ผู้หญิงอายจนไม่ไปตรวจมะเร็งปากมดลูก

NEWS: ความรู้สึกกระดากใจและความเขินอายอาจหยุดยั้งไม่ให้ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศแรกในโลก ที่กำจัดมะเร็งปากมดลูกได้สำเร็จ รายงานล่าสุดเผย

การที่ผู้หญิงพูดคุยกันเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกจะช่วยกำจัดความเชื่อผิดๆ และความไม่เข้าใจได้ (Pixabay)

การที่ผู้หญิงพูดคุยกันเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกจะช่วยกำจัดความเชื่อผิดๆ และความไม่เข้าใจได้ Source: Pixabay

รายการวิทยุ เอสบีเอส ไทย ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

You can read the full article in English

ออสเตรเลียอาจเป็นประเทศแรกในโลกที่กำจัดมะเร็งปากมดลูกให้หมดไปได้สำเร็จภายในปี 2035 หากมีผู้หญิงน้อยลงที่รู้สึกกระดากใจจนไม่กล้าไปรับการตรวจคัดกรองโรค ซึ่งอาจช่วยชีวิตพวกเธอได้

การวิจัยโครงการใหม่ของมูลนิธิมะเร็งปากมดลูกแห่งออสเตรเลีย ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบว่ามีผู้หญิง 1 ใน 3 ที่ผัดผ่อนการไปรับการตรวจมะเร็งปากมดลูก เพราะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ “น่าเคอะเขิน” ขณะที่ 1 ใน 4 รู้สึก “อาย”

ร้อยละ 10 รู้สึกวิตกว่าพวกเธอ “ไม่ปกติในช่วงล่าง” ขณะที่ร้อยละ 8 รู้สึกกังวลว่าพวกเธอ อาจมีกลิ่นหรือไม่ได้ดูแล “ส่วนล่าง” อย่างเพียงพอ

การวิจัยที่ว่านี้ได้รับการเผยแพร่โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ cerFIX2035 ของมูลนิธิ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดโรคมะเร็งปากมดลูกให้หมดไปภายในปี 2035

"การกำจัดให้หมดไปนั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ซึ่งนั่นน่าตื่นเต้นมาก และเป็นสิ่งที่ทำให้สำเร็จได้" น.พ. โจ ทูมา ซีอีโอ ของมูลนิธิ กล่าวในแถลงการณ์

เพื่อทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริง จำเป็นต้องมีการปรับปรุงอัตราการไปรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 50 ให้มากขึ้นเป็นมากกว่าร้อยละ 70 น.พ.ทูมา ระบุ

อัตราการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่โรงเรียนต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในอัตราสูงจะต้องรักษาให้อยู่ในระดับเช่นนี้ต่อไปด้วย

พญ.จินนี แมนสเบิร์ก หวังว่าโครงการรณรงค์นี้ก่อให้เกิดการสนทนาพูดคุยกัน

“เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องพูดคุยกันต่อไปเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองโรค และคุณค่าของมันที่ทำให้เราสามารถพูดคุยกันเรื่องนี้ได้อย่างปกติ ช่วยกำจัดมายาคติที่พบบ่อย และที่สำคัญที่สุด คือช่วยกระตุ้นกันและกันให้ไปรับการตรวจ” พญ.แมนสเบิร์ก กล่าว

“เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกไม่สบายตัวขณะตรวจ โดยผู้หญิงร้อยละ 40 บอกกับเราว่ารู้สึกเช่นนั้น นั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนฝูงที่เคยผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว เพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้นว่าจะคาดหวังอะไรเกี่ยวกับการตรวจ”

ในเดือนธันวาคม 2017 การตรวจแปปสเมียร์ถูกแทนที่ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งกำหนดให้ต้องได้รับการตรวจทุก 5 ปี แทนที่จะต้องรับการตรวจทุก 2 ปี

การตรวจแบบใหม่นี้มีความแม่นยำมากกว่าในการตรวจหาเชื้อไวรัส Human papillomavirus หรือชื่อย่อว่าเชื้อเอชพีวี ซึ่งติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์ โดยเชื้อไวรัสนี้เป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่ผู้หญิงเกือบครึ่งหนึ่งที่ร่วมการสำรวจ ไม่ตระหนักว่าการตรวจคัดกรองโรคนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

สาเหตุที่ผู้หญิงผัดผ่อนการไปรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก:

*รู้สึกกระดากใจ ร้อยละ 32.3

*เขินอาย ร้อยละ 27.6

*รู้สึกเจ็บ ร้อยละ 18.5

*รู้สึกว่าต้องเปิดเผยส่วนล่าง ร้อยละ 17.7

*รู้สึกหวาดกลัว ร้อยละ 15.8

*รู้สึกถูกล่วงล้ำ ร้อยละ 8.6

*แพทย์จีพีเป็นผู้ชาย ร้อยละ 8.4

แหล่งที่มาข้อมูล: Australian Cervical Cancer Foundation, PureProfile Consumer Survey, 2019

Share
Published 15 July 2019 3:42pm
Updated 15 July 2019 5:41pm
Presented by SBS Thai
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends