ชาวออสฯ เครียดเรื่องเช่าบ้านแม้เงินช่วยผู้ว่างงานเพิ่ม

มีรายงานล่าสุดที่เปิดเผยว่า ชาวออสเตรเลียบางส่วนที่ตกงานในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา ต้องจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยถึงร้อยละ 70 ของรายได้ทั้งหมด

Kingsley Wallman

Kingsley Wallman Source: Sarah Maunder/SBS News

คุณคิงสลีย์ วอลแมน (Kingsley Wallman) ย้ายมาอาศัยอยู่ในนครเมลเบิร์นจากนครโฮบาร์ต เมื่อ 12 เดือนที่ผ่านมา เพื่อเข้าทำงานในตำแหน่งงานทนายความอาวุโส แต่เพียงไม่กี่เดือนที่สถานการณ์ไวรัสโคโรนาได้เริ่มต้น นั่นทำให้เขาตกงานที่เขาเพิ่งเริ่มทำได้ไม่นาน และต้องจำใจย้ายกลับไปยังนครโฮบาร์ต 

“ค่าเช่าในเมลเบิร์นมากกว่าเงินชดเชยรายได้จ๊อบซีกเกอร์ที่ผมได้รับ ผมจ่ายไม่ไหวจริง ๆ” คุณวอลแมน ในวัย 56 ปี กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์  

ในตอนนี้ เขาได้ไปอาศัยอยู่กับเพื่อนของเขาเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เขายังคงหางานใหม่ไม่ได้
Kingsley Wallman
Kingsley Wallman Source: Sarah Maunder/SBS News
“ตั้งแต่ผมกลับมา ผมก็หางานอยู่ตลอด ผมสมัครงานไปหลายตำแหน่ง ทั้งที่นี่และที่เมลเบิร์น แต่ก็ไม่มีใครเรียกผมไปสัมภาษณ์งานแม้แต่รายเดียว” คุณวอลแมน กล่าว

ไม่ใช่เพียงคุณวอลแมนที่ประสบกับปัญหาเหล่านี้ ข้อมูลจากดัชนีความสามารถในการจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัย ()ในปีนี้ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ประจำปี ที่จัดทำโดยกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงธนาคาร องค์กรเพื่อผู้ยากไร้อย่าง บราเธอร์ฮูด ออฟ เซนต์ ลอวเรนซ์​ (Brotherhood of St Laurence) และ เนชันแนล เชลเตอร์ (National Shelter) ได้แสดงให้เห็นถึงความสิ้นหวังของผู้เช่าอาศัยที่ว่างงาน

ดัชนีล่าสุด ซึ่งได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของเงินช่วยเหลือสมทบที่รัฐบาลจ่ายเพิ่มเติม ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา จนถึงช่วงไตรมาสเดือนมิถุยายนที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่า แม้การเพิ่มเงินสงเคราะห์รายได้จ๊อบซีกเกอร์ จะช่วยเหลือในเรื่องความสามารถในการจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัย สำหรับครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ แต่ผู้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวจากรัฐบาลยังคงต้องเผชิญกับความเครียดในการเช่าที่พักอาศัยในระดับปานกลางและระดับสูง 

แม้ว่าเงินสนับสนุนที่เพิ่มขึ้น ช่วยเหลือผู้ที่รับเงินสงเคราะห์รายได้จ๊อบซีกเกอร์อยู่แล้ว แต่มีผู้รับเงินสงเคราะห์รายได้รายใหม่ประมาณ 755,000 ราย ซึ่งตกงานจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ต่างกำลังเผชิญกับแรงกดดันมหาศาล ในการต้องจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 42 – 69 ของรายได้ ในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

คุณเอลเลน วิทเต (Ellen Witte) พาร์ทเนอร์จาก SGS Economics and Planning ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผู้จัดทำดัชนีความสามารถในการเช่าที่พักอาศัย กล่าวว่า มีหลายครัวเรือนที่กำลังเผชิญกับการติดอยู่ในวงจรของความยากจน ด้วยตำแหน่งงานที่ลดลง และผู้คนต่างย้ายออกจากตัวเมืองไปยังพื้นที่ซึ่งมีค่าเช่าถูกกว่า แต่กลับมีงานและบริการในพื้นที่ในระดับต่ำ
SGS Economics and Planning partner Ellen Wiite
SGS Economics and Planning partner Ellen Wiite Source: Sarah Maunder/SBS News
เธอกล่าวว่า ตลาดที่พักอาศัยกำลังตอบรับ กับการที่ผู้รับเงินสงเคราะห์รายได้จากรัฐไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยในอัตราสูงได้ ด้วยการลดค่าเช่าให้ถูกลง 

“ก่อนหน้านี้ ผู้รับเงินสงเคราะห์รายได้จ็อบซีกเกอร์ (JobSeeker) สามารถจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยได้ โดยคิดเป็น 30 – 35% จากรายได้ทั้งหมด แต่ในตอนนี้ พวกเขาต้องจ่ายค่าเช่าซึ่งคิดเป็น 60% ของรายได้ที่พวกเขามี” คุณวิทเต กล่าว 

“มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นจึงทำให้ผู้คนเหล่านั้นต้องย้ายออกไป”

ทั้งนี้ ความเครียดในตลาดที่พักอาศัยนั้น หมายถึงจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยในอัตราที่มากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมด

‘โฮบาร์ต’ ครองแชมป์เช่าที่พักอาศัยยากที่สุดอีกปี

ดัชนีดังกล่าวพบว่า นครโฮบาร์ต เป็นเมืองที่ผู้คนสามารถเช่าที่พักอาศัยได้น้อยที่สุดในออสเตรเลียติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ตามมาด้วยนครแอดิเลด ขณะที่เมืองอื่น ๆ นั้น ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ได้ทำให้ราคาเช่าที่พักอาศัยนั้นลดลง

ในทั่วประเทศ ผู้เช่าจะจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยคิดเป็นร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่ในนครโฮบาร์ตนั้น ผู้คนต้องจ่ายค่าเช่าที่พักอาศัยคิดเป็นร้อยละ 31 ของรายได้ทั้งหมด 

“เราพบเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของพลเมืองใหม่ที่ซื้อบ้านในแทสเมเนีย โดยพวกเขาได้ใช้กำลังซื้อจากแผ่นดินใหญ่ ผลักดันราคาที่พักอาศัยให้สูงขึ้น” นางวิทเต กล่าว
For the third year in a row, the index found Hobart to be the country's least affordable city.
For the third year in a row, the index found Hobart to be the country's least affordable city. Source: Sarah Maunder/SBS News
นางวิเต ได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลทั่วออสเตรเลีย เพื่อลงทุนในการสร้างอาคารสงเคราะห์ โดยได้กล่าวชื่นชมโครงการอาคารสงเคราะห์มูลค่า $5,300 ล้านดอลลาร์ของรัฐวิกตอเรีย ในการสร้างอาคารสงเคราะห์จำนวน 12,000 แห่งทั่วรัฐ

“นั่นไม่เพียงแต่จะสร้างตำแหน่งงานเป็นจำนวนมาก แต่มันเป็นสิ่งที่สำคัญมากในช่วงขาลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรากำลังประสบอยู่ในตอนนี้” นางวิเต กล่าว

“เราหวังว่าจะมีการประกาศโครงการในลักษณะดังกล่าวในเมื่องอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะหารประกาศเป็นโครงการระดับชาติ" 

ด้านองค์กรการกุศล Brotherhood of St Laurence ยังต้องการให้มีการทุ่มเทงบประมาณมากขึ้นในโครงการอาคารสงเคราะห์

“เรากำลังเรียกร้องให้มีการลงทุนในโครงการอาคารสงเคราะห์และที่พักอาศัยราคาย่อมเยาว์ มันถึงเวลาอันสมควรแล้วสำหรับสิ่งเหล่านั้น เราพบกับอัตราการว่างงานที่สูง ดังนั้น เราจึงต้องการให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ” ศาสตราจารย์ เชล์ลีย์ มาล์เล็ตต์ (Shelley Mallett) ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและนโยบาย กล่าว

รัฐบาลสหพันธรัฐ มีกำหนดในการลดอัตราจ่ายเงินสงเคราะห์รายได้จ็อบซีกเกอร์ (JobSeeker) ที่ผู้รับคนหนึ่งพึงได้จาก $815 ดอลลาร์ต่อ 2 สัปดาห์ เหลือ $715 ดอลลาร์ต่อ 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2021 เป็นต้นไป

โดยองค์กรการกุศล The Brotherhood of St Laurence คาดว่า จะมีผู้ขอรับเงินสงเคราะห์รายได้จ็อบซีกเกอร์รายใหม่อีก 1.8 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้

"สิ่งที่เราวิตกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือการที่มันจะกลายเป้นวิกฤตขนาดใหญ่สำหรับผู้คนจำนวนมาก ขณะที่มีผู้ขอรับเงินช่วยเหลือผู้ว่างงานจ็อบซีกเกอร์เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ" ศาสตราจารย์มาล์เล็ตต์ กล่าว

สำหรับคุณวอลแมนนั้น เขาไม่แน่ใจว่าอนาคตของเขาจะเป็นอย่างไร

“ในภายภาคหน้า เรื่องนี้ได้ส่งสารที่ชัดเจนว่า อย่าวางแผนหรือคาดหวัง ว่าการจ้างงานจะเป็นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา” คุณวอลแมน กล่าว

Share
Published 2 December 2020 1:25pm
Updated 12 August 2022 3:09pm
By Evan Young, Sarah Maunder
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends