“เราไม่สามารถแยกตัวจากทั้งโลกได้”: ผู้เชี่ยวชาญเตือนออสเตรเลีย

คณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน คาดการณ์ว่า ชาวออสเตรเลีย โดยเฉพาะรุ่นของคนอายุน้อยๆ อาจเผชิญกับ “ทศวรรษที่หายไป” หากออสเตรเลียไม่ก้าวไปสู่การกลับมาเปิดพรมแดนระหว่างประเทศอีกครั้ง

Travellers at Sydney Airport.

A taskforce of multi-disciplinary experts has forecast Australians, especially younger generations, may face a lost decade if the country doesn't reopen. Source: AAP

คณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ได้วางแผนแม่บทสำหรับการเปิดประเทศออสเตรเลียสู่ส่วนที่เหลือของโลกอีกครั้ง

ในรายงานดังกล่าวที่ใช้ชื่อว่า A Roadmap to Reopening โต้แย้งว่า การปิดพรมแดนระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ขณะนี้ อาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อชื่อเสียงของประเทศในระดับนานาชาติ และแนะนำให้มีทราเวลบับเบิล (travel bubbles) สำหรับบางภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น ภาคศิลปะ

คณะทำงานเฉพาะกิจเห็นว่า การยืนกรานที่จะใช้มาตรการขจัดเชื้อโควิดให้หมดไป (COVID elimination) แทนที่จะใช้กลยุทธ์การอยู่ร่วมกับไวรัส เป็นสิ่งที่ “น่าผิดหวัง” ขณะที่ร่างงบประมาณแผ่นดินคาดการณ์ว่า การเดินทางไปต่างประเทศจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปจนถึงกลางปี 2022

“ออสเตรเลียไม่สามารถปิดพรมแดนอย่างไม่มีกำหนดเปิดได้ เพราะเหตุผลง่ายๆ คือ มันจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของเรา” นายทิม สุตพรหมเสน (Tim Soutphommasane) อดีตกรรมาธิการต่อต้านการเลือกปฏิบัติเพราะเชื้อชาติและเป็นผู้ให้การสนับสนุนการจัดทำรายงานนี้ กล่าว

“เราเป็นชาติการค้าและเป็นชาติพหุวัฒนธรรม สังคมและวัฒนธรรมของเราไม่สามารถแยกตัวออกจากส่วนอื่นของโลกได้”

“มันน่าผิดหวังที่เราได้เห็นแนวความคิด ‘ออสเตรเลียที่ล้อมรอบด้วยป้อมปราการ’ เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เราหันหลังให้ส่วนที่เหลือของโลก”
Autoridades piden a residentes de Nueva Gales del Sur 'reconsiderar' viajes a Melbourne
Ongoing border closures have barred many including Australian citizens from returning to Australia. Source: Getty Images/simonkr
รายงานฉบับนี้ เรียกร้องให้มีขั้นตอนไปสู่การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่กว้างขวางและรวดเร็ว ข้อกำหนดด้านการตรวจเชื้อก่อนเดินทางและการมีภูมิคุ้มกันโรคสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ และมีระบบการกักตัวที่แข็งแกร่งและออกแบบให้เฉพาะคนมากขึ้น

“เราประสบความสำเร็จอย่างสูงในการปราบปรามเชื้อโควิด-19 ซึ่งเราอาจกล่าวได้ว่า เรากำลังชนะสงครามต่อต้านโควิด-19 แต่หากเราไม่ระมัดระวัง เราอาจลงเอยด้วยการสูญเสียความสงบสุขได้” นายทิม สุตพรหมเสน กล่าว

“ขอให้ระลึกว่า ประชากรออสเตรเลียราวครึ่งหนึ่งที่เกิดในต่างประเทศ หรือมีพ่อหรือแม่ที่เกิดในต่างประเทศ ดังนั้น การที่พรมแดนปิดไม่ได้แค่หมายความว่า ผู้คนถูกห้ามไม่ให้เดินทางไปพักผ่อนในต่างประเทศเท่านั้น”

“มันยังหมายความว่า ไม่มีความแน่นอนที่ผู้คนจะได้พบกับสมาชิกครอบครัวที่อยู่ต่างประเทศเมื่อใด”

ความเสี่ยงของการกลายเป็น “ชาติฤาษี” ผู้ตัดขาดจากโลกภายนอก

งานวิจัยที่จัดทำโดย Sydney Policy Lab ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ที่ทำขึ้นพร้อมๆ กับรายงานฉบับนี้ พบว่า ร้อยละ 55 ของผู้ตอบแบบสอบถาม สนับสนุนการเดินทางระหว่างประเทศกับประเทศที่ประชากรได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้วและสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ ร้อยละ 54 สนับสนุนการให้นักเรียนต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ หากพวกเขาได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้วและกักตัวภายใต้ระบบกักตัวที่มหาวิทยาลัยจัดให้

ขณะเดียวกัน ร้อยละ 53 สนับสนุนการเดินทางเข้าประเทศและการกักตัวสำหรับผู้ทำงานสายครีเอทีฟ (creative) ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วและเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับโครงการใหญ่ต่างๆ ในออสเตรเลีย

“เราไม่ได้แนะนำให้กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด แน่นอนว่า เราจำเป็นต้องปกป้องประชากรให้ปลอดภัย แต่เราไม่เชื่อว่า ประชากรทั้งหมดต้องได้รับการฉีดวัคซีนเสียก่อน เราจึงจะเปิดพรมแดนได้” นายสุตพรหมเสน กล่าว

“เรากำลังแนะนำให้มีการเปิดพรมแดนออสเตรเลียอีกครั้ง โดยทำอย่างมีการควบคุมดูแล ทำเป็นขั้นๆ และมีการชั่งน้ำหนักความเสี่ยง”
รายงานดังกล่าวเตือนถึงความเสี่ยงของการไม่เปิดพรมแดนอีกครั้ง โดยเฉพาะรุ่นของคนอายุน้อยๆ ที่อาจกำลังเผชิญ “ทศวรรษที่หายไป”

“ช่วงปลายปีที่แล้ว ทันใดนั้นเองเราได้ตระหนักว่า มีภาคส่วนของสังคมออสเตรเลียเกือบทั้งหมดที่มีความวิกตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคต” ศ.มาร์ก สเตียส์ ผู้อำนวยการของ Sydney Policy Lab ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

“ทั้งรัฐบาลสหพันธรัฐและรัฐบาลของรัฐต่างๆ ได้รับมือกับความท้าทายของโรคระบาดได้อย่างดีเยี่ยม ดีกว่าประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ทั่วโลก แต่ผลของการหมกมุ่นกับวิกฤตที่เกิดขึ้นเบื้องหน้า จึงมีการมองไปยังขอบฟ้าไกลน้อยลง”

ศ.สเตียส์ มองว่า โครงการฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนที่ทำอย่างแข็งขันมากขึ้น เป็นก้าวสำคัญที่ประเทศจะกลับไปเปิดพรมแดนอีกครั้งได้ แต่ “เราไม่ต้องการรอจนกว่าคนสุดท้ายในประเทศจะได้รับการฉีดวัคซีน เราจึงจะเริ่มยุ่งเกี่ยวกับประเทศอื่นอีกครั้ง”

“เราได้เห็นสิ่งดีเยี่ยมที่สุดของออสเตรเลียในช่วงโควิด เมื่อผู้คนร่วมใจกันรับมือกับสถานการณ์ แต่เรายังได้เห็นเสี้ยวหนึ่งของความเลวร้ายที่สุดในด้านของการเหยียดเชื้อชาติ ความเกลียดชังชาวต่างชาติ และความตื่นกลัว”

“สิ่งที่เราไม่ต้องการเห็นในระยะต่อมาของช่วงเกิดโรคระบาดคือ ผู้คนพากันหลบภัยอยู่ใน ‘ชาติฤาษี’ (ที่ตัดขาดจากโลกภายนอก) แต่เราต้องการส่งเสริมให้ผู้คนมองไปข้างหน้าอีกครั้ง”
คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share
Published 17 May 2021 1:12pm
Updated 31 May 2021 7:27pm
By Jennifer Scherer
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends