สิ่งแวดล้อมออสเตรเลียเริ่มฟื้นสภาพแต่สัตว์ยังคงเสี่ยง

อุณหภูมิลดลงประกอบกับปริมาณฝนตกเพียงพอช่วยให้สิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียฟื้นตัวจากภาวะแห้งแล้ง คลื่นความร้อน และมหันตภัยไฟป่า แต่ความหลากหลายทางชีวภาพยังคงเผชิญปัญหา

Twelve Australian species, including a skink, were declared extinct in 2021

Twelve Australian species, including a skink, were declared extinct in 2021. Source: SOPA Images/Sipa USA

สภาพแวดล้อมของออสเตรเลียเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังเผชิญทั้งอากาศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ คลื่นความร้อน ภัยแล้ง รวมทั้งวิกฤตไฟป่า ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่นักวิทยาศาสตร์เตือน ความหลากหลายทางชีววิทยาของประเทศยังคงได้รับผลกระทบ

อุญหภูมิลดต่ำลงประกอบกับปริมาณน้ำฝนจากอิทธิพลปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ช่วยให้สภาพแวดล้อมฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้นจากรายงานสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลีย (Australia's Environment Report) ประจำปี 2021

สภาพการณ์ปรับตัวดีขึ้นตลอดทุกรัฐและมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียและรัฐแทสเมเนีย

ปี 2021 คะแนนสภาพสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียในภาพรวมอยู่ที่ 6.9 จาก 10 คะแนน เพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวจาก 3 คะแนนปี 2020 หลังจากประเทศเผชิญวิกฤตไฟป่าแบล็กซัมเมอร์ (Black Summer) ช่วงปี 2019-2020

“ปริมาณฝนตกสูงกว่าค่าเฉลี่ยกับอุณหภูมิลดลงในระดับที่ไม่พบเห็นมาแปดปีมีบทบาทตรงนี้” ศาสตราจารย์อัลเบิร์ต ฟาน ไดจ์ค (Albert van Dijk) นักอุทกวิทยา กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (17 มี.ค.)

ปัจจัยอื่น อาทิ เกิดเหตุไฟป่าน้อยครั้ง ภาวะแห้งแล้งบรรเทาลง รวมถึงปริมาณฝนตก ช่วยฟื้นฟูความสมบูรณ์ของผืนดินแตกระแหง สภาพแวดล้อมเอื้อให้พืชพรรณเจริญงอกงามกว่าที่ผ่านมา
แม้สภาพการณ์สิ่งแวดล้อมฟื้นตัวดีขึ้น ความหลากหลายทางชีววิทยา หรือความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ยังคงได้รับผลกระทบ

รัฐบาลออสเตรเลียประกาศให้สัตว์ในออสเตรเลีย 12 ชนิดพันธุ์เป็นสัตว์สูญพันธ์เมื่อปี 2021 พร้อมทั้งเพิ่มรายชื่ออีก 34 ชนิดพันธุ์ลงในรายการสัตว์ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (threatened species)

“สัตว์สองชนิดล่าสุดที่สูญพันธุ์คือค้างคาวขนาดเล็กและจิ้งเหลนชนิดหนึ่งที่พบเห็นครั้งสุดท้ายบนเกาะคริสตมาส (Christmas Island) เมื่อปี 2009-2010” คุณโชชานา แรปลีย์ (Shoshana Rapley) นักนิเวศวิทยา กล่าว

“สิ่งนี้เตือนสติว่า เราต้องจริงจังกับการอนุรักษ์สัตว์ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากกว่านี้”

รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของออสเตรเลียลดลงเกือบร้อยละ 2 สาเหตุหลักมาจากโรคระบาดโควิด-19

“ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของออสเตรเลียคิดเป็นร้อยละ 1.4 ของปริมาณรวมบนโลกเมื่อปี 2021เทียบกับร้อยละ 1.5 เมื่อปี 2020” ศาสตราจารย์ฟาน ไดจ์ค กล่าว

ปริมาณการปล่อยก๊าซต่อหัวของออสเตรเลียยังจัดอยู่ในระดับสูงสุดของโลก อันเป็นผลจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงต่อคน การใช้ถ่านหินที่ก่อมลภาวะ รวมถึงการปล่อยก๊าซชนิดอื่นนอกจากคาร์บอนไดออกไซด์
climate change
Australia is committing to net zero carbon emissions by 2050 as Glasgow prepares for the COP26 climate summit 2022. Source: AAP
นักวิจัยยังพบว่า ปี 2021 คือปีที่มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นอันดับ 6 จากสถิติของออสเตรเลีย โดยพื้นที่ตอนในของทวีปรายงานอุณหภูมิช่วงเดือนกรกฎาคมสูงสุดเป็นประวัติการณ์

“แต่มีจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2011 โดยทั่วไปปีที่แล้วจึงเรียกได้ว่าร้อนน้อยกว่า” ศาสตราจารย์ฟาน ไดจ์ค กล่าว

ปี 2021 มีการค้นพบสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่หกชนิด เช่น แมงมุม กบ และหมึกยักษ์

คุณแรปลีย์กล่าวว่า การค้นพบสัตว์ชนิดดใหม่ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพกลับมาดีขึ้น เพราะชนิดพันธุ์เหล่านี้มีอยู่มาก่อนแล้ว

ศาสตราจารย์ฟาน ไดจ์ค เตือนว่า ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า จะยังส่งผลให้สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาเสื่อมโทรมลงต่อไปอีกหลายทศวรรษจากนี้

“การดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก รวมถึงปรับปรุงการบริหารจัดการระบบนิเวศวิทยา ช่วยเลี่ยงไม่ให้ผลกระทบเหล่านี้ย่ำแย่ลงกว่าที่ควรเป็น” ศาสตราจารย์ฟาน ไดจ์ค กล่าว

“ทั้งสองอย่างนี้ไม่เกินความสามารถของเราแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องมีการดำเนินการที่จำเป็น”

รายงานสิ่งแวดล้อมประจำปีฉบับนี้จัดทำโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด

หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 17 March 2022 5:52pm
Presented by Phantida Sakulratanacharoen
Source: AAP, SBS

Share this with family and friends