Two adults and a young daughter on holiday.
Two adults and a young daughter on holiday.
This article is more than 1 year old

Feature

ชาวออสเตรเลียเป็นโรคภูมิแพ้อาหารมากขึ้น คุณจะต้องระวังอย่างไร

ปัจจุบันพบว่าในออสเตรเลียมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มากขึ้นเรื่อยๆ ผลการวิจัยล่าสุดเปิดเผยสถิติทารกที่มีอาการแพ้นมวัวและเม็ดมะม่วงหิมพานต์

Published 24 August 2023 11:52am
By Emma Brancatisano
Presented by Chayada Powell
Source: SBS
Image: ด.ญ เอมิลี ลูกสาวของคุณเวียตและคุณไล ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารหลายชนิด (Supplied / Vivienne Lai)
ด.ญ เอมิเลีย ลูกสาวของวิเวียน ไล ป่วยด้วยอาการแพ้อาหารตั้งแต่เล็ก ซึ่งเหมือนกับเด็กจำนวนมากในออสเตรเลีย ในปีแรกที่วิเวียนกลับไปทำงาน เธอได้รับโทรศัพท์จากสถานรับเลี้ยงเด็กเป็นประจำ

เธอบอกกับเอสบีเอสนิวส์ว่า

“ฉันได้รับโทรศัพท์แทบทุกสัปดาห์โดยสถานรับเลี้ยงเด็กแจ้งว่าเธอมีอาการแพ้บางอย่าง และนั่นทำให้ฉันต้องลางานทุกครั้งที่ได้รับสาย”

ด.ญ เอมิเลียหรือเอ็มมี ตอนนี้อายุได้ 2 ขวบครึ่งแล้ว และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นภูมิแพ้หลายอย่าง เช่น ถั่วลิสง นมวัว ไข่ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และถั่วพิสตาชิโอ

คุณ วิเวียน ไล กล่าวว่าอาการแพ้ของลูกสาวเธอ “แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่” เนื่องจากเธอไม่ได้มีอาการแพ้แต่กำเนิด

 “เธอสามารถทนต่อสารก่อภูมิแพ้เหล่านี้ได้ในช่วงสองสามเดือนแรก จนกระทั่งก่อนที่เธอจะอายุครบขวบ เราพบอาการแพ้ดังกล่าว”

“เมื่ออยู่ๆ เธอเกิดอาการแพ้ มันทำให้เราตกใจ เราเกิดความสงสัยและเป็นกังวล”

Two adults and a children smile for a photo.
Vivienne Lai with her husband Viet and daughter Emilia. Source: Supplied / Vivienne Lai
แม้จะตรวจพบอาการแพ้และสาเหตุและพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่เอมี่แพ้ในสถานที่ต่างๆ เช่น ร้านอาหารและสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่คุณ ไล กล่าวว่าลูกสาวของเธอ “ยังเกิดอาการแพ้เป็นครั้งคราว”

โดยปกติแล้ว เอมี่ จะมีอาการลมพิษขึ้นบริเวณปาก หน้าอก และหลัง แต่ถ้าเกิดอาการแพ้รุนแรงก็จะมีอาการบวมที่มือหรือเท้าด้วย

อย่างไรก็ตาม โชคดีที่เธอยังไม่ได้ป่วยเป็นภาวะภูมิแพ้รุนแรง(anaphylaxis) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ประเภทที่รุนแรงและเฉียบพลันและต้องได้รับการรักษาทันที ในตอนนี้สุขภาพของดูเหมือนจะเริ่มดีขึ้น

แต่ประสบการณ์ที่คุณไลเคยเจอนั้น เธอเล่าว่ามัน"น่ากลัว" และ "น่าวิตกกังวล"

“ดูเหมือนว่าเราจะสามารถป้องกันการเกิดอาการแพ้ได้บ้างแล้ว มันเป็นเรื่องที่เรายังต้องหาทางยับยั้งก่อนที่มันจะเกิดขึ้น”

การวิจัยล่าสุดเผยอัตราการแพ้อาหารในทารก

ผลวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี ได้เปิดเผยสถิติของจำนวนทารกในออสเตรเลียที่มีอาการแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์และนมวัวซึ่งพบเป็นครั้งแรก

จากการวิจัย 2 ฉบับที่นำโดยสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อกในนครเมลเบิร์น พบว่าจากการสำรวจทารก1,900 คน ในช่วงอายุ 1 ขวบนั้น ร้อยละ 1.4 มีอาการแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และร้อยละ 1.3 มีอาการแพ้นมวัว เมื่อเปรียบเทียบกับการวิจัยก่อนหน้านี้ซึ่งพบว่าร้อยละ 3.1 ของทารกได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้ถั่วลิสง

การวิจัยโรคภูมิแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์นี้นำโดยดร. ทิม เบรตทิก แพทย์วิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อก และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยาในเด็กที่โรงพยาบาลเด็กรอยัล ในเมลเบิร์น

กล่าวว่าผลการวิจัยนี้ตอกย้ำความเชื่อที่ว่าการแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ก็เหมือนกับการแพ้อาหารส่วนใหญ่ที่คาดว่าจะเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นของชีวิต

วิธีการที่เราเคยใช้กันมาคือการให้เด็กรับประทานอาหารประเภทถั่วในตอนที่โตแล้ว แต่ตอนนี้เราทราบจากการวิจัยหลายชิ้นว่าการให้ทางอาหารประเภทถั่วตั้งแต่ยังเล็กนั้นมีความสัมพันธ์กับอัตราการแพ้ที่ลดลง
ดร. ทิม เบรตทิก ชี้

“สำหรับผู้ปกครองหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เราสามารถใช้หลักฐานการวิจัยดังกล่าว มาเป็นแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการกับเด็กที่มีอาการแพ้อาหาร”


ส่วน ดร.วิกตอเรีย โซเรียโน จากสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อก ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยฉบับที่สอง กล่าวว่าทั้งนมวัวและเม็ดมะม่วงหิมพานต์นั้นเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุดในทารกและเด็กเล็ก โดยสถิติการแพ้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ดร. โซเรียโนกล่าวว่า

“อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่มีอาการการแพ้นมและเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่ได้รับการรับรองในออสเตรเลีย ทำให้การค้นพบนี้มีความสำคัญสำหรับการวิจัยในอนาคตว่าเราจะป้องกันได้อาการแพ้นี้อย่างไร”

จำนวนผู้ที่มีอาการการแพ้อาหารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในออสเตรเลีย

โรคภูมิแพ้เป็นโรคภาวะเรื้อรังที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากที่สุดโรคหนึ่งในออสเตรเลีย โดยส่งผลกระทบต่อประชากรประมาณหนึ่งในห้า ตามรายงานของสำนักงานยุทธศาสตร์ด้านอาการแพ้แห่งชาติ ( National Allergy Strategy)

โดยโครงการนี้เริ่มต้นโดย สมาคมวิจัยภูมิคุ้มกันและอาการแพ้แห่งออสเตรเลีย (Australasian Society of Clinical Immunology and Allergy (ASCIA) โดยอยู่ภายใต้องค์กรที่ดูแลเรื่องนี้คือ สภาโรคภูมิแพ้และอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลันแห่งออสเตรเลีย (Allergy & Anaphylaxis Australia (A&AA)

 อาการภูมิแพ้อาจรวมถึงการแพ้อาหาร แมลง และยา รวมถึงโรคหอบหืดที่เกิดจากภูมิแพ้ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (ไข้ละอองฟาง) และอาการแพ้ที่เกิดผดผื่นคัน (eczema)

จากรายงานของ ASCIA ในปี 2013 ระบุว่าภายในปี 2050 จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคภูมิแพ้ในออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ซึ่งจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคนี้ 7.7 ล้านคน


คุณ มาเรีย ซาอิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ A&AA และผู้อำนวยการสภาโรคภูมิแพ้แห่งชาติ กล่าวว่าคนแพ้อาหารมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

คุณ เซด เปิดเผยว่า
ในช่วงทศวรรษ 1990 คนไม่ค่อยป่วยด้วยโรคนี้ แต่ตอนนี้มันเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป เรามีเด็กแพ้อาหารในห้องเรียนทุกห้อง
คุณ มาเรีย ซาอิด อิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ A&AA และผู้อำนวยการสภาโรคภูมิแพ้แห่งชาติ เปิดเผยข้อมูล
 ด้าน ดร. เบรตทิกเห็นด้วยว่า

“เราพบอัตราการแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศที่มีวัฒนธรรมตะวันตก”

จากตัวเลขสถิติของสำนักงานยุทธศาสตร์ระดับชาติพบว่า ทารกประมาณหนึ่งในสิบในออสเตรเลียมีการแพ้อาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในสถิติที่สูงที่สุดในโลก โดยเด็กอายุ 10 - 14 ปี จะมีสถิติการแพ้อยู่ที่ 1 ใน 20 คน และผู้ใหญ่ 50 คนจะมีผู้ที่ป่วยด้วยอาการแพ้อาหาร 1 คน

อะไรเป็นสาเหตุของการแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้น?

ในขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

ดร. เบรตทิก กล่าวว่า

“เรามีแนวคิดบางประการที่มันอาจส่งอิทธิพลต่อตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของโรคภูมิแพ้ ซึ่งเราคิดว่ามันเกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างรวมกัน เช่น การบริโภควิตามินดี เป็นต้น”

การวิจัยของ ดร. เบรตทิก ยังพบว่าอาการแพ้ที่เกิดผดผื่นคันและการแพ้ถั่วลิสงมีความเชื่อมโยงกับการแพ้เม็ดมะม่วงหิมพานต์

ส่วน ดร.โซเรียโนระบุว่า ทารกที่มีประวัติครอบครัวแพ้อาหารและพ่อแม่ที่เกิดในเอเชียตะวันออก จะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคภูมิแพ้นมวัวและอาการผื่นคัน

ดร. เบรตทิก กล่าวว่าการวิจัยกำลังพิจารณาว่าการควบคุมปัจจัยเสี่ยงและความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมสามารถลดอัตราการแพ้ได้หรือไม่

“แต่ในขั้นตอนนี้ข้อสันนิษฐานดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิสูจน์”

การติดฉลากอาหารในออสเตรเลีย

เนื่องจากอาการแพ้อาหารส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากถั่วลิสง ถั่วเปลือกแข็ง นม ไข่ เมล็ดงา ปลาและหอย ถั่วเหลือง ถั่วลูปิน และข้าวสาลี

ตามประมวลมาตรฐานอาหารของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กำหนดไว้ว่าบนฉลากอาหารต้องมีการเขียนส่วนประกอบไว้

อาหารทั้งหมดที่จำหน่ายในทั้งสองประเทศจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องที่กำหนดโดยมาตรฐานอาหารออสเตรเลียนิวซีแลนด์ (FSANZ) และจะมีหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละรัฐดูแลอยู่

คุณซาอิดเชื่อว่ากฎหมายของออสเตรเลียมีความเข้มงวดเกี่ยวกับการติดฉลากสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุด แต่เธอตั้งคำถามว่าเรามีการเฝ้าระวังเพียงพอหรือไม่

“โดยส่วนใหญ่แล้ว เรารอให้ผู้คนมีอาการแพ้ก่อนจะพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้แสดงส่วนประกอบของอาหารนั้นบนฉลากอย่างถูกต้อง” อย่างไรก็ตาม เรายินดีที่ปัจจุบันรัฐบาลมีการตรวจสอบมากขึ้นและมีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากไม่ถูกต้อง”

จากข้อมูลของ FSANZ พบว่าในแต่ละปีสาเหตุที่มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารเนื่องมาจากการไม่ได้แสดงสารก่อภูมิแพ้บนฉลาก

โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2522 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2523 มีการเรียกคืนสินค้า 141 ครั้งในออสเตรเลีย โดยร้อยละ 43 เกิดจากการพบสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้แสดงบนฉลาก

และตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา จำนวนการเรียกคืนสินค้าโดยเฉลี่ยต่อปีจากเหตุผลนี้อยู่ประมาณร้อยละ 44

A graph showing the number of food recalls from 2013 to 2022 due to undeclared allergens (by allergen).
The number of food recalls from 2013 to 2022 due to undeclared allergens (by allergen). Source: SBS
ในบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารที่ถูกเรียกคืนเนื่องจากมีสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้แสดงบนฉลากตั้งแต่เดือนมกราคม 2022- 2023 ร้อยละ 26 มีนมเป็นส่วนผสม ร้อยละ 15 มีกลูเตน และร้อยละ 25 พบเชื่อมโยงกับสารก่อภูมิแพ้หลายชนิด

จากการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหาร 346 รายการระหว่างปี 2013 ถึง 2022 สารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้ประกาศที่พบบ่อยที่สุดคือนม (ร้อยละ 30) สารก่อภูมิแพ้หลายชนิด (ร้อยละ 18) และถั่วลิสง (ร้อยละ 15)

ทำให้ในปี 2021 มีการแก้ไขกฎใหม่สำหรับการติดฉลากสารก่อภูมิแพ้ในอาหาร โฆษกของ FSANZ กล่าวว่า

“การเปลี่ยนแปลงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้ข้อมูลสารก่อภูมิแพ้บนฉลากอาหารมีความชัดเจนและสอดคล้องกันมากขึ้น โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องแสดงข้อมูลสารก่อภูมิแพ้ในรูปแบบและตำแหน่งเฉพาะบนฉลากอาหารโดยใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษเฉพาะเจาะจง เรียบง่าย”

A graph showing the number of food recalls from 2013 to 2022 due to undeclared allergens (by food type).
The number of food recalls from 2013 to 2022 due to undeclared allergens (by food type). Source: SBS
ฉลากอาหารในบางผลิตภัณฑ์ยังใช้ข้อความเช่น "อาจมี" หรือ "อาจมีอยู่" เพื่อระบุว่าอาจมีความเสี่ยงที่อาหารหรือส่วนผสมอาจสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้โดยไม่ได้ตั้งใจ

ซึ่งสินค้าเหล่านี้อาจจะผลิตโดยโรงงานผลิตอาหารที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของหลักจรรยาบรรณ

คุณซาอิด มีความเห็นว่าข้อความเหล่านี้หรือที่เรียกว่าข้อควรระวังในการติดฉลากสารก่อภูมิแพ้แบบนี้ (PAL) เป็นเรื่องที่น่ากังวล

“บริษัทสามารถเลือกได้ว่าจะใส่คำเตือนเช่นนี้หรือไม่ก็ได้ และผู้บริโภคไม่มีทางบอกได้ว่ามีการประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียดแล้วหรือยัง”

“นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่เราได้แจ้งต่อรัฐบาลและอุตสาหกรรมอาหารไปแล้ว”

“ปัจจุบัน FSANZ ยังไม่มีแผนที่จะนำข้อกำหนดสำหรับการติดฉลากสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นข้อควรระวังมาไว้ในหลักปฏิบัติ” โฆษก FSANZ กล่าวว่าสำนักงานสารก่อภูมิแพ้ได้พัฒนาแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ PAL

การติดฉลากผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า

นักวิจัยยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการติดฉลากอย่างไม่ถูกต้องของผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า

เมื่อหลายปีก่อน ดร. แอนเดรียส โลพาตา ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก ได้ทำการศึกษาโดยทดสอบสินค้าบรรจุกล่อง 50 รายการจากร้านขายของชำในเอเชีย 6 แห่งในนครเมลเบิร์น พบว่าผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 46 มีสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้แสดงไว้บนฉลาก โดยร้อยละ 18 มีสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้ประกาศหลายชนิด ซึ่งรวมถึงไข่ กลูเตน นม และถั่วลิสง ซึ่งบางชนิดมีความเข้มข้นสูงมาก

“พวกเขาไม่ได้เขียนฉลากให้ถูกต้อง ซึ่งจากการทดสอบพวกเขาไม่ได้แสดงส่วนประกอบที่มีของสารก่อภูมิแพ้ใดๆบนฉลาก”

ร้านค้าและผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักไม่มีฉลากที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบของเรา
ศาสตราจารย์ แอนเดรียส โลพาตา ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุก เปิดเผยผลการทดลอง
ดร.โลปาตากล่าวว่าในขณะนั้นผลการศึกษาที่ว่านี้ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการควบคุมอาหารนำเข้ามายังออสเตรเลียต้องตรวจสอบมากขึ้น เขาหวังว่าการศึกษานี้จะเพิ่มความตระหนักรู้และนำไปสู่ระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวดมากขึ้น
ด้านกรมวิชาการเกษตร ประมง และป่าไม้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมความปลอดภัยของอาหารที่นำเข้าตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยมาตรฐานอาหารของออสเตรเลีย จึงมีการดำเนิน "โครงการตรวจสอบชายแดนตามความเสี่ยง"

โฆษกกระทรวงกล่าวว่า

“ภายใต้โครงการนี้ อาหารที่จัดอยู่ในประเภท 'มีความเสี่ยง' จะถูกส่งตรวจสอบทั้งหมด ส่วนอาหารอื่นๆ จะถูกสุ่มตรวจสอบ”

พวกเขากล่าวว่าอาหารนำเข้าที่จำหน่ายในออสเตรเลียทั้งหมดผ่านการตรวจสอบฉลาก ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบฉลากที่เป็นภาษาอังกฤษ และการแสดงสารก่อภูมิแพ้ใดๆ ก็ตามเป็นไปตามหลักจรรยาบรรณนี้

เมื่ออาหารอยู่ในออสเตรเลียแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลด้านอาหารของแต่ละรัฐจะติดตาม ตรวจสอบอาหารที่นำเข้า ณ จุดขายด้วย

โฆษกกล่าวว่ากระทรวงฯ ตระหนักถึงการศึกษาของ ศาสตราจารย์ โลพาตา และหน่วยงานกำกับดูแลด้านอาหารของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ติดตามกรณีดังกล่าวกับธุรกิจที่ขายอาหารนั้นๆ

“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการทดสอบอาหารประเภทดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2017 มาถึงตอนนี้ ธุรกิจอาหารดังกล่าวเลิกทำธุรกิจหรือไม่ได้ถูกนำเข้าอีกต่อไป”

พวกเขากล่าวว่าแม้จะไม่สามารถทดสอบอาหารนำเข้าทั้งหมดเพื่อหาสารก่อภูมิแพ้ที่ไม่ได้แจ้งบนฉลาก แต่กระทรวงฯ พยายามที่จะลดความเสี่ยงผ่านการดำเนินการ เช่น การติดตามการแจ้งเตือนระหว่างประเทศ การเรียกคืนสินค้าและสอบสวนเหตุการณ์ต่างๆเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในออสเตรเลียที่ระบุโดยหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละรัฐ

A graph showing food recalls in Australia between 2013 and 2022.
The number of food recalls from 2013 to 2022 in Australia. Source: SBS
คุณสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับการเรียกคืนอาหารในเว็บไซต์ ได้

หากคุณมีผลิตภัณฑ์ที่ถูกเรียกคืนในครัว อย่าเปิดใช้ คุณสามารถคืนที่ร้านที่คุณซื้อได้ และโดยปกติแล้วคุณจะได้รับเงินคืน
ลิเดีย บุคท์มันน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของสภาข้อมูลความปลอดภัยด้านอาหาร แนะนำ

เธอเรียกร้องให้ผู้บริโภคที่พบรายการอาหารที่มีฉลากไม่ถูกต้องเก็บตัวอย่างไว้พร้อมกับบรรจุภัณฑ์

“คุณสามารถรายงานเรื่องนี้ต่อเทศบาลของคุณได้”

และหากคุณคิดว่าคุณมีอาการป่วยหลังจากบริโภคผลิตภัณฑ์ ให้ไปพบแพทย์ทันทีโดยเฉพาะผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

หากคุณมีอาการแพ้ A&AA แนะนำให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ Action plan ใน ASCIA ของคุณ

หากไม่แน่ใจให้ใช้อีพิเพน (EpiPen )หรืออานาเพน (Anapen ) หากคุณไม่มี Action plan EpiPen หรือ Anapen ให้โทรเรียกรถพยาบาลที่ เบอร์โทร000

ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ A&AA หรือโทร 1300 728 000

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 




บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


 


Share