รัฐฯ ประณามความหวาดกลัวอิสลามมุ่งเป้าผู้หญิงสวมฮิญาบ

NEWS: ผลการวิเคราะห์ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ในออสเตรเลียพบว่าผู้กระทำการไม่มีความเกรงกลัวต่อการกระทำผิดในเรื่องนี้

นาย เดวิด โคลแมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอพยพย้ายถิ่น ได้กล่าวว่า เขารู้สึกตกใจมากกับกรณีตัวอย่างหลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความหวาดกลัวอิสลามที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย ตามที่ระบุไว้ในรายงานล่าสุดพบว่าผู้หญิงและเด็กหญิงที่สวมฮิญาบมีความเสี่ยงสูงที่ถูกตกเป็นเป้าโจมตีในเรื่องนี้

จากผลการวิเคราะห์พบว่าในระหว่างปี 2016 -2017 ได้รับรายงานว่ามีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความกลัวอิสลามเกิดขึ้นราวๆ 350 ครั้ง ซึ่งจากตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าผู้กระทำความผิดที่ไม่มีความเกรงกลัวใดๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยที่ร้อยละ 30 ของเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในสถานที่ที่มีการคุ้มกันโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วย

การรายงานเกี่ยวกับความหวาดกลัวอิสลามในออสเตรเลียในปี 2019 ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะในวันจันทร์ที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2016 – 2017 สถิติการถูกโจมตีอันเกี่ยวเนื่องมาจากความหวาดกลัวอิสลาม ร้อยละ 60 เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะซึ่งมันเป็นตัวเลขที่มากขึ้นเป็นสองเท่าจากเมื่อ 15 เดือนก่อน
รายงานฉบับนี้ จัดทำขึ้นโดย ศูนย์อิสลามและอารยะธรรมศึกษา แห่งมหาวิทยาลัย ชาร์ลส์ สจ๊วต (Charles Sturt University’s Centre for Islamic Studies and Civilisation) การศึกษานี้พบว่ากว่าร้อยละ 70 ของเหยื่อคือผู้หญิงและเด็กหญิงชาวมุสลิม

และในจำนวนตัวอย่างนับสิบกรณีพบว่า มี 3 เหตุการณ์ที่มีปืนปลอมเข้ามาเกี่ยวข้อง

ตัวอย่างเช่น แม่คนหนึ่งกล่าวว่าเธอเดินทางไปกับคณะประสานเสียงของโรงเรียนจากนครเมลเบิร์นไปยังนครแอดิเลด เมื่อรถติดไฟแดงอยู่ตรงกันข้ามกับผับแห่งหนึ่ง ก็มีชายผู้หนึ่งก็ทำท่ายิงรถบัสที่เต็มไปด้วยเด็กนักเรียน เธอเล่าว่า

“รถบัสของเรามีผู้หญิงหลายคนที่คลุมผ้าฮิญาบ และหนึ่งในนั้นก็คือฉันเองซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนกิจกรรมนี้ ในขณะที่ฉันนั่งมองดูถนนข้างนอก ผู้ชายคนนั้นก็ทำท่ายิงมาที่รถ”

นายโคลแมน กล่าวว่ารัฐบาลจะไม่มีความอดทนกับความอคติทางชาติพันธุ์หรือวัฒนธรรม เขากล่าวในตอนหนึ่งในคำแถลงการณ์ของเขาว่า

“จากกรณีตัวอย่างของการเลือกปฏิบัติต่อชาวออสเตรเลียผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่ปรากฏในรายงานนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง”
เหตุการณ์อีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับรายงานก็คือ แม่คนหนึ่งและลูกสาวของเธอได้ถูกรถชนขณะที่ข้ามถนนและทำให้ผ้าคลุมศีรษะของเธอหลุดออก

ทางด้าน นาย แอนดรู ไจลส์ โฆษกของกระทรวงการอพยพย้ายถิ่นของพรรคฝ่ายค้านกล่าวว่า ความหวาดกลัวอิสลามนั้นต้องถูกประณาม เขาชี้ว่า

“การเหยียดเชื้อชาติและการดูถูกนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และมันถึงเวลาที่ชาวออสเตรเลียทุกคนจะต้องสามัคคีกันในการสร้างความหวังและขจัดความเกลียดชัง” นาย แอนดรู ไจลส์ กล่าว

การสบประมาทที่มุ่งเป้าไปยังรูปลักษณ์ภายนอก

นอกจากการดูถูกเหยียดหยามที่ปรากฏในโลกออนไลน์แล้ว ปรากฏว่ากว่าสองร้อยกรณีที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงนั้น เหยื่อที่ตกเป็นเป้าหมายของความหวาดกลัวอิสลามอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเปิดเผยว่าพวกเขาไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนที่ผ่านไปมา

พวกเขาถูกตกเป็นเป้าของการดูถูกเหยียดหยามโดยวาจา การพูดจาลามกหยาบคาย การคุกคามทางร่างกายและการขู่เอาชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นเมื่อพวกเขากำลังจับจ่ายซื้อของ

พบว่าร้อยละ 75 ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผู้กระทำผิดเป็นชายผิวขาว

การสบประมาทที่เกิดขึ้นในหลายๆเหตุการณ์จะมุ่งไปที่การแต่งกายของชาวมุสลิมและศาสนาของพวกเขา โดยที่ร้อยละ 96 พบว่าผู้หญิงทั้งหลายที่ตกเป็นจำเลยสวมผ้าคลุมฮิญาบในตอนที่เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น
Two New Zealand women embrace in the wake of the Christchurch terror attack in March.
ผู้คนปลอบประโลมกันหลังจากเกิดเหตุยิงกราดที่มัสยิดเมืองไครสต์เชิร์ช Source: Getty Images
ระยะเวลาของการทำวิจัยนี้เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์การยิงกราดที่มัสยิดของเมืองไครสต์เชิร์ช (Christchurch) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาด้วย เหล่านักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ความรุนแรงในระดับที่น่าตกใจของวาทกรรมความเกลียดชังในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งหมายรวมถึงการขู่เอาชีวิตที่มีจำนวนมากขึ้นด้วยอาจเป็นการหล่อหลอมความคิดของผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

“ทั้งในโลกออนไลน์และในชีวิตจริง ผู้คนได้บรรยายว่าพวกเขาอยากจะเอาชีวิตคนมุสลิมทุกคนและในกรณีเหล่านี้ปรากฏว่าไม่มีการสืบสวนหรือดำเนินคดีใดๆ ซึ่งมันมาสู่การตั้งคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับความรัดกุมและความเข้มแข็งของกฎหมายปัจจุบัน” รายงานฉบับนี้บันทึกไว้

ส่วน ดอกเตอร์ เดอร์ยา อิเนอร์ หัวหน้านักวิจัยกล่าวว่า ตัวเลขที่แท้จริงของเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความกลัวอิสลามนี้น่าจะสูงกว่า 349 กรณี ที่ได้รับการรายงานเป็นทางการ  เธอเปิดเผยว่า

“โดยเฉพาะกรณีที่เกิดอารมณ์ร่วมของความรู้สึกต่อต้านอิสลามที่เกิดขึ้นในวาทกรรมทางการเมืองและสื่อเป็นเรื่องปกติ ทำให้สาธารณะรู้สึกนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้” ดอกเตอร์  อิเนอร์ กล่าว เธอชี้ว่า

“และด้วยเหตุการณ์ที่เกิดในไครสต์เชิร์ชยังอยู่ความทรงจำ เราไม่สามารถที่จะชะล่าใจในเรื่องนี้ได้  ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมเป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องรักษาและซ่อมแซมโดยเราทุกคนเพื่อความอยู่ดีมีสุขและความปลอดภัยของออสเตรเลีย” ดอกเตอร์ เดอร์ยา อิเนอร์ สรุป

การรายงานเรื่องความหวาดกลัวต่ออิสลามในออสเตรเลียนี้ได้เกิดการรณรงค์การบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการจัดทำวิจัยการรายงานเล่มต่อไปซึ่งจะเป็นการวิจัยในช่วงเวลาก่อนและหลังการเกิดเหตุสลดในเมืองไครสต์เชิร์ช

You can check out the full version of this story in English on SBS News 

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 18 November 2019 11:37pm
Updated 19 November 2019 10:18am
By Rosemary Bolger
Presented by Chayada Powell
Source: SBS News


Share this with family and friends