมาก

ปัญหานี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างไร

แม้ว่ารัฐบาลของแต่ละรัฐและสถานการศึกษาในออสเตรเลียหลายแห่งพยายามดึงดูดให้คนเข้ามาฝึกอบรมและศึกษาต่อในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษา เพิ่มเงินเดือนสำหรับครูที่สอนในพื้นที่ห่างไกล การเปิดหลักสูตรเร่งรัดเพื่อผลิตครู และการหาครูหรือพนักงานปฐมวัยจากต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือวิกฤตการณ์นี้

แต่อย่างไรก็ตามบุคลากรที่เหลืออยู่คิดว่ารัฐบาลควรที่จะแก้ไขปัญหาหลักคือ การขึ้นเงินเดือน และควรมีการสนับสนุนพนักงานในเรื่องต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้บริการดูแลสุขภาพจิต การการลดปริมาณงาน และให้การสนับสนุนด้านภาษี

คุณเพค และคุณป้อม ครูปฐมวัยคนไทยเสนอแนะว่านักการศึกษาปฐมวัยเป็นอาชีพที่สำคัญเพราะเป็นผู้ที่วางรากฐานการเรียนรู้และการศึกษาของเด็กที่จะเป็นอนาคตของชาติ จึงควรที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นกับอุตสาหกรรมนี้
เราเป็นคนวางรากฐานของชีวิตเด็ก ให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ นอกจากพ่อแม่แล้ว educator และ ECT ก็เป็นคนแรกๆ ในการให้ความรู้ ให้ทุกอย่างกับเค้า อยากให้รัฐบาลเห็นคุณค่าของเราตรงนั้น อยากให้เทียบเท่ากับครู primary
คุณ เพค ครูปฐมวัย (Early childhood teacher) ในรัฐวิกตอเรีย

ส่วนคุณป้อม แนะนำว่า ควรที่จะลดงานของครูลง เพราะเมื่องานเอกสารมากขึ้นเวลาที่ใช้ในการดูแลเด็กก็น้อยลง

“expectation ในงานทุกวันนี้มัน over the topมากเลย เวลาพี่ไปคุยกับครูประเทศอื่นๆ อย่างฟินแลนด์ อะไรอย่างนี้ งานเค้าไม่เยอะขนาดนี้ ลดเรื่อง paper work ลงมาก็ได้ อย่างในเรื่องของ safety บางทีก็เยอะเกินไป มันทำให่เราไม่ได้ดูเด็กเลย นั่งดูแต่อะไร safe ไม่ safe”

ด้านคุณมิกกี้ ชี้ว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญของสิทธิประโยชน์ของพนักงานปฐมวัยในเรื่องการภาษีในการช่วยเหลือสังคม

“สายงานนี้ค่อนข้าง high demand แล้วเป็นงานที่เราช่วยสังคม ช่วยเหลือผู้ปกครองที่จะต้องทำงานแล้วเค้าไม่สามารถไปได้เพราะต้องคอยดูแลลูก ถ้ารัฐบาลสามารถช่วยลดหย่อนภาษีสำหรับคนทำงาน childcare ในฐานะที่เราช่วยเหลือสังคมตรงนี้ กลุ่มคนทำงานเค้าก็สามารถไปทำงานเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับสังคมออสเตรเลียได้”

 และคุณนัท แนะนำว่านอกเหนือจากเรื่องการเพิ่มเงินเดือนแล้วรัฐบาลควรสนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพจิตของบุคลากรนักการศึกษาปฐมวัยด้วย เพราะเป็นงานที่อยู่กับความเครียดสูง เธอชี้ว่า

“Mental health นัทว่ามันสำคัญมาก น่าจะมีจิตแพทย์ เข้ามาคุย เข้ามาแนะ มาช่วย support เพราะนัทคิดว่าสายงานนี้เป็นสายงานที่ยาก แล้วก้มีความวิตกกังวล ทำให้ stress แล้วก็ affect mental health พอสมควร”

หากคุณต้องการรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตหรือ mental health คุณสามารถโทรศัพท์ไปที่ lifeline หมายเลข 131114 หรือที่เว็บไซต์


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 



บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


 

 

 

Share