สแกมเมอร์เล็งหลอกผู้ต้องการเช่าบ้าน/เช่ารถในออสเตรเลีย

วาลิอูลลาห์ มาลิก ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงจากการที่เขาต้องการเช่ารถ จากนั้นเขาก็พบว่าข้อมูลระบุตัวตนของเขาถูกขโมยไปใช้โดยเหล่ามิจฉาชีพ

A montage of a man looking at a graphic image of a home with a rent sign on it, a car and a Facebook logo.

Temporary visa holders in search for rental properties and cars are being scammed through local community Facebook pages. Source: SBS

ฮาฟิซ มูฮัมหมัด อาบูบาการ์ โกรธจัดเมื่อเขาถูกหลอกลวงให้สูญเงินไปหลายร้อยดอลลาร์จากการหลอกลวงผ่านเฟซบุ๊กว่ามีที่พักให้เช่าโดยบุคคลหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า วาลี มาลิก

แต่วาลี มาลิก ไม่ใช่นักต้มตุ๋น เขาเป็นหนึ่งในเหยื่ออีกหลายคนที่กำลังเครียด สับสน และหวาดกลัว

คุณ วาลิอูลลาห์ มาลิก ถูกมิจฉาชีพ หรือสแกมเมอร์ หลอกลวงให้สูญเสียเงินไปหลายร้อยดอลลาร์เช่นกัน และนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

ข้อมูลระบุอัตลักษณ์ของเขาถูกขโมยไปในการหลอกลวง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อฉ้อโกงเงินจากผู้ถือวีซ่าชั่วคราวในกลุ่มชุมชนชาวปากีสถาน บนเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยกลุ่มมีสมาชิก 24,000 คน

ผู้อพยพชาวปากีสถานหลายคนร้องเรียนว่า สมาชิกกลุ่มคนหนึ่งหลอกลวงเงินผู้อื่นไปอย่างน้อย 6,000 ดอลลาร์จากการที่โพสต์ว่ามีบ้านและมีรถยนต์ 'ให้เช่า' ในกลุ่ม โดยใช้ชื่อของเหยื่อของเขาเพื่อหลีกเลี่ยงความผิด

'หวาดกลัวอย่างที่สุด'

ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ คุณมาลิก วัย 27 ปี ซึ่งถือวีซ่าบริดจิง ได้ตอบกลับโพสต์ของชายคนหนึ่งชื่อ มูฮัมหมัด โชอิบ ที่อ้างว่ามีรถยนต์ให้เช่า

นายโชอิบได้ส่งรูปถ่ายใบขับขี่ของเขาเพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งทำให้คุณมาลิกโล่งใจหลังจากตอนแรกเขาระแวงว่ารถให้เช่าดังกล่าวจะเป็นการหลอกลวง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน คุณมาลิกจึงให้รายละเอียดข้อมูลการติดต่อและสำเนาใบขับขี่ของเขาเพื่อ "วัตถุประสงค์ในการทำสัญญา"

หลังจากชำระเงินล่วงหน้า 330 ดอลลาร์ เขาก็เดินทางไปรับรถเช่าจากลานจอดรถแห่งหนึ่งทางตะวันตกของซิดนีย์ แต่พบว่าลานจอดรถนั้นว่างเปล่า ไม่มีรถคันที่เช่าไว้

สองสัปดาห์ต่อมา เขาล็อกอินเข้าสู่เฟซบุ๊ก แต่กลับพบว่าชื่อของเขา รูปโปรไฟล์ และใบขับขี่ของเขาถูกนำไปโพสต์ไว้ในห้องสนทนาในเฟซบุ๊กของกลุ่มชุมชนอื่นๆ โดยมีเหยื่อกล่าวหาว่า วาลี มาลิก หลอกลวงพวกเขา

นั่นคือช่วงที่เขาเพิ่งตระหนักว่า สแกมเมอร์ที่หลอกลวงเขาเรื่องรถให้เช่าได้ขโมยข้อมูลระบุอัตลักษณ์ของเขาไปใช้ด้วย
“มีหลายคนที่แชร์ (รายละเอียดของผม) โดยบอกว่า 'ผู้ชายคนนี้เป็นสแกมเมอร์' มันทำลายความน่าเชื่อถือของผมอย่างมาก ผมนอนไม่หลับเลย พูดตามตรง” คุณ มาลิก กล่าว

"ผมหวาดกลัวอย่างที่สุด"

ตอนนี้ คุณมาลิกกำลังส่งข้อความมือเป็นระวิงถึงผู้คนจำนวนมากในห้องสนทนาต่างๆ ทางเฟซบุ๊ก เพื่ออธิบายว่าเขาถูกสแกมเมอร์แอบนำข้อมูลไปใช้

“คนเหล่านี้ทั้งหมดถูกหลอกลวง และผมก็พยายามอธิบายเรื่องนี้ว่า มันไม่ใช่ผม ผมก็ถูกสแกมเมอร์หลอกเหมือนกัน และไม่มีใครรู้ชื่อจริงของสแกมเมอร์”

เขากล่าวว่า ตำรวจบอกกับเขาว่าปัญหานี้ซับซ้อน และตำรวจจะสามารถตั้งข้อหาผู้ถูกกล่าวหาเป็นสแกมเมอร์ได้ หากคนเหล่านี้อยู่ในออสเตรเลียเท่านั้น

ตำรวจนิวเซาท์เวลส์ยืนยันว่า ตำรวจได้เริ่มการสอบสวนกรณีของคุณมาลิกแล้ว

'ระวังตัวและอย่าไว้ใจใคร'

คุณ อาบูบาการ์ วัย 27 ปี เป็นหนึ่งในนักศึกษาต่างชาติและผู้ถือวีซ่าชั่วคราวสำหรับนักเรียนที่จบการศึกษาแล้วจำนวนมาก ที่พยายามหาที่พักในตลาดบ้านเช่า ซึ่งบ้านให้เช่ากำลังหายากอย่างมากของออสเตรเลีย

เขาเข้าตาจนไม่รู้จะหาที่อยู่ใหม่ได้อย่างไร หลังจากย้ายออกจากบ้านเพื่อน และเขาได้เห็นโพสต์จาก 'วาลิ มาลิก' ในหน้าเพจเฟซบุ๊กของกลุ่ม ซึ่งกล่าวว่ามีห้องว่างทางตะวันตกของซิดนีย์

หลังจากที่ผู้ถูกกล่าวว่าเป็นสแกมเมอร์กดดันให้คุณอาบูบาการ์ชำระเงินล่วงหน้า เขาก็จ่ายเงินไป 310 ดอลลาร์ สำหรับเงินประกัน และเก็บข้าวของเพื่อเตรียมย้ายบ้าน จนกระทั่งชายผู้นั้นบล็อกไม่ให้เขาส่งข้อความไปหาหรือโทรศัพท์ติดต่อได้
ภาพหน้าจอของการสนทนาบน Facebook
ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นสแกมเมอร์ ใช้ชื่อของเหยื่อคนก่อนๆ มาใช้เพื่อปกปิดตัวตนของเขาเอง และหลอกลวงให้ผู้อื่นจ่ายเงินล่วงหน้าสำหรับเช่าที่พักซึ่งไม่มีอยู่จริง ที่มา: Hafiz Muhammad Abubakar Source: Supplied / Hafiz Muhammad Abubakar
“เขาแชร์หมายเลขโทรศัพท์มือถือของเขาและโทรหาผมหลายครั้งเพื่อให้ผมเชื่อใจ และยังมี PAYID สำหรับหมายเลขโทรศัพท์นั้นด้วย นั่นเป็นเหตุผลที่ผมไว้ใจเขา เขาเปิดเผยที่อยู่บนใบขับขี่ด้วย” คุณ อาบูบาการ์ กล่าว

คุณ อาบูบาการ์ กล่าวว่า เขารู้สึกเหมือนมีหน้าที่ที่จะต้องแชร์รายละเอียดของ 'วาลิ มาลิก' ในกลุ่มสนทนาของชุมชนทางเฟซบุ๊ก จนกระทั่งเขาได้รู้ว่าเขาได้ทำให้คนที่ตกเป็นเหยื่อเหมือนกันอับอาย

“ผมแค่อยากเตือนคนอื่นๆ โดยเฉพาะผู้มาอยู่ใหม่ที่ค้นหาที่พักผ่านกลุ่มสนทนาทางเฟซบุ๊กให้ระมัดระวังและอย่าไว้ใจใคร” คุณ อาบูบาการ์ กล่าว

"ผู้ย้ายถิ่นฐานใหม่มักไม่สามารถไปดูห้องพักได้ล่วงหน้าและอยู่ในสถานการณ์ที่เข้าตาจนที่จะต้องย้ายไปที่พักแห่งใหม่ หลังจากออกจากสนามบินแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องไปที่ไหนสักแห่งเพื่อไปอยู่อาศัย"
เขาบอกว่าเขา "เครียด ผิดหวัง และอับอาย" ที่เขาถูกหลอก แม้จะเป็นนักเรียนต่างชาติในซิดนีย์ที่จบปริญญาด้านไอที (IT) ก็ตาม

เขาก็ไม่ใช่คนเดียวที่ตกเป็นเหยื่อ เอสบีเอส นิวส์ ได้พูดคุยกับอีก 3 คนที่ถูกหลอกลวงโดยชายคนเดียวกัน

Scamwatch หน่วยงานเฝ้าระวังการหลอกลวงของคณะกรรมการการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) ได้สังเกตเห็นว่า มีผู้ถือวีซ่าชั่วคราวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนต่างชาติ ซึ่งถูกแสวงหาประโยชน์เนื่องจากที่พักให้เช่ามีจำนวนลดน้อยในช่วงนี้ที่กำลังเกิดวิกฤตที่อยู่อาศัยในออสเตรเลีย

จากข้อมูลล่าสุดในรายงานปี 2021 ผู้คนจากชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรม (CALD) ได้รายงานการถูกหลอกลวง 14,060กรณีและสูญเสียเงินไป 42 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 88 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ค่ามัธยฐานของเงินที่ถูกหลอกลวงไปสำหรับผู้คนจากชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรม คือ 1,200 ดอลลาร์ เทียบกับคนที่ไม่ได้มาจากชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ที่ 845 ดอลลาร์

จะป้องกันตนเองไม่ให้ถูกหลอกได้อย่างไร

Scamwatch แนะนำให้ผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่กำลังมองหาที่พัก หลีกเลี่ยงการทำข้อตกลงเช่าที่พักอย่างไม่เป็นทางการ

พวกเขาควรระวังว่า สแกมเมอร์จะพุ่งเป้าไปยังผู้ที่โพสต์ในโซเชียลมีเดียว่าพวกเขากำลังมองหาห้องเช่า

และ Scamwatch เตือนว่าผู้คนควรไปดูห้องหรือบ้านที่พวกเขาต้องการเช่าก่อนที่จะจ่ายเงินใดๆ รวมถึงจ่ายเงินประกันหรือจ่ายค่าเช่า ทั้งนี้เจ้าของบ้านที่ถูกต้องตามกฎหมายจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้เช่าที่ต้องการดูบ้านก่อนจะตัดสินใจเช่า
ในคำแถลงถึงเอสบีเอส นิวส์นั้น Meta บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กกล่าวว่า บริษัทจะบล็อกบัญชีผู้ใช้งานปลอม ในขณะที่แนะนำให้ผู้คนรู้จักป้องกันตนเองไม่ให้ถูกหลอกลวง

“สแกมเมอร์นำเสนอความท้าทายมาสู่สภาพแวดล้อมออนไลน์ทุกแห่ง และตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนออนไลน์ก็ไม่มีข้อยกเว้น” Meta โฆษกระบุในแถลงการณ์

"เรามุ่งมั่นที่จะปกป้องความน่าเชื่อถือของบริการของเรา และได้ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากและแนวทางทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องชุมชนของเราจากบัญชีผู้ใช้ปลอมและพฤติกรรมที่ไม่ซื่อสัตย์อื่นๆ”

"เรายังสนับสนุนให้ผู้ใช้มีมาตรการเพื่อป้องกันตนเอง เช่น ตรวจสอบรีวิว (review) ของผู้ขายออนไลน์ ไม่ส่งเงินจนกว่าคุณจะเห็นสินค้าที่ขาย และใช้ตัวเลือกการชำระเงินที่ให้การป้องกันที่รัดกุม"

เอสบีเอส นิวส์ ได้ติดต่อผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นสแกมเมอร์เพื่อขอความคิดเห็น แต่ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ กลับมา


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 3 March 2023 12:24pm
By Rayane Tamer
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS


Share this with family and friends