เราใช้เวลาเดินทางไปทำงานเท่าเดิม แม้ประชากรเพิ่มขึ้น

NEWS: จากการศึกษาวิจัยล่าสุดพบว่า ระยะเวลาในการเดินทางไปทำงานและระยะทางของการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยใน ระหว่างปี 2011-2016 แม้ออสเตรเลียจะมีจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น

ระยะเวลาในการเดินทางไปทำงานและระยะทางของการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วงปี 2011-2016 (AAP)

ระยะเวลาในการเดินทางไปทำงานและระยะทางของการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงาน ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วงปี 2011-2016 Source: AAP

You can read the full article in English

ข้ออ้างที่ว่าการที่ประชากรในนครหลวงต่างๆ ของออสเตรเลียมีจำนวนมากขึ้น จะทำให้ประชาชนต้องใช้เวลานานขึ้นในการเดินทางไปทำงานนั้น ไม่จริงเลย จากผลการวิจัยล่าสุด

การวิจัยของสถานบันแกรตแทน (Grattan Institute) พบว่าระยะทางในการเดินทางไปทำงานและระยะเวลาที่ใช้เดินทางไปทำงานของประชาชนนั้น แทบจะไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วงเวลา 5 ปี ระหว่างปี 2011-2016 แม้ว่า ประชากรในซิดนีย์และเมลเบิร์นจะเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดในหมู่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม

แต่ปัญหาคือเรื่องของความแออัด ซึ่งนำไปสู่การที่มีผู้ใช้บริการอย่างเนื่องแน่นบนรถไฟ รสบัสประจำทาง และรถรางต่างๆ รวมทั้งยังก่อให้เกิดความล่าช้าในการเดินทางเนื่องจากการจราจรที่ติดขัดในบางเส้นทางที่ถือว่าเป็นเส้นทางที่การจราจร ‘เลวร้าย’ ด้วย

การวิจัยยังพบว่าผู้อพยพย้ายถิ่นที่เข้ามาอยู่ในออสเตรเลีย ไม่ได้ทำให้นครหลวงต่างๆ มีการจราจรติดขัดจนขยับไม่ได้ แม้ว่าจะมีกระแสเรียกร้องให้ออสเตรเลียลดการรับผู้อพยพย้ายถิ่น เพื่อแก้ปัญหาความแออัดก็ตาม

นครหลวงต่างๆ ในออสเตรเลีย ยังคงสามารถรับมือกับความแออัดได้ แม้ว่าโครงการด้านการคมนาคมที่สำคัญ อย่างโครงการก่อสร้างรถไฟ เมลเบิร์น เมโทร โครงการเวสคอนเน็กซ์ ในซิดนีย์ และโครงการเส้นทางรถไฟ ครอสส์ ริเวอร์ เรล ของบริสเบน ยังคงก่อสร้างกันอยู่ และยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์

“จนถึงขณะนี้ ผลกระทบของประชากรที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อระยะทางการเดินทางไปกลับที่ทำงาน และระยะเวลาของการเดินทาง แม้ว่าจะมีรายงานของสื่อออกมาบ่อยๆ ที่อ้างว่าความจริงไม่เป็นเช่นนั้น” การวิจัยดังกล่าวระบุ

“ระยะทางเฉลี่ยของการเดินทางไปที่ทำงานแทบไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วงเวลา 5 ปี จนถึงปี 2016 ซึ่งมีการทำสำมะโนประชากรครั้งล่าสุด และแทบจะมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หรือไม่มีเลย ในเรื่องระยะเวลาของการเดินทางไปทำงาน”

นางแมเรียน เทอร์ริลล์ ผู้อำนวยการโครงการด้านการคมนาคมขนส่ง ของสถาบันแกรตแทน กล่าวว่า รัฐบาลของแต่ละรัฐ ควรทำตามแบบอย่างของมณฑลนครหลวงออสเตรเลีย หรืออีซีที ที่กำลังทยอยเลิกเก็บค่าอากรแสตมป์ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับการย้ายที่อยู่อาศัยของประชาชน

เธอยังได้เรียกร้องให้ซิดนีย์และเมลเบิร์น เริ่มเรียกเก็บค่าความคับคั่ง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้รถยนต์ ที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางในช่วงเวลาที่การจราจรหนาแน่น ให้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่การจราจรติดขัด

“หากมีการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ การอาศัยและทำงานในพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่ใกล้กัน จะมีข้อดีที่หักลบความแออัดยัดเยียดไปได้ และไม่ทำให้เกิดความต้องการที่จะปิดกั้นไม่ให้คนใหม่ๆ เข้ามาอยู่” นางเทอร์ริลล์ ระบุ


Share
Published 2 October 2018 12:13pm
Updated 2 October 2018 12:17pm
Presented by Parisuth Sodsai
Source: AAP


Share this with family and friends