เล่าประสบการณ์ตรงถูกตรวจเชื้อโคโรนาในออสเตรเลีย

คนไทยเล่าประสบการณ์ตรงของการไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาในออสเตรเลีย และแนะนำผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศไทย ถ้ามีอาการป่วย ไม่แน่ใจว่าติดเชื้อไวรัสร้ายนี้มาหรือไม่ ควรทำอย่างไร

คุณ อภิญญา ฤทธิ์มหา หรือเจี๊ยบ เล่าประสบการณ์ตรงของการไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาในออสเตรเลีย

คุณ อภิญญา ฤทธิ์มหา หรือเจี๊ยบ เล่าประสบการณ์ตรงของการไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาในออสเตรเลีย Source: Supplied

คุณ อภิญญา ฤทธิ์มหา หรือเจี๊ยบ คนไทยในเพิร์ท ที่เพิ่งเดินทางกลับจากเมืองไทยเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ กล่าวว่า เธอผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของออสเตรเลียได้อย่างไม่มีปัญหา รัฐบาลออสเตรเลียไม่ได้มีการห้ามผู้คนที่เดินทางมาจากเมืองไทยเข้าประเทศแต่อย่างใด

“ไม่มีปัญหาค่ะ คนไทยเข้ามาได้ตามปกติ” คุณเจี๊ยบย้ำ พร้อมเล่าต่อไปว่า เธอได้สอบถามไปทางกรมตรวจคนเข้าเมืองขอออสเตรเลียก่อนการเดินทาง และได้รับคำตอบที่ไขความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า

“ก่อนไป เราสอบถามไปทาง ตม. ว่า ถ้าฉันเดินทางไปในช่วงเวลานี้ แล้วตอนที่ฉันกลับมา ฉันจะโดนยกเลิกเที่ยวบิน หรือโดนกักตัวไหม หรือจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ตม. เขาก็บอกว่า ถ้าคุณไม่ได้เดินทางไปจีน คุณก็จะไม่มีปัญหาอะไร”

คุณเจี๊ยบเล่าต่อไปว่า ผู้คนที่เดินทางมาด้วยเที่ยวบินเดียวกันจากเมืองไทย ที่ไม่มีอาการป่วย ก็ไม่มีใครที่ต้องไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา เมื่อเดินทางมาถึงออสเตรเลียแล้ว

“ถ้าคุณไม่มีอาการอะไร ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเพื่อนๆ ที่เดินทางมาด้วยเที่ยวบินเดียวกัน ก็ไม่มีใครต้องไปตรวจค่ะ”

แต่สิ่งที่ทำให้คุณเจี๊ยบต้องไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา คือนัดตรวจร่างกายกับแพทย์ที่นัดไว้แล้วตั้งแต่ก่อนเดินทาง

“ตัวเองต้องไปตรวจเพราะต้องกลับไปทำงานในโรงพยาบาล แพทย์ถามว่า คุณเพิ่งเดินทางกลับมาใช่ไหม แล้วคุณมีอาการอะไรหรือเปล่า แต่เพราะตอนอยู่เมืองไทยอากาศร้อน แล้วมาถึงเพิร์ท ก็มีฝนตก เราก็เลยบอกว่า เรามีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวนิดหน่อย ไอนิดหน่อย หมอ เลยแนะนำให้ไปแผนกฉุกเฉินที่โรงพยาบาลของรัฐได้ทุกที่ และให้โทรศัพท์ปรึกษาสายด่วนให้คำปรึกษาเรื่องเชื้อไวรัสโคโรนา” สาวไทยในเพิร์ท ผู้นี้เล่า

เธอกล่าวต่อไปว่า จากคำแนะนำของแพทย์สำหรับผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมา แล้วมีอาการป่วยที่คล้ายคลึงการอาการของไข้หวัดใหญ่และไม่แน่ใจ ก็สามารถไปรับการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาได้ทันที

“ถ้าคุณเพิ่งเดินทาง แล้วกลับมา ถ้าเกิดมีอาการป่วย หรือไม่สบาย แนะนำว่า ไม่ต้องไปหาหมอจีพี เขาบอกว่า ถ้าคุณกลัวว่าจะติดเชื้อโคโรนามาหรือเปล่า ให้ไปที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลได้เลยค่ะ”
คุณเจี๊ยบ เล่าว่า เมื่อไปถึงโรงพยาบาลเพื่อตรวจเชื้อนี้ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ไม่ได้มีท่าทีตกใจหรือตื่นตระหนก หลังการตรวจร่างกายเบื้องต้น เธอก็ถูกพาเข้าไปในห้องฆ่าเชื้อ

“เขาให้เราไปอยู่ในห้องฆ่าเชื้อ จากนั้นจะมีหมอและพยาบาลเฉพาะทางด้านนี้เข้ามาในห้อง โดยทุกคนจะสวมชุดพลาสติกและใส่หน้ากากอนามัยตลอด เพื่อป้องกันตัวเอง จากนั้นก็ตรวจเช็คร่างกาย มีการสอบถามอาการ ขอตรวจเลือดเพิ่ม”

คำถามที่เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์สอบถาม เพื่อดูความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสโคโรนาของคุณเจี๊ยบขณะที่อยู่ประเทศไทย เช่นว่า “เขาถามว่าไปเมืองไทย ไปที่ไหนมาบ้าง ไปกี่วัน กินข้าวที่ไหนมาบ้าง มีอาการป่วยไหม ได้จับสัตว์อะไรไหม ได้ไปอยู่ในแหล่งชุมชนหรือเปล่า”

สำหรับการตรวจร่างกาย เจ้าหน้าที่จะเน้นเรื่องรบทางเดินหายใจมากเป็นพิเศษ “เขาเช็คน้ำลาย เช็คจมูก เช็คเสมหะ และตรวจปัสสาวะ และเน้นระบบหายใจ โดยสอบถามว่า มีอาการหายใจติดขัดไหม อาการไข้เป็นอย่างไร ไอมากไหม มีเสมหะหรือไอแห้ง”

คุณเจี๊ยบเล่าว่า หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ ได้ให้เธออยู่ในห้องฆ่าเชื้อต่อไปอีกราว 2 ชั่วโมง เพื่อสังเกตอาการเพิ่มเติม เมื่อไม่มีอาการเพิ่ม เจ้าหน้าที่ จึงแจ้งให้เธอกลับบ้านได้ แต่ขอให้แยกตัวเองออกจากผู้อื่นในระยะเวลาที่กำหนด

“สำหรับเรา เรามองการกักตัว (เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคสู่ผู้อื่น) เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เขาบอกว่า แค่กักตัวคุณอยู่ที่บ้าน แค่ไม่ให้ออกไปสู่สังคมภายนอกในระยะเวลาที่คุณป่วยเท่านั้น”

“เขาแนะนำให้เราต้องใส่หน้ากากอนามัย แยกห้องนอน ระหว่างที่รอผลตรวจเลือดเป็นเวลา 2 อาทิตย์ อย่าเพิ่งออกจากบ้าน และแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ”
หลังจากกลับมากักกันโรคอยู่ที่บ้าน 3 วัน ผลการตรวจที่ทำให้คุณเจี๊ยบโล่งใจ ก็ออกมา

“มาอยู่บ้าน 3 วัน ศูนย์เขาก็โทรศัพท์มือ บอกว่า ผลเลือดคุณเนกาทีฟ (ไม่มีเชื้อ) คุณสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ” คุณเจี๊ยบ กล่าว

แต่ขณะเดียวกัน หากพบว่าผู้รับการตรวจมีเชื้อไวรัสโคโรนา ศูนย์จะโทรศัพท์มือให้บุคคลนั้น กลับไปอยู่ที่โรงพยาบาล

คุณเจี๊ยบ ยังบอกผ่าน เอสบีเอส ไทย ไม่อยากให้คนไทยในออสเตรเลียรู้สึกกังวลกับการที่ต้องเดินทางในช่วงนี้

“ตัวเองก็มีความกังวลใจเหมือนกัน มีความกังวลใจว่าถ้าไปจะได้กลับมาไหม ถ้าไปจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า แต่ที่เห็นการป้องกันที่สนามบินที่เมืองไทยและที่ออสเตรเลีย พบว่าไม่มีปัญหาอะไร หมอก็บอกเองว่า แม้จะมีคนเป็นกันเยอะ แต่เขาก็รักษาหาย เลยไม่อยากให้ทุกคนตื่นตระหนก และอยากให้ใช้ชีวิตประจำวันไปตามปกติ”

“บางคนมีธุระที่ต้องกลับเมืองไทย แต่มีความกังวลใจมากมาย การติดตามข่าว มันก็สนุกดี แต่เราอย่าไปตื่นตระหนกหรือกังวลใจให้มากเกินไป เพราะรัฐบาลมีการเตรียมพร้อมและเข้มงวด” คุณเจี๊ยบ ย้ำ

เธอ ยังแนะนำถึงวิธีการที่เธอใช้ในช่วงเดินทาง และในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา “เจี๊ยบจะเลี่ยงการจับสิ่งของในที่สาธารณะ เช่น ไม่จับราวบันได หรือเวลาจะกดลิฟท์ ก็ใช้ปลายกุญแจกดแทน และล้างมือบ่อยๆ อีกทั้งหมอเองแนะนำว่า ถ้าคุณมีสุขภาพแข็งแรง ก็ไม่มีอะไรที่น่ากลัวค่ะ”

สำหรับผู้ที่เพิ่งเดินทางแล้วกลับมายังออสเตรเลียจากประเทศไทย หรือประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศจีน และมีอาการป่วยและไม่แน่ใจว่าจะติดเชื้อไวรัสโคโรนามาหรือไม่ สามารถโทรศัพท์ไปปรึกษาและรับคำแนะนำได้จาก โทรศัพท์สายด่วน ให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา หรือใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า  ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 020 080 ซึ่งสามารถโทรไปได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน

ฟังการพูดคุยกับคุณเจี๊ยบ อภิญญา ฤทธิ์มหา เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเต็มๆ ได้ที่นี่

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 24 February 2020 2:19pm
Updated 24 February 2020 2:23pm
By Parisuth Sodsai
Presented by SBS Thai
Source: SBS Thai

Share this with family and friends