ผู้ประกอบการวอนขอเงินเยียวยาจากงบประมาณรัฐ

พนักงานเสิร์ฟกำลังทำงานในร้าน

พนักงานเสิร์ฟกำลังทำงานในร้าน Credit: Pexels/Ketut Subiyanto

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

ธุรกิจขนาดเล็กกว่า 2.3 ล้านรายเรียกร้องเงินเยียวยาเพื่อบรรเทาครองชีพที่สูง ในการประชุมงบประมาณของรัฐบาลกลาง ที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 25 ตุลาคมนี้


ในเวลาพักกลางวัน ที่ร้านอาหารเล็กๆ แถบตอนเหนือของซิดนีย์ คุณดีน ซู (Dean Xu) เจ้าของร้านเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ต้องกัดฟันพยายามให้ร้านเปิดทำการ

ทุกครั้งที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความกังวลของเขาก็ทวีคูณ

“เรามีค่าผ่อนบ้าน และอัตราดอกเบี้ยก็ขึ้นในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ผมรู้สึกเหนื่อยมาก และยิ่งไปกว่านั้นคือความกดดันเรื่องเงิน”
คุณซูกล่าวว่าร้านคาเฟ่ของเขาเงียบกว่าปกติ มีคนออกมารับประทานอาหารนอกบ้านไม่กี่คนในหลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะค่าครองชีพสูงขึ้น

คุณซูจึงต้องดึงเงินออมมาใช้เพื่อจ่ายค่าบ้านและค่าใช้จ่ายในธุรกิจ

“มันค่อนข้างยาก ค่าใช้จ่ายบางอย่างผมต้องใช้เงินเก็บมาจ่าย ถ้าผมจ่ายไม่ได้ ผมต้องย้ายออกจากบ้าน ผมจึงต้องใช้เงินเก็บของผมจ่ายค่าบ้าน”

ราคาผักและผลไม้ที่สูงขึ้น จากเหตุฝนตกไม่นานมานี้ นับเป็นหนึ่งในปัญหาที่ถาโถมใส่ผู้ประกอบการ คุณเบลินดา คลาร์ก (Belinda Clarke) ผู้บริหารสมาคมร้านอาหารและการจัดเลี้ยง (Restaurant and Catering Association) กล่าว

“เราเห็นหลายคนพยายามอดทนให้ถึงคริสต์มาส พวกเขาเกือบถึงจุดแตกหักแล้ว เรามีร้านกาแฟในเมือง หลายคนยังทำงานจากบ้าน การยกเลิกระบบขนส่งสาธารณะ ฝนตกหนัก และอีกหลายสิ่ง และร้านอาหารไม่รู้ว่าพวกเขาต้องบริการลูกค้ากี่คนที่ร้าน พวกเขากำลังเผชิญปัญหาหนัก มันเป็นพายุที่ถาโถมพวกเขา และมันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับพวกเขาในการดำเนินธุรกิจ”
การจัดโต๊ะอาหารในงานเลี้ยง
การจัดโต๊ะอาหารในงานเลี้ยง Credit: Chuttershap/Unsplash
คุณคลาร์กชี้ว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะนับเป็นอีกปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ตำแหน่งว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มีประกาศหาคนทำงาน 102,000 ตำแหน่งในอุตสาหกรรมการบริการ (Hospitality) และมีสถานที่จัดงาน 55,000 แห่งทั่วประเทศ เมื่อคุณลองคำณวนดู ทุกๆ ร้านต้องการพนักงานอย่างน้อย 2 คน เพื่อทำงานในทีมของเขา
ผู้ประกอบการหลายราย รวมถึงคุณซูกล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะสามารถหาคนทำงานได้ แต่รายได้ที่ต่ำลงของร้านหมายความว่าพวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าจ้างเพิ่มเติมได้ พวกเขาจึงต้องลงมาทำงานในตำแหน่งที่ขาดเอง

“ผมทำงานประมาณเกือบ 12 หรือ 13 ชั่วโมงทุกวัน บางครั้งผมไม่ได้รับเงิน และบางครั้งผมไม่สามารถจ้างพนักงานหลายคนได้ ธุรกิจเงียบมาก ผมจ่ายพวกเขาไม่ได้ ทั้งจ่ายค่าแรงและค่าเลี้ยงดูครอบครัวของผม ผมมีลูกๆ และผมทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์”
ผู้หญิงนั่งเครียดหน้าคอมพิวเตอร์
ผู้หญิงนั่งเครียดหน้าคอมพิวเตอร์ Source: Getty / Getty Images
เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการหลายคนทั่วประเทศต้องเผชิญเพื่อพยายามลดต้นทุน และหลายคนทำงานมากขึ้น แต่ได้รับเงินน้อยลง คุณคลาร์กกล่าว

“4 ใน 5 ของธุรกิจไม่สามารถจ่ายให้ตนเองได้มากนัก จ่ายน้อยไป หรือไม่จ่ายค่าจ้างตนเองเลย มีเจ้าของธุรกิจจำนวนมากที่กำลังเผชิญปัญหา เรารู้ว่าหลายธุรกิจต้องปิดทำการในบางวันหรือบางเวลา และเราได้ยินว่าเจ้าของธุรกิจต้องขับรถไปซื้อของที่ตลาดเอง พวกเขาทำงานหนักมาก”คุณพอล ซาห์รา (Paul Zahra) ผู้บริหารสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า ไม่ใช่แค่ธุรกิจการบริการที่ขาดพนักงาน

“เราต้องมองหาวิธีใหม่ในการจัดการเรื่องนี้ สิ่งที่เรากำลังเล็งเห็นคือผู้รับเงินบำนาญ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนมากขึ้น ให้พวกเขาได้กลับมาทำงานโดยไม่กระทบกับเงินบำนาญ”
แรงงานต่างชาติทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟและในครัว
แรงงานต่างชาติทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟและในครัว Source: Supplied / Supplied by Punjabi Curry Cafe
คุณไมเคิล เชน (Michael Chen) เจ้าของร้านซัลเวจ สเปเชียลที คอฟฟี (Salvage Specialty Coffee) ที่เมืองอาร์ทามอน (Artarmon) ในซิดนีย์ เรียกเพื่อนของเขาคุณแกรี เหลียง (Gary Liang) ที่กำลังเกษียณอายุมาช่วยบริการลูกค้า

“ตอนนี้ผมสามารถลงตารางทำงานได้ 2 วันต่อสัปดาห์ การหาพนักงานที่ทำงานดีได้มาตรฐานเพื่อทำงานในคาเฟ่นั้นยากมาก”

สมาพันธ์องค์กรธุรกิจขนาดเล็กแห่งออสเตรเลีย (The Council of Small Business Organisations Australia) เรียกร้องให้มีการปฏิรูปเพื่อขจัดระเบียบต่างๆ

คุณอเล็กซี บอยด์ (Alexi Boyd) ผู้บริหารแนะว่าต้องมีแนวทางใหม่

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะมีเงินเยียวยาบางอย่างสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก รัฐบาลควรทราบถึงข้อเท็จจริงว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจนั้นสูงขึ้น ค่าขนส่งระหว่างประเทศ ค่าไฟ ค่าเช่า และภาระหนี้ตั้งแต่เกิดโควิดทั้งหมดควรมีการแก้ไข เราต้องการโครงการเพื่อดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ ผู้อพยพที่มีทักษะ และนักท่องเที่ยวกลับเข้าประเทศ กุญแจสำคัญคือการเสนอเส้นทางการเป็นผู้พำนักถาวร (Permanent residency) เพื่อให้พวกเขาเห็นอนาคตระยะยาวในฐานะส่วนหนึ่งของแรงงานและผู้อาศัย และอาจเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก”
ผู้นำเข้าต้องประสบปัญหาอื่นอีก

คุณไม นากาชิมะ (Mai Nagashima) เจ้าของร้านขายของชำกำลังประสบปัญหาการขนส่ง และเธอกล่าวว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าไฟ ทำให้กำไรลดลง
ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของทุกอย่าง ค่าจ้าง ค่าอาหาร ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน อัตรากำไรจึงลดลงเรื่อยๆ
คุณพอล ซาห์รากล่าวว่า การลดภาษีเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถแบ่งเบาภาระได้

“สิ่งที่เราอยากเห็นคือการลดภาษีนิติบุคคล (Corporate tax) จาก 30 เป็น 25 เปอร์เซ็นต์สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง นับเป็นเงินจำนวน 250 ล้านดอลล่าร์”

อย่างไรก็ตาม ตลาดโลกกำลังย่ำแย่ การใช้จ่ายของรัฐบาลจึงถูกเพ่งเล็ง คุณดีน ซู ทำได้เพียงหวังว่าคำร้องของเขาจะส่งเสียงถึงกรุงแคนเบอร์รา

“หวังว่าเราจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ผมเหนื่อยมากๆ และไม่รู้ว่าผมจะอยู่แบบนี้ได้อีกนานเท่าไหร่”

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share